“กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” ถึงศักยภาพและโอกาสของสมุนไพร รวมถึง แนวทางการส่งเสริมผลักดันจากภาครัฐ
นพ.ธงชัย กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยมีพรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ทำให้มีทิศทางดำเนินการที่ชัดเจนมากขึ้น และแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว เป็นส่วนที่ช่วยให้การขับเคลื่ออนโดยภาครัฐของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่น ต้นน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลางน้ำ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และปลายน้ำ การใช้ผลิตภัณฑ์อาจจะมีหลายส่วน รวมถึง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และระบบที่จะใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น
แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ฉบับที่ 2 มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยกำหนดวิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐาน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
"ตั้งเป้าขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว เป็น 1 แสนล้านบาทภายในปี 2570”นพ.ธงชัยกล่าว
สมุนไพรมีศักยภาพเติบโต
ภาพรวมตลาดสมุนไพร ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการขยายตัวต่อเนื่อง
- ปี 2562 มีมูลค่าราว 53,000 ล้านบาท
- ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ทำให้ตลาดลดลงเหลือราว 45,000 ล้านบาท
- แต่กลับมาอีกครั้งในปี 2565 มีมูลค่า 52,104 ล้านบาท
หากพิจารณาข้อมูลร้อยละการเติบโตของยอดขายสะสมระหว่างปี 2560-2565 ประเทศไทยยอดขายโดดเด่นเพียง 2 หมวดผลิตภัณฑ์ คือ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้เพื่อรักษา/บรรเทาอาการภูมิแพ้ หวัด ไอ ยอดขายเติบโต 9.4 %
- และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพร 8.6 %
- รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เกี่ยวกับการย่อยและระบบทางเดินอาหาร 4.3 %
- และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดพร้อมดื่ม 1.7 % ทั้งนี้ อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2560-2565 อยู่ที่ 3.4 %
ยกระดับมาตรฐานเพาะปลูก
นอกจากการวางแผนเชิงโครงสร้างแล้ว กรมในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ยังมองถึงการเดินเรื่องขับเคลื่อนต่อไปแบบไร้ช่องว่าง จึงมีการดำเนินการระดับต้นน้ำด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำ “มาตรฐานการเพาะปลูกสมุนไพร” โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากมาตรฐานเดิมของกระทรวงเกษตรฯจะเน้นไปที่ “Food Grade” การผลิตเป็นอาหาร แต่ยังไม่มีระดับการผลิตเพื่อเป็นยา
เพราะฉะนั้น กรมจะเข้าไปร่วมวางแผนและกำหนดมาตรฐานการเพาะปลูกที่เป็น “Medical Grade” เพื่อยกระดับ สร้างความมั่นใจว่ามีหน่วยงานที่ให้การรับรองภายใต้เกณฑ์มาตรฐานระดับโลก เป็นต้นทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้
โดยไม่ต้องกังวลเรื่องมาตรฐานการเพาะปลูก ซึ่งแม้ว่าผู้ประกอบการระดับอุตสาหกรรมจะดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่อยากยกระดับในส่วนของวิสาหกิจที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการให้มีมาตรฐานด้วย ซึ่งจะนำร่องที่มาตรฐานการเพาะปลูกกัญชาก่อน จากนั้นจะพิจารณาดำเนินการในพืชสมุนไพรอื่นๆในการยกระดับมาตรฐานการเพาะปลูกให้มากขึ้นด้วย
อุดช่องโหว่ลดนำเข้าสารสกัดสมุนไพร
นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า รับทราบข้อมูลจากผู้ประกอบการด้านสมุนไพรยังต้องนำเข้าสารสกัดสมุนไพรหลายตัว แม้ประเทศไทยสามารถปลูกเองได้ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการมาเข้าไปหาเกษตรกรในการที่จะเพาะปลูกสมุนไพรเพื่อผลิตสารสกัดเองนั้น ยังมีประเด็นปัญหาเรื่อง “มาตรฐานการเพาะปลูกที่เป็นออร์แกนิก”
ขณะที่มีเกษตรกรบางกลุ่มที่ได้มาตรฐานเพาะปลูกออร์แกนิก เช่น จ.ยโสธร มีพื้นที่เพาะปลูก 200-300 ไร่ ระบุว่าถ้ามีความต้องการเรื่องสมุนไพร ก็สามารถที่จะปรับมาเพาะปลูกสมุนไพรได้ จากเดิมที่ใช้พื้นที่ในการปลูกข้าวแบบออร์แกนิก
เมื่อกลับมาหารือกับผู้ประกอบการ ก็ปรากฎว่ายังมี Gap หรือช่องห่างระหว่างกันที่ต่อกันไม่ติด โดยผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจว่า จะมีผลผลิตขายให้ตลอด แม้จะการันตีราคาให้ แต่ก็เสี่ยงว่าเมื่อราคาตลาดสูง เกษตรกรก็จะไม่ขายให้ หรือถ้าราคาตลาดต่ำ จึงจะนำมาขายให้ผู้ประกอบการ
“ต้องทำให้ช่องว่างตรงนี้ต่อกันให้ติด เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรจะมีผลผลิตป้อนให้ตลอด เพื่อที่จะได้ไม่กระทบต่อห่วงโซ่ผลิตที่จะไปทำเป็นเครื่องสำอางหรือยาหรือส่งออก ซึ่งจะมีการนำไปหารือในอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ที่จะวางแผนจิ๊กซอว์เชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด ในส่วนของโรงงานสารสกัดสมุนไพรเชื่อว่าภายในไม่กี่ปีนี้ ไทยจะมีเพิ่มมากขึ้นจากการปรับจากสกัดกัญชามาเป็นสมุนไพร”นพ.ธงชัยกล่าว
ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสารสกัดสมุนไพร ปี 2559-2564
- นำเข้า 770.26 ล้านบาท
- สูงสุด 5 อันดับแรก หญ้าหวาน ขมิ้นชัน พริก ว่านหางจระเข้ กระชาย
- และส่งออก 215.143 ล้านบาท
- สูงสุด 5 อันดับแรก พริก กระชายดำ กวาวเครือ บัวบก หญ้าหวาน
ส่งเสริมเพิ่มปริมาณการใช้
ไม่เพียงเท่านี้ กรมจะดำเนินการเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยาสมุนไพรในระบบให้มากขึ้น เป็นการเพิ่มปริมาณการใช้สมุนไพร โดยในปี 2566 จะมีการขยายการใช้ในระดับการแพทย์ปฐมภูมิ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมีการใช้สมุนไพรมากกว่าส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีรพ.สต.ราว 3,000 แห่ง ที่จะถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) กรมก็จะสร้างความเข้าใจและองค์ความรู้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนและขยายแพ็คเกจการใช้สมุนไพรมากขึ้น
นอกจากนี้ กองยา กรมการแพทย์แผนไทยฯจะมีส่วนในการพัฒนาต้นแบบยาสมุนไพร พัฒนาคุณสมบัติและรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์สมุรไพรให้ดีขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้กับผู้ประกอบการ อย่างเช่น กัญชามีการพัฒนาให้เป็นทั้งในรูปแบบหยด ซอฟต์เจล เป็นเม็ด เป็นแผ่นแปะ เป็นต้น เพราะการจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาได้นั้น ผู้ประกอบการอาจต้องไปจ้างพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ถึง 10 ล้านบาท
“จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนนึกถึงสมุนไพรเมื่อเจ็บป่วยเพียง 2 % เท่านั้น และมีการตั้งเป้าว่าเพิ่มเป็น 4 %ภายใน 5 ปี แต่ถ้าจะท้าทายต้องเพิ่มเป็น 20 % โดยต้องทำให้รูปแบบและมาตรฐานมากขึ้น การใช้สมุนไพรมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะขยายผลมากขึ้น”นพ.ธงชัยกล่าว
ท้ายที่สุด นพ.ธงชัย บอกว่า สมุนไพรเป็นโอกาสของเกษตร แต่จะต้องมีช่องทางพัฒนาให้มีมูลค่ามากขึ้น โดยยกระดับมาตรฐานการเพาะปลูกให้เป็นระดับ Medical Grade หรือมาตรฐานออร์แกนิก รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งอาจจะพิจารณาเริ่มจากสมุนไพรแชมเปี้ยนที่กรมมองว่ามีศักยภาพ 15 ตัวก่อน
สมุนไพรที่มีความพร้อมตามห่วงโซ่การพัฒนาสมุนไพร 3 รายการ
- ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระชายดำ
กลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็นสมุนไพร จำนวน 12 รายการ
- กระชายขาว มะขามป้อม ไพล กวาวเครือขาว ขิง กระท่อม ว่านหางจระเข้ บัวบก มะระขี้นก กัญชง กัญชา และเพชรสังฆาต
พร้อมๆกับการเรียนรู้ตลาด ส่วนผู้ประกอบการมาร่วมกันส่งเสริมช่วยกันเรื่องการผลิตสารสกัดภายในประเทศเพื่อลดนำเข้า