จับตาโควิดสายพันธุ์ คราเคน - ออร์ธรัส หมอยงชี้อันตราย พร้อมเผยที่มาของชื่อ
จับตาโควิดสายพันธุ์ "คราเคน - ออร์ธรัส" หมอยง ชี้เป็นสายพันธุ์อันตราย หลบหลีกระบบภูมิต้านทานร่างกายได้ดี พร้อมเผยสาเหตุการตั้งชื่อของ 2 สายพันธุ์นี้
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม คราเคน (Kraken) และ ออร์ธรัส (Orthrus)
โดย หมอยง เผยว่า เชื้อไวรัสก่อโรคโควิดมีการกลายพันธุ์มาตลอด เพื่อหลบหลีกระบบภูมิต้านทานของร่างกาย จึงทำให้เป็นแล้วเป็นอีกได้ แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น
สายพันธุ์ที่เฝ้าจับตามองและถือว่าเป็น "สายพันธุ์อันตราย" เพราะหลบหลีกระบบภูมิต้านทานได้เป็นอย่างดี คือสายพันธุ์ที่มีการเรียกกันว่า "คราเคน" (Kraken) และ "ออร์ธรัส" (Orthrus)
คราเคน คือสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่พบมากในอเมริกาและยุโรปขณะนี้ หลบหลีกภูมิต้านทานได้ดี และมีโอกาสที่จะเป็นสายพันธุ์หลักต่อไปได้ มีการตั้งชื่อว่า คราเคน (Kraken) เป็นชื่อของสัตว์ทะเลประหลาดในตำนาน นิยาย ที่มีการเล่ากันมาในยุโรปกว่า 300 ปีมาแล้ว ลักษณะเหมือนปลาหมึกยักษ์ คอยจมเรือ การเรียกสายพันธุ์โควิดนี้ทำให้มองดูเข้าใจได้ว่าสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์อันตรายที่ต้องติดตาม
หมอยง เผยต่ออีกว่า ส่วน ออร์ธรัส (Orthrus) คือสัตว์ในเทพนิยายของกรีก เป็นสุนัข 2 หัว มีหางเป็นงู ลองจินตนาการดูถึงความน่ากลัวและอันตราย โควิด ออร์ธรัส คือสายพันธุ์ CH.1.1 เป็นสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะพบเพิ่มขึ้น และพบว่าหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อและวัคซีนในอดีต ในอเมริกาเองก็พบสายพันธุ์นี้ แต่ยังน้อยกว่าคราเคน
ทั้ง 2 สายพันธุ์ก็ยังจัดอยู่ในโอมิครอน ถ้าดูตามรูปจะอยู่ในลูกหลาน ของ BA.2 (https://doi.org/10.1101/2023.01.16.524244)
สายพันธุ์ทั้งสองพบได้ มีรายงานในธนาคารพันธุกรรมของโควิด GISAID ดังแสดงในรูป มีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้ระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทย โดยพบว่ามีการนำมาจากต่างประเทศ จากการศึกษางานวิจัยของศูนย์ฯ ที่ผมทำอยู่ ในเดือนธันวาคม ถึง มกราคม จำนวนมากกว่า 250 สายพันธุ์ พบว่า 75-88 เปอร์เซ็นต์ เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 พบสายพันธุ์ คราเคน 1 ราย ออร์ธรัส 4 ราย ดังแสดงในรูป
เราคงต้องเฝ้าระวังติดตาม จากข้อมูลที่มีอยู่นี้ความรุนแรงของโรคยังไม่ได้เพิ่มขึ้น อันตรายของสายพันธุ์นี้คือหลบหนีระบบภูมิต้านทานที่เรามีอยู่ และจะทำให้ติดเชื้อซ้ำได้
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan