วาเลนไทน์ 'ท้องในวัยเรียน'- 'ท้องไม่พร้อม' เรื่องนี้มีทางออก

วาเลนไทน์ 'ท้องในวัยเรียน'- 'ท้องไม่พร้อม' เรื่องนี้มีทางออก

วาเลนไทน์ มีรักต้องปลอดภัย รู้จักวิธี Safe Sex แต่หากไม่ระวัง ป้องกัน จนพลาด เกิดการตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือท้องไม่พร้อม เรื่องนี้มีทางออก ต้องรู้ตามกฎหมาย 2 ฉบับ มีสิทธิศึกษาต่อได้ และ 5 กรณีที่ยุติตั้งครรภ์ได้ไม่ผิดกฎหมาย

 วาเลนไทน์ วันแห่งความรัก แต่ก็มิอาจปฏิเสธว่า ปัจจุบันถูกสื่อออกไปในแง่ลบอยู่ไม่น้อย เช่น วันเสียตัว  นอกจากทักษะปฏิเสธหากไม่ต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์แล้ว หากมีแต่ยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ ต้องรู้จักวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัย

       กรมอนามัย แนะนำการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยโดยมีการป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  อาทิ

  • ใช้ถุงยางอนามัย
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป
  • ยาแผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด
  • ยาฉีดคุมกำเนิด
  • ยาฝังคุมกำเนิด
  • การหลั่งภายนอก จำเป็นที่วัยรุ่นชายต้องควบคุมตัวเองให้ดีและถอนอวัยวะเพศให้ออกมากหลั่งนอกช่องคลอดขณธกำลังจะถึงจุดสุดยอด วิธีนี้มีโอกาสในการตั้งครรภ์สูง จึงไม่แนะนำให้ใช้
  • การนับระยะปลอดภัย หรือ หน้า 7  หลัง 7 เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสำหรับวัยรุ่น เพราะวัยรุ่นประจำเดือนมาไม่ตรงกันทุกเดือน  ทำให้การนับระยะปลอดภัยปฏิบัติได้ยาก โอกาสพลาดสูง จึงไม่แนะนำ
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน 

    ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 
    วาเลนไทน์ เทคนิคคุยสุขภาพวัยรุ่นให้เข้าใจ
    5 กรณี"ยุติการตั้งครรภ์"ได้ถูกกฎหมาย และทางเลือกหากต้องการท้องจนคลอด

สถิติท้องไม่พร้อม-ยุติตั้งครรภ์

       ข้อมูลกรมอนามัย ปี 2564 ในกลุ่มวัยรุ่นไทยอายุ 15-19 ปี ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมจำนวน 25 ต่อ 1,000

     ขณะที่ปลายปี 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่า 6 ใน 10 ของผู้ที่ท้องไม่พร้อม จะมีการยุติการตั้งครรภ์ ในจำนวนนี้ 45% ที่มีการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

      จากข้อมูลสายด่วน 1663 ให้บริการปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในประเทศไทย พบว่าระหว่างเดือนก.ย. 2564 – ส.ค. 2565 มีผู้โทรปรึกษาและต้องการยุติการตั้งครรภ์ 30,766 คน

วาเลนไทน์ \'ท้องในวัยเรียน\'- \'ท้องไม่พร้อม\' เรื่องนี้มีทางออก
 ตั้งครรภ์ไม่ต้องออกจากการศึกษา
      หากเกิดพลาดตั้งครรภ์ในวัยเรียนหรือท้องไม่พร้อม สิ่งแรกที่ต้องหยุดคิด คือ “หมดอนาคตแล้ว ต้องออกจากการศึกษา”  เนื่องจากปัจจุบันมีพรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่คุ้มครองสิทธิและการให้การช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ  อาทิ

  • นักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ต้องได้เรียนต่อสถานศึกษาเดิมจนจบ เว้นแต่ต้องการย้ายเอง
  • จัดให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสม
  • จัดหาสถานที่สำหรับเลี้ยงดูบุตรให้ 
  • จัดหาครอบครัวทดแทนหรือรับบุตรบุญธรรม
  • จัดให้มีเงินอุดหนุนหรือสิทธิประโยชน์ตามความเหมาะสม
  • จัดให้มีการฝึกอาชีพ
  • จัดบริการดูแลสุขภาพอนามัยระหว่างตั้งครรภ์ คลอด หลังคลอด
  • จัดบริการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิดหลังคลอด

 5 กรณียุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมาย 

         สำหรับกรณีที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ มีกฎหมายอีกฉบับที่ต้องรู้ คือ มาตรา 305(5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ.2565 ซึ่งประเทศไทยมีการกำหนดเกณฑ์ให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในกรณี ดังนี้

1.การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของผู้หญิง

2.ทารกในครรภ์มีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

3.การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา

 4.การตั้งครรภ์จากบุคคลที่ไม่ใช่สามี ในกรณีหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี  

5.การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่ เพื่อทำอนาจาร สนองความใคร่     

ตั้งครรภ์
 

ช่องทางปรึกษาท้องไม่พร้อม

  • กรมอนามัย ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการให้บริการปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อม ให้ได้รับบริการทางเลือกตั้งครรภ์ต่อ หรือบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ผ่าน สายด่วนปรึกษาปัญหาเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663
  • ศูนย์พึ่งได้หรือคลินิกวัยรุ่นของรพ.รัฐที่มีบริการ
  • ห้องแชตของเว็บไซต์เลิฟแคร์สเตชั่น
  •  เฟซบุ๊กแฟนเพจ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 
  •  เฟซบุ๊กแฟนเพจ Lovecare Station

บริการป้องกันตั้งครรภ์ซ้ำ

     ทั้งนี้  หลังเข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษาทางเลือกเมื่อตั้งครรภ์ไม่พร้อมแล้ว และผู้ตั้งครรภ์มีความประสงค์ ยุติการตั้งครรภ์

         วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีทุกสิทธิ และผู้หญิงที่อายุ 20 ปีขึ้นไปทุกสิทธิ จะสามารถเข้าถึงบริการ ยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หากไปรับบริการกับหน่วยบริการเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย