เลือกซื้อ 'ถุงยางอนามัย' อย่างไร? ให้ได้มาตรฐาน ไม่ฉีกขาด ถุงไม่แตก
วันวาเลนไทน์ปีนี้ อย. แนะคู่รักป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐาน ป้องกันถุงแตก ย้ำต้องมีเลข อย. ย้ำ! ตรวจสอบวันที่ผลิต วันหมดอายุก่อนซื้อ
14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ เทศกาลวันแห่งความรัก เป็นช่วงเวลาที่ใครหลาย ๆ คน ให้ความสำคัญกับการแสดงความรักในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งคู่รักหลายคู่มีการแสดงความรักด้วยการมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงตระหนักถึงความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน หรือปัญหาการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐาน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ซึ่งสิ่งที่สามารถป้องกันได้ง่ายและเป็นพื้นฐาน คือ การใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เลือกซื้อ'ถุงยางอนามัย' ปลอดโรค ป้องกันท้อง
'ถุงยางอนามัย' จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งรายการละเอียดในการผลิตหรือนำเข้า ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 กำหนดให้มีมาตรฐานและข้อกำหนดตาม มอก. 625-2559 หรือ ISO 4074 : 2015 ซึ่งถุงยางอนามัยถือเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่นิยมใช้กันมากที่สุด
ในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น มีความบาง มีหลายสี หลายกลิ่น และหลายพื้นผิว เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้ใช้ ซึ่งถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง และโรคเริม เป็นต้น
ซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาต แจ้งวันหมดอายุ
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ประชาชนควรเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์หรือใบรับแจ้งรายการละเอียด ซึ่งรับรองจาก อย. ควรสังเกตดูวันที่ผลิต วันหมดอายุก่อนซื้อ ใช้ให้เหมาะสมกับขนาดของอวัยวะเพศ และสวมเพียงชั้นเดียวเท่านั้น เพราะการใส่ถุงยางอนามัยหลายชั้นจะทำให้เกิดการเสียดสีกันและฉีกขาดได้
นอกจากนี้ ไม่ควรใช้น้ำมันทาผิว โลชั่นหรือปิโตรเลียมเจลลี แทนสารหล่อลื่น เพราะถุงยางอนามัยจะเสื่อมประสิทธิภาพและฉีกขาดได้ง่าย รวมทั้งควรเก็บรักษาให้ถูกวิธี เพื่อคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพที่สูงสุด
ควรเก็บถุงยางอนามัยในที่แห้ง เย็น ไม่ถูกแสงแดดหรือแสงฟลูออเรสเซนต์
ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในช่องเก็บของรถยนต์ซึ่งมีอุณหภูมิสูงในตอนกลางวัน กระเป๋าใส่ธนบัตร หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะการกดทับจะทำให้ถุงยางอนามัยมีรอยรั่วหรือฉีกขาดได้