สวัสดิการที่ 'คนโสด' อยากได้ กฎหมายเปิดช่อง 'อุ้มบุญ' - sperm bank
เปิดผลสำรวจคนโสด 87 % อยากมีคู่ 64 % ต้องการมีลูก ชงรัฐออกสวัสดิการโดนใจ ลดหย่อนภาษี -แอป matching ปลอดภัยไม่มีค่าใช้จ่าย -แก้กฎหมายอุ้มบุญให้คนที่ไม่ใช่ญาติสามารถตั้งครรภ์แทน -ผู้หญิงโสดขออสุจิจาก sperm bank สำหรับการตั้งครรภ์ได้
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2566 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท ซอย 11 กรุงเทพมหานคร ดร.เจนจิรา รัตนเพียร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเด็กเกิดน้อย และสังคมสูงวัย จากอัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ที่ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากร ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย
ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมเหลือเพียง 1.16 ในปี 2564 และมีแนวโน้มจะลดลงอีก หากไม่มีมาตรการออกมาชะลอการลดลงของจำนวนการเกิด ส่งผลให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยน สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง
ประเทศไทยจึงจำเป็นจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การจัดเก็บภาษีเงินได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย รวมถึงการเตรียมการด้านงบประมาณ เพื่อดูแลสวัสดิการสำหรับประชาชนในแต่ละช่วงวัยด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อัตราเลี้ยงลูกด้วย 'นมแม่' ลด ถึงเวลา 'หญิงลาคลอด 6 เดือน'
เศรษฐกิจคน “โสด" | พสุ เดชะรินทร์
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้มีนโยบายส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างครอบครัวให้มั่นคง แต่ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ จึงได้จัดกิจกรรม Sod Smart เพื่อพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของวัยแรงงาน
การจัดกิจกรรมนี้ได้มีการรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายจากประชาชนสำหรับคน 3 กลุ่ม คือ คือ
1.กลุ่มคนโสด
- จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนโสดได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน
- จัดทำแอปพลิเคชันที่matchingได้อย่างปลอดภัย ไม่มีค่าใช้จ่าย
- ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ดูแลบุพการี
- มีสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย
- ส่งเสริมระบบการออมเพื่อการเกษียณ
2.กลุ่มที่ต้องการมีบุตร
- เสนอให้แก้กฎหมายอุ้มบุญให้คนที่ไม่ใช่ญาติสามารถตั้งครรภ์แทน
- ผู้หญิงโสดสามารถขออสุจิจาก sperm bank สำหรับการตั้งครรภ์ได้
- การสร้างทัศนคติและค่านิยมในการสร้างครอบครัว และมีบุตรในวัยอันควร
- การสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิด - 15 ปี
- เพิ่มวันลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตร แบบได้เงินเดือน 6 เดือนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- การผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์
3.กลุ่มผู้สูงอายุ
- เสนอให้จัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบไปเช้าเย็นกลับ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน
- แจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
- สร้างคอมมูนิตี้ที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในราคาไม่แพง
- การมีแอพพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ การหาคนทำความสะอาดบ้าน ช่างซ่อมแซมบ้าน ที่ปรึกษาด้านสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นต้น
นอกจากนี้กลุ่มคนโสดเสนอว่าการให้สวัสดิการผู้สูงอายุควรคำนึงถึงกลุ่มที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุด้วย - เสนอให้สิทธิการลาเพื่อพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์
- สิทธิการลาเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย
- สิทธิลดหย่อนภาษีที่มากกว่าคนทั่วไป
- การยืดหยุ่นเวลาทำงาน การให้สิทธิ WFH
- การมีที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพื่อลดความเครียด”
ข้อเสนอเหล่านี้ จะมีการเสนอให้กระทรวง ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
คนโสด 87 % อยากมีคู่
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าผลสำรวจความเห็นของคนโสดที่เข้าร่วมกิจกรรม Sod Smart ใน EP.1 พบว่า คนโสด 87 % อยากมีคู่ มีเพียง 13% เท่านั้นที่อยากอยู่เป็นโสด
เหตุผลที่ยังคงเป็นโสด คือ
- ยังไม่เจอคนที่ใช่
- ไม่มีเวลา
- ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกับเพื่อนใหม่
- มีภาระมาก การดูแลตัวเองก็ลำบากแล้ว
คนโสด 64 %ต้องการมีลูก
เมื่อสอบถามว่าอยากมีบุตรหรือไม่ พบว่า
- 64 % ต้องการมีลูก
- 13% ไม่อยากมีลูก
- 23 %ไม่แน่ใจ
คนที่ตอบอยากมีลูก เพราะอยากให้ครอบครัวสมบูรณ์รักเด็ก อยากมีคนดูแลตอนแก่ และอยากมีโอกาสสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้กับสังคม สำหรับคนที่ไม่ต้องการมีลูกระบุว่า สภาพสังคมไม่น่าอยู่ กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี และการทำงานไม่เอื้อให้มีลูกตามลำดับ
Sod Smartกิจกรรมคนโสด
การจัดกิจกรรม Sod Smart เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างครอบครัวคุณภาพ (smart family) ที่กรมอนามัยได้เปิดตัวโครงการไปในปี 2563 ภายใต้ชื่อโครงการวิวาห์สร้างชาติ เน้นกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ คนโสด คนมีคู่ คนมีคู่แต่มีบุตรยาก เพื่อให้ทุกกลุ่มมีการเตรียมความพร้อมก่อนสมรสและก่อนมีบุตร เพราะการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพจะต้องมาจากความพร้อม ความตั้งใจ และมีการวางแผนชีวิตที่ดี ทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและสุขภาพ ซึ่งควรสมบูรณ์ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
การจัดงานนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มคนโสด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวคุณภาพ และเป็นกลุ่มที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั้งทางตรงและทางอ้อม กิจกรรม Sod Smart ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการ Matching ให้กับกลุ่มคนโสด
ดังนั้น คนโสดจะมีโอกาสได้พบคู่หรือไม่ คงจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะเหตุผลของคนที่อยู่เป็นโสดมีหลายเหตุผล มีความแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 98.3 % อยากให้กรมอนามัยจัดกิจกรรม Sod Smart อีก จึงค่อนข้างชัดเจนว่า การมีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้คนโสดได้มีโอกาสรู้จักกันเป็นโครงการที่ตรงใจกับคนโสด ส่วนเรื่องการได้คู่หรือไม่ได้คู่ขอให้เป็นเรื่องของบุพเพสันนิวาส