เสี่ยงหูหนวก! เช็กระดับ'ได้ยิน'ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน 'Eartone'

เสี่ยงหูหนวก! เช็กระดับ'ได้ยิน'ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน 'Eartone'

3 มีนาคม 'วันการได้ยินโลก' แนวโน้มคนไทยมีปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบ ซึมเศร้า โรคหลงลืม สมองเสื่อม เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แนะเช็กระดับการได้ยินตัวเองได้ผ่าน 'Eartone' พบเสี่ยงรีบพบแพทย์  ระวัง!ขี้หูอุดตัน ใช้ไม้พันสำลี อาจเป็นสาเหตุ

Keypoints

  • วันที่ 3 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันการได้ยินโลก” ในประเทศไทยมีการออกบัตรประจำตัวคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 401,318 คน หรือคิดเป็น 18.64 % และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
  •  ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการได้ยิน แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย แต่สาเหตุที่เกิดได้ทุกอายุเช่น ขี้หูอุดตัน การได้ยินเสียงในระดับที่ไม่ปลอดภัย การได้รับยารักษาโรคอื่น การอักเสบติดเชื้อ
  • วิธีการดูแลสุขภาพหู และป้องกันสูญเสียการได้ยืน และสามารถตรวจระดับการได้ยินของตนเองได้ผ่านแอปพลิเคชั่น “Eartone หรือ ตรวจการได้ยิน”

     กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565)  พบว่า การออกบัตรประจำตัวคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
       มีมากเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 401,318 คน หรือคิดเป็น 18.64 % รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย  50.81%  โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากที่สุด จำนวน 295,541 คน

        “ปัญหาการได้ยินเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่เข้าสู่ภาวะผู้สูงวัยทำให้อัตราผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสูงมากขึ้น และส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน เช่น การได้ยิน การสื่อสาร การแยกตัวออกจากสังคม ซึมเศร้า โรคหลงลืม และสมองเสื่อม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้”  นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
           

สัญญาณสูญเสียการได้ยิน

     นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการรพ.ราชวิถี กล่าวว่า อาการในเบื้องต้นของผู้ที่มีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน

  • หูอื้อ
  • ไม่ได้ยินเสียง
  • ได้ยินเสียงแต่จับใจความไม่ได้
  •  ไม่สามารถพูดคุยในสถานที่มีเสียงรบกวน
  • ต้องเปิดวิทยุหรือโทรทัศน์เสียงดังมากกว่าปกติ หรือฟังโทรศัพท์ไม่ได้ยิน

 ในเด็ก ปัญหาการได้ยิน คือ จะมีอาการพูดช้า ไม่พูดตามระยะของพัฒนาการ เรียกไม่หันตามเสียง ทำให้มีปัญหาการเรียนรู้ได้ ซึ่งหากมีอาการหรือพบผู้ที่มีอาการควรรีบมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจรักษาและวัดระดับการได้ยิน

เสี่ยงหูหนวก! เช็กระดับ\'ได้ยิน\'ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน \'Eartone\'
สาเหตุปัญหาการได้ยิน

      ปัญหาการได้ยินสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมการอักเสบติดเชื้อของหู การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง ศีรษะได้รับการกระทบกระแทกรุนแรง ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ การสัมผัสเสียงดังเกินระดับปลอดภัย หรือการเสื่อมสภาพตามอายุ เป็นต้น

      นอกจากนี้  รพ.ราชวิถี ยังระบุถึงมีปัจจัยอื่นๆ ในแต่ละช่วงอายุที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อประสาทหู

ทารกในครรภ์ 

  • การติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ โดยเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินทารกแรกเกิดที่ไม่ได้เป็นจากพันธุกรรมถึง 40%
  • ภาวะพร่องออกซิเจนในช่วงคลอด
  • ภาวะตัวเหลือง สารบิลิรูบินที่ทำให้เกิดตัวเหลืองตาเหลือง มีอันตรายต่อเส้นประสาท
  • พันธุกรรม มีมากกว่า 10 อาการ และมีความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดมากกว่า 250 ยีน เช่น อาการวาร์เดนเบิร์ก (Waardenburg Syndrome)  เป็นต้น

วัยเด็กถึงวัยรุ่น

  • การอักเสบติดเชื้อหูชั้นกลาง
  • การเกิดมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการอักเสบอื่นๆ

​​​​​​​ เสี่ยงหูหนวก! เช็กระดับ\'ได้ยิน\'ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน \'Eartone\'

วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 

  • การเป็นโรคเรื้อรังประจำตัว ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง แต่มีความเสี่ยงที่จะมีการสูญเสียการได้ยินได้มากกว่าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
  • ประสาทหูเสื่อมตามอายุ พบว่ามากกว่า 65% ของผู้สูงอายุมีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งความเสื่อมนี้จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นกับสุขภาพของแต่ละคน
  • โรคหินปูนเกาะกระดูกหู

ปัจจัยที่พบได้ในทุกช่วงอายุ

  • ขี้หูอุดตัน
  • การได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนทางสมองและประสาทหู/หูชั้นใน
  • การได้ยินเสียงในระดับที่ไม่ปลอดภัย : จากการทำงาน สิ่งแวดล้อม ความบันเทิง
  • การได้รับยารักษาโรคอื่น ที่มีผลต่อประสาทหู การอักเสบติดเชื้อ เช่น เป็น งูสวัสดิ์ เอดส์ การติดเชื้อจากการรับประทานหมูดิบ

แอปพลิเคชันตรวจการได้ยิน
        ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันการได้ยินโลก” (World Hearing Day 2023)” เพื่อรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลกหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจการได้ยินของตนเอง เพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินในทุกช่วงวัยของชีวิต ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น ชื่อ “hearWHO” สามารถตรวจระดับการได้ยินด้วยตนเอง

      พญ.สมจินต์ จินดาวิจักษณ์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี  กล่าวว่า สำหรับ ประเทศไทยมีแอปพลิเคชั่นที่เป็นภาษาไทยเช่นกัน ชื่อว่า “Eartone หรือ ตรวจการได้ยิน” ประชาชนตรวจประสิทธิภาพของการได้ยินด้วยตนเองสามารถดาวน์โหลดบนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ ios และ Android โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
เสี่ยงหูหนวก! เช็กระดับ\'ได้ยิน\'ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน \'Eartone\'

วิธีดูแลหูป้องกันสูญเสียการได้ยิน

  • การฝากครรภ์ มารดามีสุขภาพที่แข็งแรง และการดูแลอย่างครบถ้วนจะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของทารกในครรภ์
  • ส่งเสริมให้ทารกกินนมแม่ ช่วยลดโอกาสการอักเสบติดเชื้อในหูชั้นกลาง
  • ปฎิบัติ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ไม่ใช้ไม้พันสำลี เศษไม้ เข็ม และไม่หยอดน้ำมัน ในช่องหูไม่ว่ายน้ำในน้ำสกปรก หรือ หยอดน้ำสกปรกในช่องหู ควรใช้ที่อุดหู เมื่ออยู่ในที่เสียงดัง และไม่ฟังเสียงที่ดังเกินไปรวมทั้งไม่ฟังในระยะเวลาที่นาน ควรรีบพบแพทย์ เมื่อมีปัญหา ด้านหู หรือการได้ยิน
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • การรับวัคซีนตามคำแนะนำในแต่ละช่วงอายุ เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมันในเด็กและผู้ใหญ่
    เสี่ยงหูหนวก! เช็กระดับ\'ได้ยิน\'ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน \'Eartone\'
    รักษาปัญหาการได้ยิน

    ความก้าวหน้าทางด้านการรักษาโรค ได้แก่ การรักษาด้วยยา การผ่าตัด ส่วนการฟื้นฟูการได้ยินในผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียการได้ยิน เช่น การใส่เครื่องช่วยฟัง การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม

        ทั้งนี้ นพ.จินดา ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ได้จัดให้มีการดูแลการได้ยินตั้งแต่ทารกแรกเกิดโดยทำการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลราชวิถีทุกราย และให้การดูแลรักษาโรคหูต่างๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัยไปจนถึงการรักษาฟื้นฟู อีกทั้ง มีบริการตรวจวัดการได้ยินด้วยเครื่องตรวจวัดระดับการได้ยินที่เป็นมาตรฐานโดยนักตรวจการได้ยินและให้บริการใส่เครื่องช่วยฟังเมื่อมีข้อบ่งชี้