'ปรัสเซียนบลู' ต้านพิษ 'ซีเซียม-137' เข้าใจให้ถูก ก่อนใช้

'ปรัสเซียนบลู' ต้านพิษ 'ซีเซียม-137' เข้าใจให้ถูก ก่อนใช้

ทำความเข้าใจ 'ปรัสเซียนบลู' ต้านพิษ 'ซีเซียม-137' ช่วยไม่ให้ร่างกายดูดซึมสารเข้าสู่กระแสโลหิต ไทยเคยมีสำรองกว่า 20 ปี ไม่ได้ใช้จนหมดอายุ  ต้องวัดปริมาณรังสีรายบุคคลก่อนกำหนดขนาดการใช้ อย.-กรมกาแรพทย์-ปส.วางระบบพร้อมนำเข้า

     เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2566 ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความจำเป็นในการสำรองยาปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ต้านพิษจากซีเซียม – 137ว่า ยาต้านพิษปรัสเซียนบลู เป็นหนึ่งในยากำพร้า ใช้สำหรับการรักษาเมื่อได้รับซีเซียม – 137 เข้าสู่ร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมสารพิษ
       ประเทศไทยมีการสำรองไว้กว่า 20 ปี ตอนนี้หมดอายุแล้ว แต่เนื่องจากเหตุการณ์ล่าสุดที่ท่อบรรจุซีเซียม – 137 หายไปจากโรงงาน จึงเป็นที่มาที่ต้องคิดว่าจะต้องมีการสำรองเอาไว้จำนวนหนึ่งแม้ว่าจะยังไม่จำเป็นต้องใช้
       “จากการคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังเตรียมการ ส่วนตัวมองว่าควรมี แต่ไม่ต้องมาก และไม่จำเป็นต้องมีด่วน ยังมีเวลาในการเตรียมตัว เบื้องต้นทราบว่ายาปรัสเซียนบลูที่เป็นเกรดสำหรับการเป็นยารักษา มีอยู่ที่ประเทศเยอรมนี” ศ.นพ.วินัยกล่าว 

มีสำรองยาโปแตสเซียมไอโอไดด์

       ขณะนี้มียาโพแตสเซียมไอโอไดด์อยู่ในจำนวนที่เพียงพอ ซึ่งส่วนของร่างกายที่ไวต่อสารพิษ หรือสารซีเซียม คือไทรอยด์  คนที่สัมผัสก็จะให้กินพปแตสเซียมไอโอไดด์ เพื่อป้องกันการเกิดโรคไทรอยด์ เหมือนกับเหตุการณ์ฟุกุชิมะระเบิด อาสาสมัครคนไทยที่ไปช่วยเหลือครั้งก็ให้รับประทานโพแตสเซียมไอโอไดด์เป็นการป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ ยาโพแตสเซียมไอโอไดด์ ยังนำมาใช้กรณีงานรังสีรักษาด้วย

           “แม้จะมียาโพแตสเซียมไอโอไดด์แล้ว ยังจำเป็นต้องสำรองปรัสเซียนบลู เพราะยา 2 ตัวนี้ มีกลไกการทำงานคนละแบบ ซึ่งยาโปแตสเซียมไอโอไดด์จะกินก่อนสัมผัส เช่น เมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงกัมมันตภาพรังสี เพื่อไม่ให้กัมมันตภาพรังสีเข้าไปทำลายอวัยวะร่างกาย ส่วนปลัสเซียนบลู จะใช้เมื่อมีการสัมผัสหรือรับสารเข้าร่างกายแล้ว เช่น รับประทานอาหารที่มีสารซีเซียมเข้าไป ก็ให้รับประทานยาปลัสเซียนบลู เพื่อช่วยไม่ให้ร่างกายดูดซึมสารเข้าสู่กระแสโลหิต”ศ.นพ.วินัยกล่าว

ต้องวัดปริมาณรังสีก่อนใช้

       ขณะที่ รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย  อาจารย์ประจำศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลไกการออกฤทธิ์หลักของปรัสเซียนบลูมีการจับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา
       ปรัสเซียนบลูมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาได้ เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้        

 "ในการดูแลรักษาในระยะที่เป็นพิษ ไม่ควรซื้อมารับประทานเองเนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้  การรักษาด้วยยานี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์เท่านั้น เพราะขนาดยาที่จะใช้ต่อวันขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีในร่างกายของแต่ละคน จึงต้องมีการตรวจวัดปริมาณรังสีในร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน"รศ.พญ.สาทริยา

ยังไม่จำเป็นต้องนำเข้าปรัสเซียนบลู
      ด้านนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. หารือกับกรมการแพทย์เรื่องการนำเข้ายาปรัสเซียนบลูแล้ว โดยมีข้อมูลการอนุญาตเดิมที่เคยนำเข้ามาแล้ว หากมีความจำเป็น อย. ก็สามารถพิจารณาเรื่องการอนุญาตได้ทันที

       นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาต้านพิษปรัสเซียนบลู ที่ใช้ต้านพิษซีเซียม-137  รพ.นพรัตน์ราชธานี ได้ร่วมกับปส.ประเมินสถานการณ์และความจำเป็นของการนำเข้ายาว่ายังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากยังไม่พบผู้ที่มีอาการป่วย อย่างไรก็ตาม ปส. มีความร่วมมือกับนานาชาติในการช่วยเหลือเรื่องนี้ หากมีความจำเป็นก็สามารถประสานหายาได้ ส่วนรพ.นพรัตน์ฯได้วางระบบการนำเข้ากับอย.ไว้แล้ว
ขยายวงตรวจสุขภาพครอบครัว

      “จากการตรวจสุขภาพคนงานในโรงหลอมเหล็กรวม 70 คนยังไม่พบผู้ที่มีอาการป่วยเข้าข่ายได้รับกัมมันตรังสีซีเซียม-137 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี(สสจ.)และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพครอบครัวคนงาน เพื่อเป็นข้อมูลด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือดขาว”นพ.ธงชัยกล่าว 
ปรัสเซียนบลูใช้มากกว่ายาต้านพิษ

     ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุข้อมูลว่า ปรัสเซียนบลูเป็นสีที่สังเคราะห์ได้ง่าย มีราคาถูก ไม่เป็นพิษ และให้สีน้ำเงินเข้ม จึงถูกใช้ประโยชน์หลากหลาย การผลิตโดยส่วนใหญ่ประมาณ 12,000 ตันต่อปี ใช้ในการผสมหมึกสีดำและสีน้ำเงินหลากชนิด รวมถึงสีที่ใช้ ในการย้อมครามแก่ผ้าขาว และสี Engineer’s blue ที่ใช้ในการผลิตพิมพ์เขียว นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์ใช้ปรัสเซียนบลู เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะทางการแพทย์ คือ ใช้เป็นยาต้านพิษไอโซโทปรังสีของซีเซียมและแทลเลียม และใช้ย้อมสีเนื้อเยื่อเพื่อดูการสะสมของธาตุเหล็ก

     การใช้ปรัสเซียนบลูต้านพิษโอโซโทปรังสีของซีเซียมและแทลเลียม ตั้งแต่คริสตทศวรรษที่ 1960 ปรัสเซียนบลูถูกใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับซีเซียม-137 แทลเลียม-201 และไอโซโทปเสถียรของแทลเลียม ในปริมาณที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เมื่อเข้าสู่ภายในร่างกาย สารเหล่านี้จะถูกขับออกโดยตับผ่านออกมายังสำไส้เล็ก และสามารถถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านลำไส้เล็กได้ ทำให้ร่างกายได้รับกัมมันตภาพรังสีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการขับสารเหล่านี้ออกโดยเร็วจึงเป็นวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยลดอันตรายจากสารกัมมันตรังสีนั้นได้ ปรัสเซียนบลูเป็นสารเคมีที่มีสมบัติช่วยขับไอโซโทปอันตรายเหล่านี้ ออกจากร่ายกายได้

      การรักษาด้วยปรัสเซียนบลู ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์  แพทย์จะให้รับประทานปรัสเซียนบลูก็ต่อเมื่อ ผู้ประสบภัยทางรังสีจะได้ประโยชน์จากการรักษาเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว การได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายเกินกว่า 10 เท่าของ ขีดจำกัดการรับนิวไคลด์กัมมันตรังสีรอบปี (annual limit on intake) มักจะต้องได้รับการรักษา

ที่มา: ​​​​​สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)