ยอดป่วย'ไข้หวัดใหญ่'แซงโควิด-19 เริ่ม1 เม.ย. กลุ่มเสี่ยงจองคิววัคซีน ฟรี
ยอดป่วย'ไข้หวัดใหญ่'แซงหน้า'โควิด-19' ปีนี้พบป่วยกว่า 30,000 ราย ขณะที่โควิด-19พบ4,000กว่าราย คาดหน้าฝนยอดพุ่งขึ้นอีก อาการอาจจะแย่ลงกว่าเก่า แนะสวมหน้ากากอนามัยและ'ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่' กลุ่มเสี่ยงจองคิว1 เม.ย. ฉีดฟรีเริ่ม 1พ.ค.นี้
Key Point :
- ตั้งแต่ต้นปี 2566 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้วกว่า 30,000 ราย คิดเป็น 10 % ของผู้ป่วยเข้ารพ.ด้วยอาการหวัด ทั้งที่เป็นหน้าแล้ง ไม่ใช่ฤดูกาลระบาดของโรคที่จะเกิดในหน้าฝน
- 3-4 ปี ที่ผ่านมา คนไม่ค่อยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จึงไม่มีภูมิคุ้มกัน ขณะที่เชื้อมีการกลายพันธุ์ไปอย่างมาก ถ้าติดอาการแย่ลงกว่าเก่า
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มี 2 แบบ ชนิด 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ ปี 2566 รัฐจัดให้ฟรีชนิด 3 สายพันธุ์ เปิดจองคิว 1 เม.ย. เริ่มฉีด 1 พ.ค.2566
ข้อมูลกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–11 มี.ค. 2566 มีรายงานผู้ป่วย 27,258 ราย อัตราป่วย 41.19 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยตาย 0.005 สาเหตุเกิดจาก เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1
ส่วนในรอบสัปดาห์ 12-18 มี.ค.2566 เพิ่มขึ้น 4,059 ราย สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.-18มี.ค.2566 จำนวน 31,317 ราย อัตราป่วย 47.33 ต่อประชากรแสน อัตราป่วยตาย 0.003 สาเหตุเกิดจาก เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1
ขณะที่ผู้ป่วยโควิด-19 สะสมตั้งแต่ 1ม.ค.-18 มี.ค.2566 จำนวน 4,563 ราย ในช่วงสัปดาห์ 12-18 มี.ค.2566 พบรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 178 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
10 จังหวัดไข้หวัดใหญ่สูงสุด
ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่
- ภาคเหนือ เท่ากับ 63.35 ต่อประชากรแสนคน
- ภาคใต้ 63.01 ต่อประชากรแสนคน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 42.28 ต่อประชากรแสนคน
- ภาคกลาง 36.80 ต่อประชากรแสนคน
จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับแรก ได้แก่
1.แพร่ อัตราป่วย 198.62 ต่อประชากรแสนคน
2.พัทลุง 168.71 ต่อประชากรแสนคน
3.อุบลราชธานี 137.42ต่อประชากรแสนคน
4.พะเยา 120.46 ต่อประชากรแสนคน
5.เชียงใหม่ 115.72ต่อประชากรแสนคน
6.ภูเก็ต 110.70 ต่อประชากรแสนคน
7. กรุงเทพมหานคร 84.22 ต่อประชากรแสนคน
8.มุกดาหาร 83.80ต่อประชากรแสนคน
9.น่าน 82.31ต่อประชากรแสนคน
10.นครศรีธรรมราช 78.84 ต่อประชากรแสนคน
สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ในไทย
ผลการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) และกลุ่มอาการ ปอดบวมจากโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์ ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ม.–18 มี.ค. 2566 ได้รับตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 2,105 ราย ผลตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 231 ราย แยกเป็น
- ชนิด A/H3N2 จำนวน 135 ราย คิดเป็น 58.44%
- ชนิด B จำนวน 70 ราย คิดเป็น30.30%
- ชนิด A/H1N1 (2009) จำนวน 26 ราย คิดเป็น 11.26 %
ส่วนในรอบสัปดาห์ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.–18 มี.ค. ได้รับตัวอย่างผู้ป่วย ส่งตรวจทั้งสิ้น 204 ราย จากโรงพยาบาลเครือข่าย 11 แห่ง พบให้ผลบวกต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 28 ราย 13.73 แยกเป็นชนิด A/H3N2 จำนวน 14 ราย คิดเป็น 50 %
- ชนิด B จำนวน 10 ราย คิดเป็น 35.71 %
- ชนิด A/H1N1 (2009) จำนวน 4 ราย คิดเป็น 14.29 %
"3-4 ปี ที่ผ่านมา คนไม่ค่อยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนไม่มีภูมิคุ้มกัน เชื้อไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ไปอย่างมาก ถ้าติดเชื้อขึ้นอาการแย่ลงกว่าเก่า การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดคือฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน" รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
ในการเสวนา “ไข้หวัดใหญ่หายไปไหนในยุคCOVID-19 และควรดูแลตัวเองอย่างไร” จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่เมื่อเร็วๆนี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนให้ความใส่ใจเรื่องโควิด-19และมีการป้องกันตัวที่ดี เช่นการ สวมหน้ากากอนามัย การระวังเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นผลพลอยได้ ทำให้ป้องกันเชื้อโรคจากทางเดินหายใจต่างๆ ได้เกือบหมด รวมถึงไข้หวัดใหญ่ แต่ป้จจุบัน มีการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมตามปกติ ทำให้คาดว่าในประเทศไทยโรคไช้หวัดใหญ่น่าจะกลับมาแพร่ระบาดอย่างแน่นอน
อุบัติการณ์ไข้หวัดใหญ่
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) หากไม่มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผู้ใหญ่จะมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 5-10% ส่วนเด็กจะอยู่ที่ 20-30% ต่อปีของประชากรทั้งหมด โดยเมื่อคำนวณจากประชากรโลกที่มีทั้งสิ้น 7,000 ล้านคน แสดงว่าผู้ใหญ่ทั่วโลกอาจจะติดไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 700 ล้านคน และจำนวนนี้จะมีอาการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาล หรือเข้ารักษาใน ICU ประมาณ 5 ล้านคน และอัตราการเสียชีวิตประมาณ 5 แสนคน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่หากสามารถให้วัคซีนกับคนทั่วโลกในทุกปีได้ อัตราต่างๆ ก็จะลดลง
ในประเทศไทย ไข้หวัดใหญ่จะมีช่วงแพร่ระบาดในฤดูฝน ช่วงเดือนพ ค.- มิ.ย. เป็นช่วงเวลาที่มีการบ่มเชื้อโรคมากที่สุด เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม เด็กออกไปทำกิจกรรมใกล้ชิดกัน และกลับมาเป็นพาหะพาเชื้อสู่ครอบครัว ติดผู้สูงอายุในบ้าน เช่น ปู่ย่า ตายาย
“ข้อมูลล่าสุดขณะนี้ พบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหวัดเข้ารับการรักษาที่รพ. 10 %เป็นไข้หวัดใหญ่ แม้จะยังเป็นช่วงหน้าแล้ง เพราะฉะนั้น อีก 2 เดือนข้างหน้าที่จะเป็นช่วงหน้าฝนและการเปิดเทอม ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะเพิ่มขึ้นกว่านี้แน่นอน”รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
2 กลุ่มหลักควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
แต่ละปีรัฐจะมีการเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1.แบบที่ภาครัฐดำเนินการจัดหาให้ประชาชนฉีดฟรีประมาณ 6 ล้านโดส สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง กลุ่มประกันสังคม และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงก่อน
2. ภาคเอกชนดำเนินการจัดซื้อเอง ประมาณ 3 ล้านโดส
รวมแล้วคนไทยจะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละประมาณ 9 ล้านคน หรือคิดเป็น 12-14% ของประชากร ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวประมาณ 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ การเตรียมวัคซีนจึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการมากขึ้น
2 กลุ่มหลักที่ควรสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน คือ
1. กลุ่มเด็กที่จะเป็นกลุ่มติดเชื้อมากและเป็นแหล่งของการแพร่กระจาย
2. กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ปอด ไต และโรคสมอง เพื่อป้องกันอันตรายถึงชีวิต
ชนิดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ศ.นพ.ธีระพงษั ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนที่ภาครัฐให้บริการโดยไม่เสียคำใช้จ่ายแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และชนิด 4 สายพันธุ์ ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สตรีตั้งครรภ์ และมีจำหน่ายโดยทั่วไปในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก
ทั้ง 2ชนิดให้ผลดี แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ วัคซีนแบบชนิด 4 สายพันธุ์มีการพัฒนาให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อไช้หวัดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจุดด้อยในร่างกาย คือ เมื่ออายุมากขึ้นการดอบสนองวัคชีนที่ใช้ทั่วไปต่ำกว่าคนอายุน้อย ดังนั้น ผู้สูงอายุหากต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรเลือกที่มีประสิทธิภาพครอบคลุม ภายได้การดูแลของแพทย์
กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่
คนที่ไม่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เมื่อติดเชื้ออาจจะมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะปอดอักเสบ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือบางรายต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก โดยเฉพาะผู้สูงอาย 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้รังเช่น โรคหัวใจหัวใจ ไตวาย โรคปอดเรื้อวัง ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันแม้ว่าอายุจะน้อยกว่า 60ปี
รวมทั้ง อาจพบการติดเชื้อรุนแรงในสตรีตั้งครรภ์ นอกจากนั้น ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ยังอาจพบมีการติดเชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสก่อโรคอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น เช่น โควิด-19 ไวรัสอาร์เอชวี และยังมีแบคที่เรียบางตัวเกาะในทางเดินหายใจ ในคอ เช่น เชื้อแบคทีเรีนิวโมคอคคัส
คนที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากฉีดวัคซีนก็จะสามารถป้องกันการเจ็บปวย หรือเสียชีวิตใด้ จากสถิติตัวเลขในประเทศไทย พบว่า ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนอายุน้อยถึงเกือบ 70 เท่า และผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เมื่อป่วยไข้หวัดใหญ่และมีปอดอักเสบ พบว่า เสียชีวิตมากกว่าคนอายุน้อยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังถึงเกือบ 30 เท่า
"ที่น่าห่วง คือ การทิ้งรอยโรคของผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรง ที่แม้เดิมจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่เมื่อหายป่วยแล้วพบว่า บางรายมักจะมีอาการทรุดลง หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า Deconditioning เช่น ช่วยเหลือตนเองได้ลดลงต้องมีผู้ดูแล หรือผู้สูงอายุที่เดิมช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้อยู่แล้วหลังป่วยหนักทำให้เกิดภาวะผู้ป่วยติดเตียง หากเป็นไปได้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่จะนำไปสู่การป่วยรุนแรง"ศ.นพ.ธีระพงษ์กล่าว
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี เริ่มฉีด 1 พ.ค.นี้
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2551 คนไทยเข้าถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐจัดให้กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนประชาชนทั่วไปสปสช.จะเป็นผู้จัดหาวัคซีน แต่กรมจะจัดให้ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้ที่ทำงานกับสัตว์ปีกเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่อาจจะมีโอกาสไปเจอกับไข้หวัดนกในคน และกลุ่มทำงานในเรือนจำ โดยในปี 2566 มีการจัดหาเพิ่มขึ้น 40 % จากปีก่อน และจะมีการขยายเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนั้ จะมีการคิกออฟฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ตั้งแต่ 1 พ.ค.2566 เป็นต้นไป
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ในการให้ประชาชนรู้สิทธิประโยชน์สร้างเสริมป้องกันโรค รวมถึง การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญด้วย โดยตั้งแต่ 1 เม.ย.2566 เป็นต้นไป เปิดให้จองฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์ ซึ่งเมื่อเข้าไปจะสามารถรู้ได้ว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่นั้น มีที่ไหนให้บริการฉีดวัคซีนฟรีบ้าง ประชาชนก็สามารถเลือกจองคิวได้หากสถานบริการมีการเปิดระบบไว้ ใช้ได้ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด
อนึ่ง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่รัฐดำเนินการฉีดฟรีให้ประชาชนนั้น จะเน้น 7 กลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก ได้แก่
1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี)
2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน
3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
6. โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้