เคลียร์ให้ชัด กรณีที่ 129 รพ. บริการผู้ป่วยบัตรทอง นอกเวลา
สปสช.แจงประกาศรายชื่อ 129 รพ. บริการบัตรทองนอกเวลา หนุนนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ ช่วยผู้ป่วย ‘กรณีฉุกเฉินไม่เร่งด่วน-เหตุสมควรอื่นที่เป็นความจำเป็น' ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ สปสช. ออกประกาศเรื่อง รายชื่อหน่วยบริการ 129 แห่งที่ให้บริการนอกเวลาราชการที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่น พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ว่า หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลทั้ง 129 แห่งนั้นเป็นหน่วยบริการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์การประเมินศักยภาพหน่วยบริการเพื่อให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ โดยโรงพยาบาลต้องจัดแยกบริการเป็น 2 ส่วน คือ
1. “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) มีการจัดห้องแยกเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางการจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
2. “ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน” เป็นบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควรและกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นผู้มีสิทธิที่ต้องเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ ซึ่งต้องมีห้องเพื่อบริการที่แยกจากห้องฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางของหน่วยบริการ ซึ่งต้องมีแพทย์ประจำเพื่อให้บริการ
สำหรับหน่วยบริการทั้ง 129 แห่ง ได้ดำเนินการตามแนวทาง “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” ซึ่งเป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2562 ที่ให้เพิ่มรายการ “กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไป ที่เป็นความจำเป็นของประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเวลาราชการ” เป็นบริการใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ฉุกเฉินเร่งด่วน และเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีมีเหตุสมควร หรือผู้เจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ มีสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาที่หน่วยบริการตามที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สปสช. จึงได้ออกประกาศฯ เรื่อง รายชื่อหน่วยบริการที่ให้บริการนอกเวลาราชการที่เป็นความจำเป็นของผู้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นมารองรับ พร้อมประกาศฯ ฉบับเพิ่มเติม ที่เป็นการขยายจำนวน เพื่อกำหนดให้การเข้ารับบริการนอกเวลาราชการที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการ ซึ่งมีห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน ถือเป็นกรณีที่มีเหตุสมควร โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์จ่ายชดเชยค่าบริการให้หน่วยบริการ ในอัตรา 150 บาทต่อครั้งบริการ
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลที่ร่วมจัดบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการดูแลที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น แต่ยังทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการ สามารถเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้ โดยมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแล จ่ายชดเชยค่าบริการ 150 บาทต่อครั้ง ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสำคัญในการลดความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการจากความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของภาวะฉุกเฉิน
“จากข้อมูลพบว่าเกือบ 60% ของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน เป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉุกเฉินจริง ประเด็นนี้เราไม่โทษประชาชน เพราะความเข้าใจของประชาชนกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไม่เหมือนกัน ประชาชนมีอาการปวดท้องปวดหัวก็รู้สึกว่าตัวเองป่วยฉุกเฉิน แต่คำว่าป่วยฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่หมายถึงการเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายถึงชีวิต พอไปคัดกรองแล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ฉุกเฉิน ก็อาจทำให้รอคิวนานเพื่อให้คนที่เจ็บป่วยรุนแรงกว่าได้รับการรักษาก่อน เกิดความไม่เข้าใจ หงุดหงิดโมโห จนกลายเป็นข้อพิพาทกัน หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ต้องมาดูแลผู้ที่ไม่ฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินตัวจริงได้รับการดูแลไม่เต็มที่” ทพ.อรรถพร กล่าว
: ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง รายชื่อหน่วยบริการที่ให้บริการนอกเวลาราชการที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่น พ.ศ. ๒๕๖๖