'โควิด-19' ปรับการให้ยาต้านไวรัส-LAAB ใน 11 กลุ่มเสี่ยง
โควิดหลังสงกรานต์ ใกล้เคียงปีก่อน เพิ่มขึ้นระลอกเล็ก พุ่งอีกรอบกลางพ.ค. วัคซีนมีกว่า 10 ล้านโดส ปรับแนวทางการให้ยาต้านไวรัส-LAABกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง 11 กลุ่ม ยาทุกตัวยังใช้ได้ผล ไม่มีการดื้อ
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2566 ในการแถลงข่าว สถานการณ์ Covid -19 สายพันธุ์ / แนวทางกาารักษา / และการให้วัคซีน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ต้นเม.ย.มีผู้ป่วยโควิด-19น้อยมาก เจอผู้ป่วยเข้ารักษารพ.หลักร้อยราย หลังสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้น ราว 2 เท่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นราว 20-30 % ของสัปดาห์ก่อนหน้า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้หญิง อายุน้อย 23 ปีและ24 ปี มีภูมิคุ้มกันต่ำ ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุดมานานกว่า 3 เดือนและอีกรายไม่ได้รับวัคซีนเลย
“คาดการณ์แนวโน้มโควิด-19ตั้งแต่ต้นปี แนวโน้มของโรคใกล้เคียงปี 2565 โดยหลังสงกรานต์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นระลอกเล็กและเพิ่มอีกครั้งช่วงฤดูฝน กลางเดือนพ.ค. และมีลักษณะการระบาดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งตัวเลขโควิดสัปดาห์ที่ผ่านใกล้เคียงที่คาดการณ์ ส่วนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ยังต้องติดและให้การดูแลผู้เข้ารับการรักษา เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงและป้องกันเสียชีวิต”นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มปรับการให้วัคซีนเป็นแบบประจำปี ประเทศไทยมีผลสำรวจภูมิคุ้มกัน พบว่า ประชากร 94 % มีภูมิคุ้มกันจากธรรมชาติ และวัคซีน จึงมีคำแนะนำ ให้รับวัคซีนห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน และให้ฉีดวัคซีนพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยใช้วัคซีนรุ่นเดิมและรุ่นใหม่ สามารถใช้เป็นเข็มกระตุ้นได้ ตอนนี้มีวัคซีนสำรองทุกชนิดมากกว่า 10 ล้านโดส
ปรับการให้ยาต้านไวรัส-LAAB
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในรพ. กรณีโรคโควิด-19 ฉบับล่าสุด วันที่ 18 เม.ย.2566 ได้มีการปรับเปลี่ยน 2 ประเด็น คือ 1.ปรับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ2.ปรับเงื่อนไขของการให้ Long-acting Antibody(LAAB) โดยกลุ่มที่มีการปรับเปลี่ยนมีกลุ่มเดียว คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน
11 กลุ่มเสี่ยงโรครุนแรง
กลุ่มทื่มีปัจจัยสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ 1.อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 2.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ 3.โรคไตเรื้อรัง 4.โรคหัวใจและหลอดเลือด 5.โรคหลอดเลือดสมอง 6.โรคมะเร็ง(ไม่รวมมะเร็งที่รักษาหายแล้ว) 7.เบาหวาน 8.ภาวะอ้วน 9.ตับแข็ง 10.ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิ) และ11.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
คำแนะนำในการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเดียวที่มีการปรับเปลี่ยน โดยให้เลือก 1 ชนิดตามลำดับ คือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์(แพ็กซ์โลวิด) หรือเรมดิซิเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ หรือLAAB โดยเริ่มพิจารณาให้ยานับจากวันที่เริ่มมีอาการ
ยาทุกตัวไม่มีการดื้อ
“ยาต้านไวรัสควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ส่วนLAAB ยังสามารถให้ได้เนื่องจากข้อมูลกรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การพบXBB.1.16ในไทยยังพบไม่มาก แต่ควรเริ่มให้เร็วที่สุดภายใน 5-7 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ 1 โดส ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง ให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นเพิ่มเติม คือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์หรือเรมเดซิเวียร์ โดยยาทุกตัวที่มียังสามารถใช้ได้ทั้งฟ้าทะลายโจร ฟาร์วิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ สเตียรอยด์ และLAAB เพราะจากการศึกษายาไม่ได้มีการดื้อยาเหล่านี้”พญ.นฤมลกล่าว