WHO เตือนเฝ้าติดตามโอไมครอนลูกผสม 3 สายพันธ์ย่อย XBB.1.5-XBB.1.16-XBB.1.9
องค์การอนามัยโลก แถลงเตือนให้ทั่วโลกเฝ้าติดตามโอไมครอนลูกผสม 3 สายพันธุ์ คือ XBB.1.5, XBB.1.16 และ XBB.1.9 อย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.)รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุ องค์การอนามัยโลก แถลงเตือนให้ทั่วโลกเฝ้าติดตามโอไมครอนลูกผสม 3 สายพันธุ์คือ XBB.1.5, XBB.1.16 และ XBB.1.9 อย่างใกล้ชิด
ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลกสำหรับโควิด-19 ได้แถลงอัปเดตเกี่ยวกับโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม โดยเน้นที่โอไมครอน 3 สายพันธุ์ลูกผสม คือ XBB.1.5, XBB.1.16 และ XBB.1.9 ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านการแพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้
ดร. เดโบราห์ เบิร์กซ์ (Deborah Birx) อดีตแพทย์ผู้ประสานงานโควิด-19 ของทำเนียบขาวในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อว่าในที่สุดแล้วโควิด-19 จะกลายพันธุ์ดื้อต่อยา “แพกซ์โลวิด (Paxlovid)” อันอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอย่างรวดเร็ว
ปรับปรุง 30/4/2566 เวลา 8:30
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
องค์การอนามัยโลก กล่าวว่าการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมีความสำคัญสูงสุดในการติดตามการแพร่กระจายของโอไมครอนตระกูล XBB เพื่อสามารถปรับมาตรการด้านสาธารณสุขในแต่ละประเทศได้ทันท่วงทีหากเกิดแพร่ระบาดอย่างฉับพลัน (Outbreak)
องค์การอนามัยโลกกล่าวต่อว่าในแต่ละสัปดาห์ยังมีผู้คนหลายล้านคนกำลังติดเชื้อ (ซ้ำ) โดยมีผู้ป่วยหลายแสนคนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และอีกหลายพันคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังคงทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสนับสนุนและแนะนำประเทศต่าง ๆ ในความพยายามที่จะต่อสู้กับโควิด-19
จากการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมในประเทศสหรัฐอเมริกาพบการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB 3 สายพันธุ์ย่อย คือ XBB.1.5, XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 คิดเป็นร้อยละ 68.8,11.7 และ 9.0 โดยพบการระบาดรวมคิดเป็นร้อยละ 89.5 ของโควิดทุกสายพันธุ์ที่ระบาดภายในประเทศ
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีได้นำรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม-29 เมษายน 2566 ที่มีการอัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก จีเสส (GISAID) จากหลายหน่วยงาน มาวิเคราะห์พบการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม ตระกูล XBB สามสายพันธุ์ย่อย คือ XBB.1.5, XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 คิดเป็นร้อยละ 23, 16 และ 19 โดยพบการระบาดรวมคิดเป็นร้อยละ 58 ของโควิดทุกสายพันธุ์ที่ระบาดภายในประเทศ
เมื่อมีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสมตระกูล XBB สามสายพันธุ์ย่อย คือ XBB.1.5, XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึง
1. วัคซีนรุ่นแรกผลิตจากไวรัสอู่ฮั่น และรุ่นที่สองผลิตจากไวรัสสองสายพันธุ์ (bivalent vaccine booster) จะด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
2. จะมีแอนติบอดีสำเร็จรูปเพียงชนิดเดียวคือ โซโทรวิแมบ (sotrovimab) ที่สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของโอไมครอน XBB.1.5, XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 ในร่างกายผู้ติดเชื้อ
3. จะมีการใช้ยาต้านไวรัส โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด (Molnupiravir & Paxlovid) เพิ่มขึ้นอันอาจส่งผลให้เกิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดื้อยาขึ้นได้ในลักษณะเช่นเดียวกับที่เกิดกับเชื้อเอชไอวีที่ดื้อต่อยาต้านไวรัสในอดีต
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม (คลิกที่นี่)
ดร. เดโบราห์ เบิร์กซ์ (Deborah Birx) อดีตแพทย์ผู้ประสานงานโควิด-19 ของทำเนียบขาวในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างเดือนมีนาคม 2020 ถึงมกราคม 2021 ดร. เบิร์กซ์ ดูแลการพัฒนานวัตกรรมที่นำมาใช้ต่อสู้กับโรคโควิด-19 การแจกจ่ายชุดตรวจ กระจายยาแอนติบอดีสำเร็จรูป ยาต้านไวรัส และวัคซีนในการต่อสู้กับโควิด-19
ดร. เบิร์กซ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในงานประชุม Brainstorm Health ที่นิตยสารฟอร์จูนเป็นผู้จัด เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 โดยท่านเชื่อว่าในที่สุดแล้วโควิด-19 จะสามารถกลายพันธุ์หลบเลี่ยงการรักษาที่มีเหลืออยู่ไม่กี่วิธี กล่าวคือจะสามารถหลบเลี่ยงการทำลายจากแอนติบอดีสำเร็จรูปและยาต้านไวรัสที่ใช้กับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือประชาชนกลุ่มเปราะบาง เธอได้กล่าวเสริมว่า “หากไวรัสโคโรนา 2019 เกิดกลายพันธุ์ดื้อต่อยา “แพกซ์โลวิด (Paxlovid)” จะทำให้มีผู้เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอย่างรวดเร็ว โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US-CDC) แจ้งว่าปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 1,000 คนต่อสัปดาห์
ดร. เบิร์กซ์ อยากให้รัฐบาลกลาง(สหรัฐ) ให้ความสำคัญกับการเร่งผลิต “วัคซีนรุ่นต่อไป (next-generation vaccine)” ที่ทนทานต่อเชื้อโควิดกลายพันธุ์มากกว่าวัคซีนในรุ่นปัจจุบัน เร่งผลิต “โมโนโคลนอลแอนติบอดีรุ่นต่อไป” โดยเฉพาะโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ได้นาน (long-acting monoclonal antibodies) และ “ยาต้านไวรัส (antiviral drugs)” หลากหลายชนิดเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ร่วมกันในลักษณะของค็อกเทล (Cocktail therapy) อันหมายถึงการใช้ยาต้านไวรัสหลายชนิดพร้อมกัน) เพื่อลดการเกิดเชื้อดื้อยาของไวรัสโควิด-19 (covid drug resistance) เหมือนกับที่เคยเกิดกับเชื้อไวรัสเอสไอวีในอดีต ที่ในช่วงแรกของการรักษาเราใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในรูปแบบของยาเดี่ยว (monotherapy)
ที่มา : ทวิตเตอร์ Maria Van Kerkhove , fortune