'หมอจบใหม่ลาออก'งานหนักชั่วโมงการทำงานมาก-อึดอัดกับระบบ-เครียด
จากกรณี ‘หมอปุยเมฆ’ หรือ ปุยเมฆ นภสร ที่ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการในโรงพยาบาลของรัฐ แห่งหนึ่ง เนื่องจากปริมาณงานในโรงพยาบาลที่มากเกินไป จนไม่ยุติธรรมสำหรับคนทำงาน และทำให้คุณภาพชีวิตนับวันยิ่งแย่ลง ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกาย และจิตใจ
Keypoint:
- 'แพทย์' เป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องและยอดนิยมของคนไทย ทว่าในปัจจุบันมีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ต้องลาออกจากงาน เพราะชั่วโมงการทำงานที่มาก ความอึดอัดในระบบการทำงาน
- ชั่วโมงการทำงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แพทย์จบใหม่ลาออก เพราะต่อให้ทางแพทยสภา มีการประกาศปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงาน ให้ชั่วโมงการทำงานแต่ในทางปฎิบัติก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
- 3 ทางออกก่อนการลาออกครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น ควรทำโครงการ และติดตามดูแลปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ ลดชั่วโมงการทำงานจริงๆ และหาวิธีจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์รับการสนับสนุนต่างๆ
การที่ 'หมอจบใหม่ลาออก' จากโรงพยาบาลต่างๆ นั้น เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่สาขาวิชาชีพ ‘แพทย์’ กำลังขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก โดยอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทย 'แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,500 คน'
ทั้งนี้ ข้อมูล สถิติแพทยสภา ณ วันที่ 4 เมษายน 2566 พบว่า มีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 72,250 คน แบ่งเป็น ชาย 39,207 คน หญิง 33,043 คน
จากข้อมูลระบุว่า แพทย์ ที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 68,725 คน แบ่งเป็นชาย 36,401 คน หญิง 32,324 คน นอกจากนี้ยังจำแนกเป็น แพทย์ที่ยังสามารถติดต่อได้จำนวน 66,685 คน เป็นชาย 34,953 คน หญิง 31,732 คน
จำนวนแพทย์ ตามที่อยู่ใน กทม. มีจำนวน 32,198 คน เป็นชาย 17,039 คน หญิง 15,159 คน และ จำนวนแพทย์ ตามที่อยู่ในต่างจังหวัด มีจำนวน 34,487 คน เป็นชาย 17,914 คน หญิง 16,573 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช็คจำนวนแพทย์ไทย ปี 66 ล่าสุด เหลือหมอกี่คน หลังเกิดกระแสหมอจบใหม่ลาออก
ประสบการณ์ 'หมอปุยเมฆ' สาเหตุยื่นใบลาออกจาก รพ.รัฐ เผยไม่แฟร์กับคนทำงาน
แพทย์ใหม่สธ.บรรจุปี59 วืดเงินเดือนข้ามปีนาน8เดือน
ตั้งเป้าผลิต "ฉุกเฉินการแพทย์" 15,000 คน รองรับอัตราการขาดแคลน
ทำไม?แพทย์จบใหม่ ถึงลาออกจากระบบ
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา เพจ 'เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล' ออกมาเผยเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของ 'หมอจบใหม่ลาออก' เจองานหนัก คุณภาพชีวิตแย่ สุดท้ายทนไม่ไหวลาออกกันระนาวกว่า 900 คน เหลือในระบบแค่ 1,800 จาก 2,700 คน โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า
“#ซีรีส์หมอจบใหม่ลาออก มีกระแสหมอจบใหม่ลาออกกันเยอะ (ทั้งก่อนเริ่มงาน และหลังใช้ทุนครบหนึ่งปี) โดยสรุป งานหนัก คุณภาพชีวิตย่ำแย่ (อยู่เวรเยอะ, ไม่ได้พักผ่อน) งานเกินหน้าที่ (งานคุณภาพ, งานบริหาร) สวัสดิการแย่ (บ้านพัก) เงินออกช้า (3 เดือนขึ้นไป) ค่าตอบแทนไม่คุ้มความเสี่ยง สตาฟ, รุ่นพี่ เอาเปรียบ คนไข้กดดัน ความคาดหวังสูง ไม่เห็นวี่แววความใส่ใจ ความเปลี่ยนแปลง"
นอกจากนั้น ไม่เฉพาะหมอ แต่รวมถึงหน้าที่อื่นๆ ใน รพ. พยาบาล, เภสัช, เทคนิคการแพทย์, กายภาพ เวลาที่หมอ หรือเจ้าหน้าที่ รพ. บ่น จะต้องมีใครสักคนที่บอกว่าทนไม่ไหวก็ลาออกไป นี่ไงลาออกไป 1/3 จากทั้งหมด - 2,700 คน ออกไป 900 คน
ทวิตเตอร์ NursesConnect ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ พยาบาลวิชาชีพ ที่คาดว่าจะมีในระหว่างปี 2560 - 2580 พบว่า ประเทศไทยผลิตพยาบาลได้ปีละ 10,000 แต่สูญเสียพยาบาลออกจากระบบปีละ 7,000 คน และพยาบาลจบใหม่ลาออกหลังจากทำงานได้ 1 ปี ถึง 48% นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพยาบาลไทยไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย
รายได้สูงไม่มีผล เมื่อชั่วโมงการทำงานของแพทย์มากจนเหนื่อย
แม้ 'แพทย์' จะเป็นอาชีพยอดนิยมของสังคมไทย และได้รับการยกย่องอย่างมาก เพราะเป็นอาชีพของคนเก่งที่ต้องมีทั้งความเมตตาและเสียสละ พร้อมใช้ความรู้ความสามารถในการ 'รักษาชีวิตของผู้คน' แต่ด้วยชั่วโมงการทำงานที่อัดแน่น รวมถึงภาวะกดดันมากมาย ความเครียดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ สภาพแวดล้อมภายในที่ทำงานไม่เอื้อ ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตัดสินใจลาออก
แพทยสภาได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 โดยใจความสำคัญระบุกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ คือ
- ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน
- ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป
ปรากฎว่ามีบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนตั้งคำถามว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้แก่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่ไม่มีการกำหนดให้กับแพทย์ใช้ทุนปีอื่นๆด้วยหรืออย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแก้ปัญหาภาระงานแพทย์ได้อย่างครอบคลุมจริงๆ
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว ไว้ว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือแพทย์อินเทิร์น 1 เนื่องจากเป็นหมอน้องใหม่ที่จบมา และต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานจริงเป็นเวลา 1 ปี โดยจะไปปฏิบัติงานกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) เพราะน้องๆที่จบมาเมื่อได้ทฤษฎีแล้ว การปฏิบัติจริงต้องมีด้วย ตรงนี้จะเป็นปีแรก ซึ่งแพทยสภา ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลโรงพยาบาลที่รับแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั่วประเทศ
วัตถุประสงค์เพื่อให้หมอได้เรียนรู้เพิ่มเติม สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของจริง และให้มีการปรับตัวเข้ากับการทำงานบริบทของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ เพราะตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แต่ตอนออกไปอาจไปอยู่สังกัดอื่้นจะได้ปรับตัวทั้งการทำงาน การแพทย์และสังคม
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า การที่แพทยสภาออกประกาศกรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะดังกล่าว เพราะว่าในอดีตเราพบว่า น้องๆหมอจบใหม่ประสบปัญหาการปรับตัวเมื่อไปทำงานปีแรก ไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือแม้กระทั่งเครียดจนทำร้ายตัวเองก็มี ซึ่งหากเราแก้ปัญหาที่เริ่มแรกจากน้องๆหมอจบใหม่ ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่ตามมาได้
อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจว่าที่ผ่านมาหลายโรงพยาบาลของไทยก็ประสบปัญหาแพทย์ขาดแคลน แต่แม้จะมีปัญหานี้ ทางแพทยสภามีการเตรียมการช่วยเหลือน้องๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และตัวน้องๆเอง เพราะหากเราทำงานหนักมากเกินไป อดหลับอดนอน ย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การตัดสินใจอาจไม่ดีเท่าคนพักผ่อนได้เต็มที่
แต่ละปีมีหน่วยงานที่ต้องการรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะถึง 3,500 ตำแหน่ง แต่เรามีเด็กจบใหม่ที่ต้องไปเรียนเพิ่มพูนทักษะถึง 2,800 คน ย่อมหมายความว่า เรามีทางเลือก หากหน่วยงานใดไม่สามารถปฏิบัติตาม และไม่มีการแก้ไข เราก็ปรับเปลี่ยนน้องไปยังรพ.อื่นๆที่มีได้อีก
"ปี2565 แพทยสภาขอให้ดำเนินการแก้ปัญหาให้น้องๆจบใหม่ก่อน ส่วนแพทย์ใช้ทุนปี 2 ปี 3 และ ปี 4 อยู่ระหว่างการหาแนวทางช่วยเหลือ และมีการจับมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ปัญหา เช่น รพ.ไหนขาดแพทย์ ก็ผลักดันให้กระทรวงเพิ่มตำแหน่งแพทย์ให้เพียงพอ ที่ผ่านมาเราก็ทำได้ มีการเพิ่มตำแหน่งมาแล้ว" เลขาธิการแพทยสภา กล่าว
สำหรับรายละเอียดประกาศแพทยสภา ลงนามโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า ด้วยปรากฎว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายใต้กำกับของสถานพยาบาลของรัฐ มีภาระงานหนักทำให้มีเวลาผักผ่อนไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
คณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 6/2565 วันที่ 9 มิ.ย.2565 ให้ออกประกาศแพทยสภา เรื่องแนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหารสถานพยาบาลภาครัฐ จัดอัตรากำลังและระบบการทำงานของแพทย์ให้สอดคล้องเหมาะสม ดังนี้
สำหรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
1. ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2. ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน
3. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป
ทั้งนี้ ทางแพทยสภาจะมีการให้คำปรึกษา รวมทั้งติดตามการนำแนวทางไปปฏิบัติ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติการเป็นสถาบันปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษาในโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะของแพทยสภาต่อไป นอกจากนี้ กรณีแพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นอไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ
แพทย์ในต่างชาติซึมเศร้า กังวล และเครียดหนัก
นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยดีกิ้น (Deakin University) ในออสเตรเลีย ได้แก่ Sara Holton, Bodil Rasmussen, Karen Wynter และ Kate Huggins ทำการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์เกือบ 3,700 คนในออสเตรเลียและเดนมาร์กครอบคลุมคนทำงานในหลากบทบาท เช่น พยาบาล ผู้ผดุงครรภ์ แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้คำปรึกษาทางจิตแพทย์
ทั้งนี้พบว่า แต่เดิม ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ก็มีระดับความเครียดสูงอยู่แล้ว เพราะลักษณะการทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน มีเวรเข้างานในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ และยังต้องรับมือกับอารมณ์ของคนไข้และครอบครัว โดยเฉพาะหากมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้น
ทว่า โรคระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้ระดับความเครียดนี้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังกระทบต่อสภาพจิตใจและชีวิตส่วนตัวของบุคลากรทางการแพทย์ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในออสเตรเลียมีจำนวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ
1 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า กังวล และเครียดหนัก เพราะกลัวว่าตนเองจะติดเชื้อในระหว่างการทำงาน แล้วทำให้ครอบครัวติดเชื้อตามไปด้วย รวมทั้งส่งผลต่อศักยภาพการดูแลผู้ติดเชื้อของสถานพยาบาลที่ตนทำงานอยู่
หลายคนยังพบปฏิกิริยาเชิงลบจากคนแปลกหน้า เวลาใส่ชุดทำงานของโรงพยาบาลในที่สาธารณะ และหลายคนเล่าว่าการใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ หรือพีพีอี (Personal Protective Equipment) ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวและภาวะขาดน้ำในร่างกาย ยิ่งทำให้เครียดไปกันใหญ่
นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ตั้งครรภ์มีความกังวลต่อสุขภาพตนและลูกในท้องอย่างมาก หลายคนพบความยากลำบากในการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลครอบครัว บางส่วนไม่สามารถช่วยลูกปรับตัวเข้ากับระบบการเรียนทางไกล
บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อโรคระบาดได้ดี และมีการดูแลสวัสดิภาพของคนทำงาน มักมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าบุคลากรที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานไม่ดี
การสำรวจสะท้อนว่าต้องมีการลงทุนในโครงการที่ดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ หรือมีช่องทางให้ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อจูงใจให้คนทำงานต่ออย่างมีความหวัง
6เรื่องที่รัฐบาลและสถานพยาบาลต้องทำก่อนแพทย์ลาออก
นักวิจัยให้ความเห็นว่า หากไม่มีการลงทุนดังกล่าวแล้ว อาจส่งผลต่อการเกิดภาวะหมดไฟ นำไปสู่ 'การลาออกครั้งใหญ่'และส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการในภาพรวม จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาล สถานพยาบาล และประชาชนหาทางออกใน 6 ประเด็น
ในส่วนของรัฐบาลและสถานพยาบาล
1. ควรทำโครงการดูแลปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ โดยต้องมีการออกแบบโครงการร่วมกันกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้โครงการมีประสิทธิผล และตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์อย่างแท้จริง
2. สร้างระบบติดตามสุขภาพจิตและสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งติดตามผลกระทบจากโรคระบาดต่อบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาว ในปัจจุบัน การติดตามมักอยู่ในรูปแบบของการสำรวจเป็นครั้งๆ ไม่ต่อเนื่อง ยังไม่มีระบบติดตามที่ครอบคลุมระยะเวลานานหลายปี
3. ควรหาวิธีจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ขอรับการสนับสนุน เมื่อตนต้องการความช่วยเหลือ แทนที่จะเก็บความเครียดไว้กับตัวเอง
ในส่วนของประชาชน สามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ให้ก้าวผ่านความยากลำบากในช่วงโรคระบาด
4. ด้วยการเข้ารับวัคซินโควิด-19 และทำตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อันจะส่งผลต่อการเพิ่มภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์
5. ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น หากต้องการรับคำปรึกษาทางการแพทย์ในเรื่องที่ไม่เร่งด่วน ควรติดต่อหมอประจำบ้านก่อน จะช่วยลดภาระงานให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องผันกำลังไปดูแลกรณีเร่งด่วนในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19
6. เข้าใจและให้ความเคารพบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งหลายคนถูกผู้ป่วยหรือครอบครัวปฏิบัติด้วยท่าทีที่รุนแรง ในห้วงเวลาวิกฤติที่ทรัพยากรทางการแพทย์มีอยู่อย่างจำกัด
อ้างอิง:theconversation , แพทยสภา