กว่าจะเป็น 'หมอ' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ 'หมอ'นั่นยากกว่า

กว่าจะเป็น 'หมอ' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ 'หมอ'นั่นยากกว่า

‘หมอ’ เป็นอาชีพใฝ่ฝันของเด็กหลายๆ คน เพราะอาชีพนี้มีความเท่ห์ ได้รับการยกย่อง ไปไหนมาไหนใครก็ยกมือไหว้ รายได้ดี ใส่ชุดกราวด์แล้วดีต่อใจสุดๆ แถมเป็นอาชีพที่ไม่มีคำว่าตกงาน หรืออดตาย แต่การจะเป็นหมออาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนฝัน

Keypoint:

  • การเรียนหมอไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าคนจะไม่สามารถทำได้ เพียงแต่มีเนื้อหาสาระที่มากทำให้เรียนหนัก ผู้เรียนต้องขยัน อดทน ปรับตัวเก่ง หมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
  • ทุกช่วงชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต เกี่ยวข้องกับการทำงานของหมอ ไม่มีอาชีพไหนที่จะเข้าใจร่างกายได้เท่าหมออีกแล้ว หมอจึงไม่ใช่แค่นำหน้าที่รักษาให้หาย แต่ยังช่วยยับยั้งป้องกันอาการป่วยไม่ให้หนักขึ้น
  • เส้นทางอาชีพหมอ เรียนจบไม่ใช่ว่าเป็นหมอได้ทันที ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ ต้องเป็นแพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด และใช้เวลา 16 ปี กว่าจะก้าวสู่อาจารย์แพทย์

ปัจจุบันถึงจะมีมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิชาชีพแพทย์มากมาย แต่เส้นทางชีวิตการเรียนก็แสนจะยาวไกล สาหัส และอดทนมากกว่าการเรียนสาขาอื่นๆ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้รวบรวมเส้นทางกว่าจะได้เป็นหมอว่าต้องเตรียมพร้อม ต้องทำอะไรบ้าง.. แล้วทำไมต่อให้เรียนหนัก ใช้เวลาเรียนมากถึง 6 ปี ทว่าขณะนี้หมอจบใหม่กลับลาออกจำนวนมาก

ก่อนจะเรียน ‘หมอ หรือเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์’ บอกได้คำเดียวว่าต้องแข่งขันสูงมาก เพราะในแต่ละปีการเปิดรับนิสิตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์นั้นไม่เกิน 3,000 คน  ขณะที่ความต้องการแพทย์นั้นสูงมากและเป็นสาขาวิชาชีพที่มีความขาดแคลนอย่างหนัก

กว่าจะเป็น \'หมอ\' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ \'หมอ\'นั่นยากกว่า

การที่เด็กคนหนึ่งจะสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ได้เรียกได้ว่าคัดสรรหัวกะทิ แบบสุดๆ  ซึ่งคนจะเรียนหมอนั้น จริงๆ แล้วอาจจะไม่ต้องจบสายวิทย์ ใช้หลักการเดียวกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ แต่ต้องมีคุณสมบัติ คะแนนตามที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย หรือ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) กำหนด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เรียนแพทย์ 7 ปี ได้ 2 ปริญญา หลักสูตรแรกประเทศไทย

แพทย์จุฬาฯ6ปีตรีควบโท รักษาคน-ออกแบบชีวิตได้

เผยอาชีพในฝันของเด็กไทยปี 61 อยากเป็น 'ครู-หมอ'

โรงเรียนแพทย์ ปรับตัวอย่างไร ในยุค โควิด-19

 

เตรียมตัวให้พร้อมเข้าเรียนหมอต้องทำอย่างไรบ้าง?

ก่อนจะไปถึงเส้นทางที่จะก้าวสู่ 'คุณหมอ'รักษาคนไข้มีใบประกอบวิชาชีพนั้น ต้องมาดูการสอบคัดเลือกเข้าเรียนคณะแพทย์ ซึ่งปัจจุบันนอกจากรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัยตามโครงการต่างๆ แล้ว สามารถสอบในรอบ 3 แอดมิชชั่นของระบบ TCAS ของทปอ. โดยจะใช้คะแนน  

TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท : 30% ซึ่งมี 3 พาร์ทใหญ่ๆ คือ

  • เชาว์ปัญญา
  • ความคิดเชื่อมโยง
  • จริยธรรมแพทย์

A-Level : 70% มีสัดส่วนดังนี้

  • วิทยาศาสตร์ (คิดคะแนนรวมของฟิสิกส์ เคมี ชีวะ)  40%
  • คณิตศาสตร์ 1 (พื้นฐาน+เพิ่มเติม)  20%
  • ภาษาอังกฤษ  20%
  • ภาษาไทย  10%
  • สังคมศึกษา  10%

(แต่ละวิชาต้องได้คะแนนขั้นต่ำ 30 คะแนน หรือ 30% จากคะแนนเต็ม)

กว่าจะเป็น \'หมอ\' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ \'หมอ\'นั่นยากกว่า

โดยผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติ

  • นักเรียนที่กำลังศึกษาชั้น ม. 6 และเทียบเท่า เด็กซิ่ว กศน. ปวช. หรือ จบ ป.ตรี
  • คณะทันตแพทยศาสตร์ รับเฉพาะแผนการเรียน วิทย์ – คณิต เท่านั้น
  • คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ รับทุกแผนการเรียน
  • ถ้าเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 1 ไม่ต้องลาออก *ยกเว้นเป็นนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในคณะที่จะสมัคร  ต้องลาออกก่อนตามวันที่กำหนดตามระเบียบการรับสมัครของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยในปีการศึกษานั้นๆ
  • กรณีเด็กซิ่วเกินปี 1 ขึ้นไป ต้องลาออกก่อนวันสมัครสอบ

อย่างไรก็ตาม การจะประกอบวิชาชีพแพทย์ได้นั้น นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว จำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญในการคัดเลือกเป็นนักศึกษาแพทย์ด้วย นั่นคือต้องไม่มีปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการประกอบวิชาชีพแพทย์

 

เมื่อสอบติดหมอแล้วต้องเรียนอะไร?

อย่างที่ทราบกันดี ว่าการเรียนคณะแพทยศาสตร์ เรียนหมอนั้น ต้องใช้ระยะเวลาการเรียนถึง 6 ปี ซึ่งแตกต่างจากคณะอื่นๆ (ยกเว้นคณะสัตวแพทยศาสตร์ เรียน 6 ปี เช่นกัน) โดยในแต่ละปีนี้จะมีการเรียนที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่ว่าสอบหมอติดแล้วจะได้เรียนสบายๆ ชิลๆ 

ปี 1 : จะเป็นการเรียนเพื่อปรับพื้นฐานฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แคลคูลัส และภาษาอังกฤษ ปีนี้เรียนชิลที่สุดในบรรดาการเรียนทั้งหมด 6 ปี แต่ก็เรียนแบบเข้มข้นสุดๆ 

ปี 2 :พรีคลีนิก เรียนเกี่ยวกับระบบร่างกาย เช่น สรีรวิทยา พันธุศาสตร์ ระบบเลือด ระบบประสาท ปีนี้ได้เจออาจารย์ใหญ่

ปี 3 :เรียนปรสิตวิทยา พยาธิ เวชศาสตร์ต่างๆ รวมถึงสิ่งที่ทำให้ร่างกายผิดปกติ

ปี 4 :ได้ไปดูแลคนไข้จริงๆที่โรงพยาบาล เป็นปีแรกที่ก้าวสู่ชั้นคลินิก โดยวอร์ดหลักๆที่จะแบ่งเป็น 4 วอร์ด ซึ่งนิสิต

นักศึกษาแพทย์จะเรียกย่อกันว่า ‘สู ศัลย์ เมด เด็ก’ นั่นคือ

‘สู’ คือ สูตินรีเวช เป็นวอร์ดเกี่ยวกับเด็ก การคลอดและการมีบุตร รวมถึงการตรวจภายใน

‘ศัลย์’  คือ ศัลยกรรม เป็นวอร์ดที่เกี่ยวกับการผ่าตัดต่างๆ 

‘เมด’ (ย่อมาจาก Medicine)  คือ อายุรกรรม โดยจะวิเคราะห์อาการและรักษาผู้ป่วยโดยใช้ยา

‘เด็ก’ คือ กุมารเวช จะเป็นวอร์ดที่เกี่ยวกับ เด็กทารกจนไปถึงเด็กวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาต่างๆ หรือปัญหาที่พบเจอได้ในวัยนั้นๆ

ปี 5 :ต่อเนื่องจากชั้นปีที่4 แต่เรียนลึกกว่าเดิม เช่น วินิจฉัย การทำคลอด และการเย็บแผล

ปี 6 :เป็นช่วง extern ต้องออกไปเป็นหมอที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด พอจบปี 6 ก็เตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพขั้นสุดท้ายทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 4 ถึงปี 6 ถือเป็นการได้ใช้ชีวิตเรียนรู้อยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ

กว่าจะเป็น \'หมอ\' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ \'หมอ\'นั่นยากกว่า

ทั้งนี้ในการเรียนคณะแพทย์นั้น จะมีการสอบใบประกอบทั้งหมด 3 ครั้งเรียกการสอบนี้ว่า National License (NL) การสอบนี้ก็จะแบ่งออกเป็น 

NL1 : จะสอบในช่วงหลังจบปี 3 

NL2 : จะสอบในช่วงของปี 5 

NL3 : จะสอบในช่วงปี 6  

ซึ่งจำเป็นต้องสอบให้ผ่านทุกตัว แต่ถ้าสอบไม่ผ่านสามารถเรียนแพทย์พร้อมกับสอบใหม่ไปด้วยในแต่ละชั้นปีได้ โดยการสอบ NL จะเป็นข้อสอบกลาง เน้นการสอบเป็นภาษาอังกฤษเป็นหลักะ ซึ่งการสอบจะเป็นข้อกากบาทและโจทย์ภาษาอังกฤษทั้งหมด

ต่อมาเมื่อสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตแล้วก็ใช่ว่าจะมีสถานะเป็นหมอได้ทันที เพราะหากต้องการประกอบอาชีพนี้ จำเป็นต้องผ่านการสอบเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ได้เสียก่อน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้ง ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน, ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก รวมถึงทักษะและหัตถการทางคลินิก

แต่การจะสมัครเพื่อสอบรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่แพทยสภาระบุไว้เช่นกัน นั่นคือ เป็นผู้ที่กำลังศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยหรือในต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง, เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่แพทยสภารับรอง หรือเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง

เส้นทางกว่าจะสบายๆ ในอาชีพแพทย์

เริ่มด้วยการเป็น 'นิสิตนักศึกษาแพทย์' ที่กำลังศึกษาในวิชาชีพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นแพทย์ มีระยะเวลาการเรียนทั้งสิ้น 6 ปี โดยนักศึกษาแพทย์ปีที่ 6 จะมีคำเรียกเฉพาะว่า 'Extern' ซึ่งคำนำหน้าจะยังไม่มี นพ.พญ. เพราะยังถือว่าเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่

เมื่อเรียนจบสอบใบประกอบวิชาชีพสำเร็จ ต้องเป็น 'แพทย์ใช้ทุน' คือ ระยะเวลาหลังการศึกษา 6 ปี โดยเป็นการใช้ทุนจำนวน 3 ปี ซึ่งแพทย์เหล่านี้จะมีคำเรียกว่า “Intern” โดยจะมีคำนำหน้าว่า นพ.พญ แล้ว

หลังจากนั้นเป็น 'แพทย์ประจำบ้าน' คือ แพทย์ที่ต่อเฉพาะทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อศึกษาเคสต่าง ๆ เป็นการเลือกศึกษาต่อเฉพาะทางในสาขาที่ตนเองสนใจ ซึ่งใช้เวลาศึกษา 3-4 ปี โดยส่วนใหญ่จะต้องอยู่ในโรงพยาบาล (เปรียบเสมือนเป็นบ้าน) จึงมีชื่อเรียกว่า 'Resident' แพทย์ประจำบ้าน นั่นเอง

กว่าจะเป็น \'หมอ\' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ \'หมอ\'นั่นยากกว่า

ต่อยอดเป็น 'แพทย์ประจำบ้านต่อยอด' แพทย์ที่เรียนต่อเฉพาะทางแบบเจาะลึกเฉพาะทาง ซึ่งจะใช้เวลาในการเรียนต่อเฉพาะทาง 2-3 ปี แล้วแต่สาขา โดยสาขาที่ต่อยอดก็อย่างเช่น อายุรศาสตร์ โดยส่วนใหญ่หมอเหล่านี้จะถูกเรียกแทนตามความชำนาญ เช่น หมอหัวใจ หมอโรคระบบทางเดินอาหาร ก็จะมีคำเรียกกันว่า 'Followship'

และก้าวสู่ 'อาจารย์แพทย์'หากต้องการเป็นอาจารย์แพทย์ต้องเรียนหมอถึง 16 ปี!! โดยเริ่มต้นจากนักศึกษาแพทย์ (6 ปี) – แพทย์ใช้ทุน (3 ปี) – แพทย์ประจำบ้าน (4 ปี) – แพทย์ประจำบ้านต่อยอด (3 ปี) แล้วถึงจะได้เป็นอาจารย์แพทย์

5 นิสัยที่ควรมีถ้าอยากเป็นหมอ

1. ขยัน

ข้อแรกสำคัญที่สุดคือ 'ขยัน' หลายๆคนอาจจะคิดว่าการ เรียนแพทย์ นั้นต้องเป็นคนเก่ง ต้องฉลาดอะไรมากมาย แต่อยากให้รู้ว่าสิ่งที่สำคัญกว่าความเก่งในการเรียนแพทย์ นั้นคือความขยัน เพราะเนื้อหาวิชาที่เรียนนั้นไม่ได้ยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้มากนัก เพียงแต่ปริมาณเนื้อหาที่ต้องเรียนนั้นมากมายมหาศาล ดังนั้น ถ้าน้องๆคนไหน อยากเป็นหมอ แล้วไม่ขยันบอกได้คำเดียวว่ายากที่จะได้เป็น 

2. ปรับตัวได้

การเรียนในแต่ละชั้นปีมีรูปแบบแตกต่างกัน วิธีการเรียนและเนื้อหาที่เรียนก็เปลี่ยน ดังนั้นถ้าใครต้องการระยะเวลาในการปรับตัวในการเรียนนานๆ เรียนหมอน่าจะลำบาก เพราะเปลี่ยนปีก็ต้องปรับตัวครั้งหนึ่ง ถ้าใช้เวลาปรับตัวนาน ก็พอดีหมด 1 ปี เลื่อนชั้นปีต้องปรับตัวใหม่ไม่ต้องเรียนหนังสือ ดังนั้นถ้าจะมาเรียนหมอต้องเป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ เข้ากับรูปแบบการเรียนใหม่ๆให้ได้อย่างรวดเร็ว แล้วจะสนุกไปกับการเรียน

3. อดทน

ต้องใช้คำว่าอดทนในการเรียนแพทย์ เพราะการเรียนแพทย์ต้องอดทนในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอดทนในปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย(ของปี 4  ปี5 และ ปี6)เพราะในการปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยนั้นจะไม่ได้เลิก 4 โมงเหมือนชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยทั่วไปแน่นอน บางครั้งอาจเลิก 6 โมง 1 ทุ่ม หรือ 2 ทุ่มก็แล้วแต่งานที่ต้องทำ

อดทนในการนอนน้อย เพราะการเรียนแพทย์จำเป็นต้องมีการอยู่เวร ทำให้ในคืนที่อยู่เวรอาจจะไม่ได้นอนหรือนอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง อดทนในการไม่ได้เที่ยวเหมือนเพื่อนๆ การเรียนแพทย์ อาจทำให้ไม่ได้มีโอกาสไปเที่ยวหลังเลิกเรียน เที่ยววันเสาร์ อาทิตย์ได้มากเหมือนเพื่อนคณะอื่นๆ เพราะการเราอาจจะต้องเรียนตั้งแต่ 7.00-18.00 หรือบางครั้งมีนัดเรียนเพิ่ม ดังนั้น อยากเรียนหมอ ต้องอดทน

4. มีความรับผิดชอบ

การเรียนหมอต้องมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนชั้นปีสูงๆ ซึ่งเป็นการเรียนกึ่งทำงานไปด้วย ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย ต่อการดูแลผู้ป่วย เพราะความรับผิดชอบของหมอตัดสินชีวิตของผู้ป่วย

5. เรียนรู้อยู่เสมอ

การเรียนหมอแตกต่างจากคณะอื่นตรงที่เนื้อหาวิชาที่เรียนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ซึ่งทุกวันนี้พัฒนาไปรวดเร็วมาก ส่งผลให้องค์ความรู้ ข้อมูลต่างๆทางการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่สม่ำเสมอ ดังนั้น การเรียนหมอจึงไม่ใช่ว่าเรียน 6 ปีแล้วใช้ความรู้นั้นประกอบอาชีพไปได้ตลอดชีวิต แต่ต้องหมั่นอ่านข้อมูลทางการแพทย์ใหม่ๆอยู่สม่ำเสมอ เข้าร่วมฟังสัมมนาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ เรียกได้ว่าการเรียนแพทย์นั้น คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

กว่าจะเป็น \'หมอ\' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ \'หมอ\'นั่นยากกว่า

เช็กข้อดี- ข้อเสียของการเรียน...ก่อนจะเป็นหมอ

ความสำคัญของอาชีพ 'หมอ' ไม่ใช่ความเก่ง หรือความฉลาด เพราะทุกอาชีพสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นคนฉลาดได้หมด แต่สิ่งที่อาชีพหมอยังสำคัญต่อสังคม คือ ทุกช่วงชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต เกี่ยวข้องกับการทำงานของหมอทั้งหมด ไม่มีอาชีพไหนที่จะเข้าใจร่างกายได้เท่าหมออีกแล้ว หมอไม่ใช่แค่นำหน้าที่รักษาให้หาย แต่ยังช่วยยับยั้งป้องกันอาการป่วยไม่ให้หนักขึ้น เป็นอาชีพที่ต้องรักษาชีวิตคนอื่นไว้แทบทุกวัน

อาชีพนี้ต้องเสียสละสิ่งต่าง ๆ มากมาย คนที่จะเรียนและทำอาชีพนี้ได้ ต้องมีความพร้อมและรู้ข้อดี - ข้อเสีย ให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ

คุณสมบัติที่ต้องมีของคนเรียนหมอ

1. มีทักษะความรู้พื้นฐานที่พร้อมในการเรียนหมอ

2. ต้องมีความรับผิดชอบสูง

3. ละเอียดรอบคอบและช่างสังเกต

4. รู้จักการจัดสรรเวลาที่ดีให้กับตัวเอง

5. ต้องมีความขยัน - อดทน

6. สามารถรับแรงกดดันได้ดี

7. สุขภาพร่างกายสมบูรณ์

8. ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา

9. ไม่กลัวเลือด

10. มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อพร้อมต่อการดูแลคนอื่น

11. ต้องมีคุณธรรมที่ดี

12. พร้อมที่จะเสียสละเวลาส่วนตัวได้

13. มีคะแนนสอบที่อยู่ในเกณฑ์คุณสมบัติกำหนดไว้

กว่าจะเป็น \'หมอ\' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ \'หมอ\'นั่นยากกว่า

 ข้อดีของการเรียนหมอ

1. ได้ศึกษาความรู้อยู่ตลอดเวลา

2. เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง

3. รายได้ค่อนข้างดี

4. เรียนจบแล้วโอกาสตกงานน้อย

5. ได้ช่วยเหลือคนอื่น

6. ได้ทำงานพร้อมกับทำบุญไปด้วยในตัว

7. คนที่ชอบความท้าทาย จะได้เจอกับความท้าทายแน่นอน

 ข้อเสียของการเรียนหมอ

1. เรียนหนักมาก

2. แรงกดดันในการเรียนสูง

3. เสี่ยงต่อการเกิดความเครียดในการเรียนได้ง่าย

4. ใช้เวลาเรียนนานกว่าคณะอื่น

5. เสียเวลาส่วนตัวไปกับการเรียนและการทำงาน

6. ค่าเทอมแพง

7. เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องในการรักษาที่ผิดพลาด

อ้างอิง: แพทยสภา , ทรูปลูกปัญญา , mytcas