'ระบบสุขภาพดิจิทัล'-'เอไอ' หนึ่งทางออกยกระดับระบบสาธารณสุข

'ระบบสุขภาพดิจิทัล'-'เอไอ' หนึ่งทางออกยกระดับระบบสาธารณสุข

‘ระบบสุขภาพดิจิทัล’ น่าจะเป็นคำตอบการพัฒนาระบบสาธารณสุข ช่วยให้คนไข้เข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว รพ.สธ.เริ่มพัฒนาเรื่องนี้ตั้งแต่ปี  2561 รวมถึงการนำเอไอมาใช้คัดกรองและวินิจฉัยโรค หลายแห่งมีการใช้แล้ว

     นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า รพ.สังกัดสธ.มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการมานานหลายปีและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำทั้งเรื่องการปรับระบบ  บุลคลากรทำงานที่ปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงมีประสบการณ์เรื่องดิจิทัลและมีประสบการณ์ช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19มีการใช้ดิจิทัลมาก ทำให้คนของกระทรวงสาธารณสุขดีมากขึ้น ซึ่งรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปจะมีระบบดิจิทัลมากทั้งการให้บริการคนไข้ การเก็บข้อมูล และช่วยระบบบริการจัดการ โดยเรื่องดิจิทัลเฮลธ์เป็นนโยบายสำคัญที่จะดำเนินการในมิติการส่งเสริมป้องกันและการดูแลรักษา
 เทเลเมดิซีนเข้าถึงได้มากขึ้น
           สำหรับเรื่องเทเลเมดิซีนได้มีการมอบนโยบายให้รพ.แต่ละแห่งตั้งานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเฮลธ์ เช่น เทเลเมดิซีนที่เดิมใช้ในการให้บริการผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันพบว่า กลายเป็นคนที่อยู่ในเมืองเข้าถึงบริการได้ลำบาก การมีเทเลเมดิซีนจึงช่วยได้เป็นอย่างมาก เพราะคนไข้ที่การเดินทางมารพ.ลำบาก บ้างครั้งไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังรพ.สามารถใช้ระบบเทเลเมดิซีน ซึ่งโดยรวมมี 2 แบบ คือ 1.ผู้ที่อยู่ห่างไกล และ2.ผู้ที่อยู่ในเมืองเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องเทเลเมดิซีน การดูแลรักษา การนัดหมาย  การส่งอุปกรณ์และการเก็บข้อมูลมีการเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น

\'ระบบสุขภาพดิจิทัล\'-\'เอไอ\' หนึ่งทางออกยกระดับระบบสาธารณสุข

หนีไม่พ้นเอไอทางการแพทย์

     การนำเอไอมาใช้ในบริการมีการดำเนินการอยู่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องการวินิจฉัย เช่น เอ็กซเรย์ปอด การคัดกรองตา และคงมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเอไอเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ เพราะว่าในระเบียบ กฎหมายต่างๆยังตามไม่ทัน  โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ เช่น แพทยสภา ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของสธ. แต่มีการทำความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าจะหนีไม่พ้นในการนำเอไอมาใช้ในวงการแพทย์ เพราะเป็นกระแสโลก  ทำให้การเข้าถึงบริการของประชาชนสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 
      “การนำเอไอและระบบดิจิทัล มาใช้มีข้อดีคือทำให้การรับบริการรวดเร็ว ในระยะยาวจะประหยัดค่าใช้จ่ายและความแม่นยำมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผลกระทบก็อาจจะมีบ้าง อย่างเช่น บางสาขาวิชาชีพอาจจะต้องลดน้อยลง เพราะเอไอทำงานได้แม่นยำมากขึ้น รวมทั้ง  เอไอที่เป็นเครื่องกล บางกรณีแฮนด์เมดก็ดีกว่าโรงงาน จึงจะต้องสร้างสมดุลทั้ง 2 ส่วน ซึ่งสธ.ก็กำลังดำเนินการให้มีการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยยึดการเกิดประโยชน์กับประชาชนเป็นสำคัญ ประหยัดค่าใช้จ่ายรัฐบาลและไม่เกิดปัญหาเรื่องของบุคลากร”นพ.โอภาสกล่าว

     เอไอ เอ็กซเรย์ปอด

     การใช้เอไอและระบบดิจิทัลในรพ.สังกัดสธ. ไม่จำกัดอยู่เฉพาะรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปเท่านั้น แต่จะระดับรพ.ชุมชนด้วย หากส่วนไหนที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ เพราะจะมีส่วนช่วยให้คนไข้ได้รับบริการสะดวเร็วขึ้น และมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้มาก อย่างเช่น การใช้เอไอกับการเอ็กซเรย์ปอด จากเดิมรังสีแพทย์ต้องมาดูใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อมีเอไอ ช่วยชี้ตำแหน่งที่อาจจะผิดปกติให้ได้ ก่อนที่แพทย์จะพิจารณาซ้ำและรับรองผลการอ่าน

\'ระบบสุขภาพดิจิทัล\'-\'เอไอ\' หนึ่งทางออกยกระดับระบบสาธารณสุข

เอไอคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา

     รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ ได้นำAI มาใช้อ่านภาพจอตาเพื่อคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา ซึ่งมีความแม่นยำสูง มีความไว(sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ในการค้นพบผู้ป่วยเบาหวานเข้าจอตา โดยหน่วยคัดกรองจะถ่ายภาพจอตาของผู้ป่วยเบาหวานในเขตที่รับผิดชอบ และส่งภาพผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อรับการอ่านด้วย AI ใน Cloud Serverและผลการอ่านจะถูกส่งกลับทันที ใช้เวลาเพียงประมาณ 5 นาทีเท่านั้น หลังทราบผลการคัดกรองผู้ป่วยจะได้รับการนัดหมายให้มารับการรักษาในครั้งต่อไป หรือส่งต่อหาจักนุแพทย์ ตามความรุนแรงของเบาหวานเข้าจอตาที่ตรวจพบจากการคัดกรอง ปัจจุบันมีการขยายผลใช้ในหน่วยบริการสังกัดสธ.หลายแห่ง 
 ระบบดิจิทัลจัดการเตียง ICU  

          ตัวอย่างระบบดิจิทัลที่รพ.สังกัดสธ.นำมาใช้ อย่างเช่นที่รพ.หาดใหญ่  นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา  กล่าวว่า ที่ผ่านมา โรงพยาบาลหาดใหญ่ประสบปัญหาเตียงผู้ป่วยหนักเต็ม ขาดระบบจัดสรรเตียงเข้า-ออก ขั้นตอนซับซ้อน ขาดข้อมูลความต้องการเตียงที่แม่นยำ จึงได้พัฒนาระบบจองเตียงผู้ป่วยหนัก “ICU without walls” ที่เป็นการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยหนักในภาพรวมทั้งโรงพยาบาล มีการเชื่อมฐานข้อมูลกับระบบ Thai refer ทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ สามารถจองได้ตั้งแต่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน
           และยังเชื่อมต่อกับ Rapid Response Alert3 (RRA) ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงกดจองเตียงได้ทันที สามารถติดตามสถานะการจอง ส่งต่อข้อมูลจ่ายเตียงแบบ Real time พร้อมระบบประเมินความรุนแรงเพื่อจัดลำดับในการเข้า ICU ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิต ลดภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ ยังสามารถพยากรณ์โรคผู้ป่วยใน ICU จากฐานข้อมูลให้แพทย์ใช้ในการรักษาและการบริหารเตียง ซึ่งผลการดำเนินงาน พบว่า จัดสรรเตียงได้ดีขึ้น ผู้ป่วยหนักเข้าถึง ICU มากขึ้นจาก 88 % เป็น 98 % สามารถขยายผลใช้งานได้ทั้งจังหวัด

\'ระบบสุขภาพดิจิทัล\'-\'เอไอ\' หนึ่งทางออกยกระดับระบบสาธารณสุข

            นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยี Digital Transformation มาใช้ในการพัฒนาระบบขนส่งกลางทางการแพทย์แบบรวมศูนย์ บริหารจัดการด้วยโปรแกรมขนส่ง ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การขนส่งอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ น้ำเกลือ ช่วยลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความรวดเร็ว ถูกต้อง ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น APSIC (จ่ายกลาง) AST2017 (มาตรฐานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย USA) เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาในงานอื่นๆ  อาทิ การส่งต่อผู้ป่วย การจัดการขยะ โดยขณะนี้เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ อาทิ รพ.ราชบุรี รพ.ปัตตานี รพ.พัทลุง รพ.สงขลา และหน่วยงานภายนอก

          ทั้งนี้ โรงพยาบาลหาดใหญ่ ยังมีการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในด้านอื่น ๆ เช่น จัดระบบ Fast – track ในกลุ่มโรคสำคัญ ศูนย์สั่งการทางไกลรถพยาบาล ระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน ศูนย์การแพทย์ทางไกล Telemedicine รับยาที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น หรือจัดส่งยาทางไปรษณีย์ DRIVE THRU รับยานอกเวลา บริการเจาะเลือดนอกสถานที่ ซึ่งล่าสุดได้เปิดสถานีสุขภาพบริการเจาะเลือด ตรวจสุขภาพ แผนไทย และบริการปฐมภูมิที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลหาดใหญ่ รวมถึงมีแผนการก่อสร้างอาคารตรวจวินิจฉัยมะเร็ง ที่พักผู้ป่วยและญาติ และศูนย์มะเร็งรพ.หาดใหญ่-นาหม่อม เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ ตามวิสัยทัศน์ “โรงพยาบาลชั้นนำที่มีคุณภาพเป็นเลิศ เพื่อท้องถิ่นภาคใต้