เปิดหมด..ปม 'หมอลาออก' ชี้ทางออกก่อนจะถึงทางตันไร้แพทย์
ความฝันเด็กตอนเข้ามาเรียนแพทย์ เชื่อว่าทุกคนเรียนแพทย์ด้วยความรู้สึกอยากช่วยคน ซึ่งหัวใจของอาชีพนี้ไม่ได้เปลี่ยน แต่จะทำอย่างไรให้การช่วยเหลือคนไม่ได้ถูกบังคับด้วยคำว่าเสียสละ ถึงเวลาแล้วที่บุคลากรทางการแพทย์ รวมตัวเรียกร้องในการบริหารที่ดีขึ้น
Keypoint:
- สาเหตุหมอลาออกเกิดภาระงานมาก ค่าตอบแทนต่ำ สวัสดิการแย่ ระบบรพ.ทำให้อึดอัด งานเอกสารมาก โดยแพทย์ส่วนใหญ่ทำงาน 16-23 ชั่วโมงต่อวัน ค่าตอบแทนต่ำ 14 ปี กว่าจะได้เพิ่มมา 8%
- โครงการเพิ่มพูนทักษะแพทย์ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทย์มีภาระเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ระบบการกระจายแพทย์ไปกระจุกอยู่ในรพ.ขนาดใหญ่ โรงพยาบาลต่างจังหวัดแพทย์น้อย
- ควรสร้างระบบ report กำหนดชั่วโมงการทำงานที่ชัดเจน ควรมีระบบส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วย ปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสม ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ
เส้นทางอาชีพแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตั้งแต่ระบบการคัดเลือกเข้าเรียนแพทย์ที่การแข่งขันสูงมาก แถมเมื่อสอบติดแล้วต้องใช้เวลาศึกษานาน 6ปี พอเรียนจบก็ใช่ว่าจะได้เป็นแพทย์ทันที ต้องผ่านการสอบเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ก่อนจะเข้าสู่การเป็น 'แพทย์ใช้ทุน' 3 ปี ซึ่งแพทย์เหล่านี้จะมีคำเรียกว่า 'แพทย์อินเทิร์น (Intern)' โดยจะมีคำนำหน้าว่า นพ. หรือ พญ.แล้ว กลับพบว่าแพทย์จำนวนไม่น้อยลาออกจากวิชาชีพของตนเอง เพราะไม่สามารถทนกับระบบ สู้กับภาระงานที่หนักหนาสาหัสได้
บางคนควงกะ-ลากเวร ถึง 23 เวรต่อเดือน หรือ แต่ละวันทำงาน 16-23 ชั่วโมง ซึ่งเกิน 100-140 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บวกกับสวัสดิการ ค่าตอบแทนที่บวกลบคูณหาแล้ว 14 ปี พึ่งได้เพิ่มมา 8% จากเดิมค่าตอบแทนนอกเวลาถ้าเป็นแพทย์เวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินจะได้ 1,000บาท ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 1,200 บาท ต่อ 8 ชั่วโมง ขณะที่แพทย์เวรใน ประจำหน่วยบริการหรือรอให้คำปรึกษาต่างๆ จากเดิมได้ 500 บาท ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 600 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กว่าจะเป็น 'หมอ' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ 'หมอ'นั่นยากกว่า
'หมอจบใหม่ลาออก'งานหนักชั่วโมงการทำงานมาก-อึดอัดกับระบบ-เครียด
เจาะปัญหา 'หมอลาออก' เผยช่วงที่ทรมานที่สุดในชีวิตการเป็นแพทย์
แพทย์ทำงานหนักบางคนเกิน 30 ชม.ต่อวัน
พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนสหภาพผู้ปฏิบัติงาน เล่าว่าจริงๆ แล้วปัญหาแพทย์และบุคลากรแพทย์ลาออกนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมามากกว่าที่ตนทำงานแพทย์เสียอีก ซึ่งปัจจุบันตนอายุ 29 ปี เป็นแพทย์มาแล้ว 5ปี และแต่ละปีจะได้รับข้อมูล หรือข่าวการลาออกของแพทย์มาตลอด เพราะด้วยระบบของการเกลี่ยคน ภาระงานที่มากเกินกว่าที่คนๆ หนึ่งจะรับได้ แพทย์บางคนต้องทำงานเกิน 30 ชั่วโมงซึ่งเท่ากับคนๆ หนึ่งที่ดื่มเหล้าแล้วมึนเมามาก และต้องมาตรวจคนไข้แล้วจะเป็นเช่นใด
ขณะที่ค่าตอบแทนน้อยมาก เพราะต่อให้บอกว่าแพทย์ได้เงิน 50,000 กว่าบาท แต่เมื่อดูภาระงาน แพทย์บางคนทำงาน เกิน 30 ชั่วโมงต่อวัน บางคนควงกะ ลากเวร เพราะไม่มีคนแทน และสวัสดิการ หอพัก ไม่ได้ดูแลแพทย์อย่างเต็มที่ คุณภาพชีวิตของแพทย์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้สวยหรู ดูดีอย่างที่สังคมมอง
ทั้งนี้ อดีตการเรียนแพทย์ เมื่อเรียนจบจะได้เป็นแพทย์ทันที แต่ช่วงแรกของการผลิตแพทย์พบว่าแพทย์จำนวนไม่น้อยไปทำงานต่างประเทศ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้ประกาศให้แพทย์จบใหม่ต้องทำงานใช้ทุนใน 3 ปีแรก ต่อมาทั้งแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ประจำบ้านมีทักษะในการทำหัตถการน้อยลง จึงเกิดเป็นโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ โดยจากการเป็นแพทย์ใช้ทุน 3 ปี ในปีแรกจะต้องเข้าร่วมโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ และ 2 ปีที่เหลือเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลของรัฐต่างๆ
แพทย์เพิ่มพูนทักษะกลายเป็นเพิ่มภาระแพทย์
“หลักการให้เป็นแพทย์ใช้ทุน 3 ปี หรือมีโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาคือ ในทางปฎิบัติ กลายเป็นว่าแพทย์อินเทิร์น ต้องฝึกหัตถการในโครงการ ต้องเรียนรู้เฉพาะทาง ภาระงานในโรงพยาบาลก็มาก และการกระจาย เกลี่ยแพทย์ในแต่ละที่แตกต่างกัน ทำให้แพทย์บางโรงพยาบาลต้องเข้าเวรมากขึ้น แถมตอนนี้ผู้ป่วยนอกมากขึ้น ขณะเดียวกันความเสี่ยงในการปฎิบัติงานของแพทย์แตกต่างจากเดิม ตอนนี้ตรวจช้ามีแรงกดดันจากสังคม จากโซเซียลมีเดียค่อนข้างมาก ซึ่งเข้าใจว่าไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย เพราะบางคนมารอนานมากจริงๆ แต่เป็นที่ระบบการบริหารจัดการ” พญ.ชุตินาถ กล่าว
รวมทั้ง ในเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ หอพัก การเข้าเวร ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น พญ.ชุตินาถ อธิบายต่อว่าค่าตอบแทนของแพทย์ อย่าง ค่าตอบแทนนอกเวลา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลา 14 ปี และพึ่งมาเปลี่ยนแปลงเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มจากเดิมมา100 บาท หรือมากกว่า 100 เพียงเล็กน้อยในขณะที่การทำงานมีภาระงานเยอะมาก ทั้งภาระงานด้านการดูแลผู้ป่วย และการทำเอกสารต่างๆ ตอนนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งพยายามปรับตัว จัดสรรงบในการดูแลเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่แพทย์แต่ก็ได้ไม่มาก เนื่องจากโรงพยาบาลเองก็มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
เชื่อจำนวนแพทย์ลาออกมากกว่าที่สธ.แจ้ง
พญ.ชุตินาถ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลใหญ่ในเมืองหลวงอาจไม่ประสบปัญหาเรื่องค่าตอบแทนแพทย์ แต่แพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดกลับประสบปัญหาอย่างมาก ซึ่งตัวเลขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า มีแพทย์ลาออกปีละ 500 คนจากแพทย์ที่จบใหม่ 2,000 กว่าคน หลายคนอาจจะมองว่าเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ 500 คน นั้นนับรวมแพทย์ใช้ทุนทั้ง 3 ปี และระบุแพทย์ใช้ทุนปี 1 ออกเพียง 100 คน ไม่แน่ชัดว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขจริงๆ หรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบในแต่ละปี แพทย์ลาออกจำนวนมากเช่นเดียวกับพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อย่าง พยาบาลเข้ามาในระบบ 10,000 กว่าคน แต่ตอนนี้ลาออกไปแล้ว 7,000 คน เหลือในระบบโรงพยาบาลของรัฐเพียง 3,000 คน เป็นต้น
“ปัญหาแพทย์ลาออก ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นแพทย์จบใหม่ หรือเป็นเพราะแพทย์ไม่อดทน ตอนนี้ภาระงานของแพทย์ ทั้งการตรวจคนไข้ ตรวจเอกสาร หรือระบบการกระจายงานที่ไม่เหมาะสม แพทย์เฉพาะทางน้อยลง บางจังหวัดพบว่ามีแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมประสาทเพียงคนเดียวทั้งจังหวัด แพทย์คนนี้ก็ต้องอยู่เวรต่อเนื่อง 15 เวร ต่อสัปดาห์ และหลายโรงพยาบาล แพทย์ไม่เพียงพอจริงๆ แพทย์ต้องดูแลทุกแผนกของผู้ป่วย การที่แพทย์ลาออก จึงไม่เกี่ยวกับการอดทน หรือไม่” พญ.ชุตินาถ กล่าว
ทางแก้แพทย์ลาออกที่ระบบมองข้าม
พญ.ชุตินาถ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาแพทย์ลาออกต้องไปดูว่า Pain Point คืออะไร เพราะนอกจากเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ภาระงานที่มากแล้ว บางโรงพยาบาลยังเป็นเรื่องของระบบ เช่น อาจารย์แพทย์บางคนออกไปดูแลผู้ป่วยในคลินิกของตัวเองจนไม่ได้มาตรวจผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือ ระบบการทำเอกสารมากมายที่แพทย์ต้องทำ รุ่นพี่ให้รุ่นน้องเข้าเวรแทน ดังนั้น ควรจะมีการสร้างระบบ report รายงานหรือลงบันทึกว่าแพทย์แต่ละคนทำอะไร มีงานมากน้อยขนาดไหน ไม่ใช่กลายเป็นแพทย์ผู้น้อยค่าตอบแทนน้อยต้องเป็นผู้รับภาระงานทั้งหมด จะไปรายงานหรือแจ้งใครก็ไม่ได้ เพราะจะกลับมาถูกเล่นงาน คนทำงานมากก็ทำต่อไปส่วนคนที่ทำงานน้อยก็ไม่ต้องทำงาน ควรมีการคำนวณชั่วโมงการทำงานใหม่
“แต่ละโรงพยาบาลต้องกำหนดให้ได้ว่าควรมีแพทย์กี่คน ระบบการกระจายแพทย์ต้องเป็นธรรม ภาระงานเอกสารที่แพทย์ไม่จำเป็นต้องทำควรกระจายไปให้หน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้แพทย์ได้กลับมาตรวจคนไข้ และห้องฉุกเฉินควรรับเฉพาะคนไข้ฉุกเฉินจริงๆ ควรมีระบบส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องค่าตอบแทน ควรปรับให้เท่ากับเงินเฟ้อ คุ้มค่ากับภาระงาน และพิจารณาจากความสามารถ สวัสดิการต่างๆ รวมถึงหอพัก ควรจะดูแลแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้ดี เพื่อที่จะได้มีแพทย์รักษาผู้ป่วยต่อไป”พญ.ชุตินาถ กล่าว
เร่งปรับโครงสร้าง ดันเป็นวาระแห่งชาติ
'อาชีพแพทย์' เป็นอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในแบบของตัวเองเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ไม่ได้อยู่เหนือหรือมีอภิสิทธิมากกว่าอาชีพอื่นๆ ตอนนี้แพทย์ได้รับภาวะกดดันมากมาย ชั่วโมงการทำงานที่ไม่เหมาะสม แพทย์ไม่สามารถเข้างาน 8 โมงเช้าและ 5 โมงเย็นตอกบัตรเลิกงานได้ แพทย์บางคนต้องทำงาน 24 ชั่วโมง หรือบางคนทำงานมากกว่า 24 ชั่วโมงไม่ได้พัก การที่แพทย์ทำงานตลอดเวลาย่อมกระทบต่อสุขภาพของแพทย์เองและผู้ป่วย
พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่าชั่วโมงการทำงานมีปัญหา ค่าตอบแทนก็มีปัญหา แม้อาชีพแพทย์เหมือนกันแต่ค่าตอบแทนต่างกันมากระหว่างแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐเอง ทั้งที่แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐบางคนทำงานเกิน 400 ชั่วโมง และไม่มีโอที ขณะที่การขึ้นค่าตอบแทน 14 ปี ขึ้นมา 8 % ภาครัฐเองมองว่าสิ่งเหล่านี้เพียงพอแล้วทั้งที่ไม่พอ เราอยากสร้างมาตรฐานเรื่องค่าตอบแทนกับภาระงานที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย และการบริการของผู้ป่วย รวมถึงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ด้วย
“ในระบบสาธารณสุข โรงพยาบาลมีหลายอาชีพที่ทำงานร่วมกัน และมีหลายอาชีพที่ลำบากมากกว่าแพทย์ ทั้งอาชีพพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังเป็นลูกจ้างรายวัน การจะแก้ปัญหานี้ต้องทำเป็นระบบ ปรับโครงสร้าง กระทรวงสาธารณสุขต้องปรึกษาหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ในเรื่องนี้”พญ.ชุตินาถ กล่าว
เปิดตัวเลขแพทย์ลาออกมาจำนวนเท่าใด?
จากการศึกษาแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2561-2570 พบว่าต้องการแพทย์เข้าสู่ระบบปีละ 2,055 คน แต่ได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 1,800 - 1,900 คน โดยปี 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ได้รับการจัดสรร 1,960 คน
ส่วนที่เหลือจัดสรรให้กระทรวงกลาโหม คณะแพทยศาสตร์ 6 แห่งในภูมิภาคและส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ สอดคล้องกับจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์นที่แพทยสภากำหนดให้ฝึกทักษะในโรงพยาบาล 117 แห่ง ซึ่งปี 2565 ศักยภาพในการรับอยู่ที่ 3,128 คน แต่ได้รับจัดสรร 2,150 คน คิดเป็น 68.7%
ทั้งนี้ สำหรับกระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรแพทย์ปีละประมาณ 1,800 คน มีการลาออกของแพทย์ใช้ทุนปี 1, ปี 2, ปี 3 และหลังใช้ทุนครบ 3 ปี รวมเฉลี่ยปีละ 455 คน สาเหตุที่ลาออกมีทั้งไปศึกษาต่อ ไปทำงานในภาคเอกชน หมดสัญญาชดใช้ทุน รวมถึงภาระงานด้วยส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับแพทย์ที่เกษียณปีละ 150-200 คน จะมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน
สำหรับเรื่องภาระงานมากนั้น จากการสำรวจช่วงวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ มี 65 แห่ง แบ่งเป็น มากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ 9 แห่ง มากกว่า 59 ชั่วโมง/สัปดาห์ 4 แห่ง มากกว่า 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ 11 แห่ง มากกว่า 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ 18 แห่ง และมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ 23 แห่ง