บริการทางการแพทย์รักษาผู้มีบุตรยาก 'GFC' เติบโตบนฐานมั่นคง-ยั่งยืน
“GFC” เตรียมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และมีการนำเอไอเข้ามาช่วยในการประเมินตัวอ่อน สะท้อนถึงการเติบโตของบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ รักษาผู้มีบุตรยาก ท่ามกลางอัตราเด็กเกิดใหม่ของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง
Keypoints :
- จากตัวเลขเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทย จากปี 2556 อยู่ที่ 780,000 คน แนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ปี 2565 เกิดใหม่ 502,107 คน อัตราการทดแทนต่ำกว่า 2 ปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรอย่างแน่นอน
- “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์”อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าช่วยทั้งเตรียมวางแผนการมีบุตรในอนาคตและการรักษาผู้มีบุตรยาก ซึ่งมีความต้องการมากขึ้น
- บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ หรือ GFC ผู้ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ใน 5 บริการและมีการนำเอไอมาใช้เตรียมนำเข้าตลาดหลักทรัพย์
ปี 2556 เด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 780,000 คน แนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ปี 2561 เกิดใหม่ 666,357 คน ปี 2562 เกิดใหม่ 618,193 คน ปี 2563 เกิดใหม่ 587,368 คน ปี 2564 เกิดใหม่ 544,570 คน และ ปี 2565 เกิดใหม่ 502,107 คน อัตราการทดแทนต่ำกว่า 2 ปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรอย่างแน่นอน
“กรุงเทพธุรกิจ”มีโอภาสสัมภาษณ์พิเศษ “กรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ หรือ GFC” ให้มุมมองต่อเรื่องนี้ว่า อัตราการเกิดที่ลดลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น กลายเป็นความไม่สมดุลทั้งด้านงบประมาณในการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ รวมถึง วัยทำงานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ
และการขาดแคลนแรงงาน จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญ ทำให้มีนโยบายระดับชาติในการส่งเสริมการมีบุตรมากขึ้น อย่างเช่น ประเทศจีน จากเดิมที่ไม่อยากให้คนมีลูกมาก แต่ตอนนี้มีการผ่อนปรนให้มีลูกได้ถึงคนที่ 3 เป็นต้น
ปัจจุบันเทคโนโลช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มีผู้ให้บริการจำนวนมากทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและคลินิก แต่ละแห่งจะเน้นจุดเด่นที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการวางกลุ่มลูกค้าอย่างไร และการแพทย์ของประเทศไทยมีชื่อเสียง รวมถึง การรักษาภาะวมีบุตรยากด้วย จึงนับเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่คนไข้ต่างชาติจะเข้ามารับบริการ
เทคโนโลยีรักษาผู้ทีบุตรยาก
กรพัส มองว่า โดยทั่วไปการมีบุตรตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความสามารถมากจะทำงานเก่ง หรือคนรุ่นใหม่ต้องการที่จะทำงานและท่องเที่ยวก่อน ไม่ได้มองว่าการมีบุตรเป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องการจะมีบุตร อายุก็มากขึ้นแล้ว ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงก็ทำให้ไม่สามารถมีได้เองตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ เทคโนโลช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก อาจเข้ามาช่วยส่งเสริมให้คนมีบุตรได้มากขึ้น ทั้งในส่วนที่สุภาพสตรีอาจจะมีไข่น้อยลง จะต้องมีการกระตุ้น ให้ไข่ออกมามากกว่าปกติ หรือสเปิร์มฝ่ายชายมีน้อยก็จะมีการคัดออกมาและช่วยจนถึงการนำสเปิร์มไปถึงไข่และนำไข่ออกมา
ซึ่งวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นการกระตุ้นให้ได้ไข่มากที่สุด นำไข่ออกมาแล้วใช้เครื่องเลเซอร์เหมือนปอกเปลือกไข่ เจาะรูแล้วคัดสเปิร์มที่แข็งแรงที่สุดใส่เข้าไปให้เกิดการปฏิสนธิแล้วเลี้ยงตัวอ่อนข้างนอกและใส่กลับเข้าไปในมดลูกสุภาพสตรีในวันที่เหมาะสมที่สุด จะเพิ่มอัตราความสำเร็จ
รวมถึง การตรวจ NGS เป็นการตรวจโครโมโซม เพราะตัวอ่อนที่ใส่เข้าไปหากโครโมโซมไม่สมบูรณ์ เปอร์เซ็นต์การฝังตัวในมดลูกก็จะน้อย ซึ่งการตรวจโครโมโซม 23 คู่ถ้าสมบูรณ์อัตราความสำเร็จก็จะเพิ่มขึ้นอีก
ส่วนที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน คือการฝากไข่ สำหรับผู้ที่อาจจะยังไม่แต่งงาน หรือผู้ที่ต้องการทำงานก่อน ก็นำไข่มาฝากไว้ก่อน โดยยิ่งฝากในช่วงอายุไม่มากราว 20 กว่าปียิ่งดี เพราะยิ่งฝากเร็ว ไข่ยิ่งมีคุณภาพ
นอกจากนี้ ในกรณีผู้ที่มีความพร้อมแล้ว ไม่อยากมีลูกตอนอายุมาก ต้องการวางแผนการมีบุตรแม้จะยังมีอายุน้อยก็สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้เช่นกัน หากมีใบทะเบียนสมรส ซึ่งแพทย์อาจคำแนะนำแล้วบางคู่ก็สามารถตั้งครรภ์ธรรมชาติได้
อายุน้อยก็มีลูกยากได้
สมัยก่อนจะมีความเชื่อที่ว่าหากอายุ 30 กว่า ไข่ยังจะดีอยู่ คนที่ออกกำลังกายมาก สุขภาพดี ไข่จะต้องดีด้วย แต่จากสถิติการให้บริการของGFC ในช่วงหลังทำให้พบเห็นมากขึ้นว่า คนที่ออกกำลังกายดี เล่นโยคะ วิ่ง ควบคุมสุขภาพอย่างดี แต่เมื่อมาตรวจและจะฝากไข่ ปรากฎว่าไข่คุณภาพไม่ดี แสดงให้เห็นว่าอายุไม่เกี่ยว แต่จะมีปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น ความเครียด และไลฟ์สไตล์อื่นๆที่อาจจะส่งผลกระทบแต่ยังไม่ทราบแน่ชัด
“สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันเรื่องของอายุอาจจะไม่ใช่ปัจจัย คนที่มีอายุน้อยก็อาจจะมีลูกยากได้เช่นเดียวกัน ซึ่งแนวโน้มพบมากขึ้น โดยหากดูจากกลุ่มอายุที่มาเข้ารับการรักษา ช่วงอายุ35-40 ปีเป็นกลุ่มใหญ่ที่มารักษา แต่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 35 ปีที่เจอปัญหามีบุตรยากก็เริ่มเข้ามารับการรักษาภาวะมีบุตรยากมากขึ้น”กรพัสกล่าว
5 บริการของGFC
ในส่วนของ “GFC” ผู้ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทย่อย จำนวน 2 บริษัท (กลุ่มบริษัท) 1.บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (GSM) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS )
และ 2.บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (GFCFG) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
ธุรกิจบริการหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1. การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา
2.การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination)
3. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection)
4.การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS)
และ 5.การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่
ผู้ใช้บริการของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร โดย 70-80 % เป็นผู้รับบบริการชาวไทยทั้งคู่ และคู่ชาวไทยและต่างชาติเล็กน้อย อายุในช่วง 35-40 ปีมากที่สุด รองลงมาเป็น 30-35 ปี ส่วนคู่สมรสต่างชาติทั้งคู่ยังไม่มี
เอไอช่วยประเมินตัวอ่อน
ด้วยเป้าหมายของ GFC ที่ต้องการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา GFC มีการนำเทคโนโลยี Early Embryo Viability Assessment (EEVA) ซึ่งเป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน โดยได้พัฒนาให้สามารถแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับตัวอ่อน และวิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
“เทคโนโลยีนี้เป็นตู้เลี้ยงตัวอ่อนระบบปิด เหมือนอยู่ในครรภ์มารดา มีการคุมอุณหภูมิ คุมความชื้น มีกล้องคอยจับ มีเอไอคอยดู ทำหน้าที่คอยประเมินว่าตัวอ่อนแต่ละตัวมีการพัฒนาเป็นอย่างไร 24 ชั่วโมงที่เลี้ยงอยู่ในตู้หากมีเหตุที่ผิดปกติขึ้นมา ก็จะมีการแจ้งเตือนให้ทีมแพทย์และนักวิทย์สามารถดูว่าเกิดสิ่งผิดปกติอะไร
และเมื่อถึงขั้นตอนการเลือกตัวอ่อนที่จะใส่ในมารดา ทีมแพทย์และนักวิทย์ รวมถึง เอไอก็จะเลือก ถ้าหากเทีมแพทย์และเอไอเลือกคนละตัว ก็จะทำให้กลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าทำไมเอไอถึงเลือกตัวนั้น ช่วยให้การตัดสินใจเลือกตัวอ่อนมีการตรวจสอบหลายรอบมากขึ้น”กรพัสกล่าว
แผนขยายธุรกิจ GFC
ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากที่มีมากขึ้นทั้งของไทยและต่างประเทศ เห็นได้จากมูลค่าตลาดภาพรวมทั่วโลกอยู่ที่แสนล้านบาท
- ส่วนในประเทศไทยอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท
- บวกกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของ GFC เฉลี่ยปีละ 13 %
- โดยในปี 2563 ถึงปี 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการ 214.42 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 275.91 ล้านบาท
- กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก
นำมาสู่ก้าวสำคัญของ “GFC” ในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คาดภายในปี 2566 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจบริการ
กรพัส กล่าวว่า การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจ โดยการนำมาในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้ลงทุนขยายคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ พระราม 9 ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่นๆ ตามพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยาก เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรมนักเทคนิคการแพทย์ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทยและที่เป็นชาวต่างชาติในอนาคต
เติบโตบนความมั่นคงและยั่งยืน
ปัจจุบัน GFC อยู่ในสถานะที่กำลังทำฐานให้มั่นคง อย่างเช่นการเปิดสาขาสุวรรภูมิ พระราม 9 ในปี 2567 จะมีห้องแล็ปและศูนย์ฝึกอบรมฯเป็นจุดเริ่มต้นของการปูรากฐาน เพราะหลังจากนี้หากมีทีมนักเทคนิคการแพทย์ที่พร้อมตามต้องการแล้ว การขยายสาขาไม่ใช่เรื่องยาก รวมถึง มีการประสานแพทย์ที่จบเฉพาะทางการรักษาผู้มีบุตรยากและเทรนด์ให้อยู่ในมาตรฐานของ GFC ไม่ใช่ว่าการเปิดสาขาใหม่แล้วตัวเลขจะต้องมาทันที แน่นอนจะต้องมีคนไข้มาที่สาขาใหม่จากการที่สาขาพระราม 3เต็ม แต่ก็ไม่ใช่ในปริมาณตามพื้นที่ขึ้นมาเลย
“หลังจากนี้ในอีก 1-2 ปี จากการที่สร้างทีมขึ้นมา ก็จะโตแบบก้าวกระโดดและมั่นคง GFC ไม่อยากขยายสาขาแบบเปิดๆเป็นแบรนด์แล้วรับใครเข้ามาทำงานก็ได้ ซึ่งสามารถทำได้เลยและเร็วด้วย แต่ในระยะยาวจะไม่ยั่งยืน เพราะการจะคุมคุณภาพไปสู่คนไข้ที่มารักษาจะทำไม่ได้ จึงไม่ยั่งยืน ตอนนี้GFC จึงอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต”กรพัสกล่าว
ข้อเสนอถึงภาครัฐ
ในส่วนของภาครัฐ “กรพัส” มองว่าหากจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ควรพิจารณาถึงข้อกำหนดทางกฎหมายบางอย่างที่เอื้อขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ อย่างเช่น เรื่องของการตรวจโครโมโซมซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีข้อบ่งชี้ เช่น มีประวัติการแท้งมาก่อน เป็นต้น โดยต้องการปิดช่องว่างเรื่องการอุ้มบุญและการเลือกเพศ แต่จริงๆแล้ว การตรวจโครโมโซมมีข้อดีกว่านั้นมาก เพราะคนที่มารับการรักษาต้องการได้ลูกที่สมบูรณ์
แต่คนไข้ที่เป็นคู่สมรสที่เข้ามารับการรักษาแต่อายุต่ำกว่า 35 ปีและต้องการตรวจโครโมโซม ก็ยังทำไม่ได้เพราะติดกฎหมายส่วนนี้ ทั้งที่ก็มีความเสี่ยงลูกจะเกิดมามีโครโมโซมผิดปกติ ดังนั้น กฎหมายลักษณะอยากให้พิจารณาว่าจะปรับให้สามารถออกมาตรการมาปิดให้ตรงจุดได้หรือไม่
ไกด์ไลน์เลือกบริการรักษาผู้มีบุตรยาก
ท้ายที่สุด กรพัส แนะนำสิ่งที่ผู้ต้องการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากว่า ก่อนจะเลือกไปรับบริการที่ไหน ควรพิจารณา 5 ข้อสำคัญ ได้แก่
1.แพทย์ที่ให้การรักษาจบเฉพาะทางด้านการรักษาผู้มีบุตรยากหรือไม่
2.มีห้องแล็ปของคลินิกเองหรือไม่ เพราะการที่มีแล็ปเองจะทำให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ ไม่ต้องส่งไปห้องแล็ปข้างนอกซึ่งระหว่างทางอาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ได้
3.เปอร์เซ็นต์ผู้รับบริการต่อเดือนมากน้อยแค่ไหน
4.เทคโนโลยีที่นำมาใช้มีอะไรบ้าง
และ5.ประสบการณ์ของผู้รับบริการ และอัตราความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเป็นกรณีที่ยากเพียงใด