ไขข้อสงสัย!เปลี่ยน 'สิทธิประกันสังคม' มาเป็น'สิทธิบัตรทอง' ต้องทำอย่างไร?
สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยในขณะนี้ หากเป็นคนวัยทำงานแล้วนั้น จะได้สิทธิประโยชน์ อย่าง 'สิทธิประกันสังคม' และ 'สิทธิบัตรทอง' ซึ่งทั้ง 2 สิทธิ ถือเป็นสวัสดิการจากรัฐที่ให้หลักประกันสุขภาพแก่คนไทย
Keypoint:
- สิทธิในการรักษาพยาบาลของคนไทย ซึ่งเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ แต่หากเป็นผู้ว่างงาน หรือลาออกจากงาน อาจต้องเปลี่ยนจากสิทธิประกันสังคมไปเป็นสิทธิบัตรทอง
- ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้มากกว่า 20 กว่าโรค โดยขั้นตอนในการเปลี่ยนสิทธิจากประกันสังคมมาเป็นบัตรทอง สามารถทำได้ง่ายๆ
- 6 ขั้นตอนสำหรับผู้ลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง ในกรณีที่ไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน ทำได้ทั้งในระบบออนไลน์ และออฟไลน์ โทรสอบถาม 1330 สปสช.
สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง เป็นสวัสดิการจากภาครัฐ โดยประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตรทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
ลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจะทำการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
บัตรทอง คือ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (หรือที่คุ้นเคยกันว่า โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิ คือ บุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ และต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือผู้ที่ลาออกและเกษียณจากประกันสังคมแล้วเท่านั้นถึงสามารถใช้สิทธิได้
ทว่าหากลาออกจากงาน ว่างงาน และไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อตามมาตรา 39 สิทธิการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติประกันสังคมจะคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน หลังจากพ้นระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือนแล้ว หากเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาต้องทำอย่างไร?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช็ก ยา 3 รายการ และ 1 วัคซีน สิทธิประโยชน์ใหม่ 'กองทุนบัตรทอง'
- เปลี่ยนจากสิทธิประกันสังคม มาใช้สิทธิบัตรทอง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายว่าผู้ที่ลาออกจากงาน หรือว่างงาน สามารถลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท) กรณีที่ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียน สปสช.ได้จัดระบบลงทะเบียนแทนให้กรณีบุคคลสิ้นสุดสิทธิการรักษาพยาบาลอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือสิ้นสุดสิทธิประกันสังคม เป็นต้น ทั้งนี้ภายหลัง ท่านสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ(สถานพยาบาล) ได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง
โดยตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการประจำ ได้ที่ http://mscup.nhso.go.th/mastercup เลือกพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือพื้นที่ต่างจังหวัด โดยระบุเลือกตามพื้นที่พักอาศัยจริง
ลงทะเบียนออนไลน์ด้วยตนเอง 2 ช่องทาง
1.แอปพลิเคชัน สปสช. ดาวน์โหลดแอป คำว่า “สปสช.” ได้ทั้งระบบ Android และ iOS เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง
2.ไลน์ OA สปสช. แอดไลน์ สปสช. พิมพ์ค้นหา Line ID @nhso เลือกเมนู เปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง
หรือติดต่อด้วยตนเอง
ต่างจังหวัด: โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) / โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน (วันและเวลาราชการ)
กรุงเทพมหานคร: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 อาคารบี (ทิศตะวันตก) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ หรือ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 (เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร)
การใช้สิทธิเข้ารับบริการ
1. ติดต่อที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำของผู้มีสิทธิบัตรทอง กรณีเกินศักยภาพจะส่งตัวไปหน่วยบริการที่รับส่งต่อ
2. แจ้งความจำนงใช้สิทธิบัตรทองก่อนรับบริการ
3. แสดงบัตรประจำตัวประชาชน
สอบถามเพิ่มเติม โทรสายด่วน สปสช.1330 ตลอด 24 ชั่วโมง (โทรฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือพิมพ์ไลน์ไอดี @nhso ,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือไลน์ @traffyfondue
- 6 ขั้นตอนลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองสำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียน
สำหรับ 'วิธีการลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ' (สิทธิบัตรทอง) สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนสิทธิ ด้วย 6 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนั้น
ขั้นตอนแรก : ทุกคนรู้ตัวเองเองปัจจุบันมีสิทธิรักษาพยาบาลอะไร ถ้าไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลตามที่รัฐจัดให้ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิรัฐวิสาหกิจ และอื่นๆ ให้ทุกคนไม่ว่าท่านจะเป็นคนกรุงเทพฯ คนต่างจัวหวัด ต้องทำการ "ตรวจสอบสิทธิ" ครับ บางคนเป็นสิทธิว่าง (ค่าว่าง)
ขั้นตอนที่สอง : สิ่งที่ต้องเตรียมคือ 1.บัตรประชาชน/สูติบัตร (สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีหรือที่ยังไม่มีบัตรประชาชน) และ 2.เอกสารรับรองการพักอาศัย เช่น ทะเบียนบ้าน หรือใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
ขั้นตอนที่สาม : เดินทางไปลงทะเบียน ถ้าพักอาศัยในกรุงเทพมหานคร ให้ไปติดต่อ สำนักงานเขตทั้ง 19 เขต ที่เปิดรับลงทะเบียนครับ ถ้าพักอาศัยในต่างจังหวัดให้ไปติดต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ของจังหวัด
ขั้นตอนที่สี่ : ก็ลงทะเบียน ณ จุดลงทะเบียน เพื่อเลือกหน่วยบริการในการเข้ารับการรักษาพยาบาลตามบัญชีเครือข่าย
ขั้นตอนที่ห้า : หลังจากลงทะเบียนจะได้รับสิทธิ ทุกวันที่ 15 หรือ วันที่ 28 ของเดือน โดยการส่งข้อมูลการลงทะเบียน จะแบ่งเป็น 2 รอบ ดังนี้
*รอบที่ 1 ลงทะเบียนไม่เกินวันที่ 10 ของเดือน สิทธิจะขึ้น วันที่ 15 ของเดือน
*รอบที่ 2 ลงทะเบียน หลังวันที่ 10 แต่ไม่เกินวันที่ 22 ของเดือน สิทธิจะขึ้น วันที่ 28 ของเดือน
**กรณีย้ายสิทธิการรักษาก็ให้ใช้สิทธิที่เดิมไปก่อน จนกว่าสิทธิใหม่จะขึ้น แต่ถ้ายังไม่เคยลงทะเบียนก็จะเป็นสิทธิว่างจะใช้สิทธิได้ในกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินเท่านั้น สำหรับผู้ที่ลาออกจากประกันสังคมมาลงทะเบียนสิทธิบัตรทองต้องรีบตรวจสอบสิทธิของตนเองทันที ภายหลังจากหมดการคุ้มครองของสิทธิประกันสังคม
ทั้งนี้ สิทธิสามารถใช้ได้ทุกวันที่ 15 และ 28 หมายถึง หลังจากลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทอง จะมีระยะเวลาประมาณ 15 วันถึง 1 เดือน ถึงจะเริ่มใช้สิทธิ์ที่แห่งใหม่ได้ (สปสช. จะมีรอบการลงทะเบียนทุกวันที่ 15 และ 28 ของเดือน) โดยใช้สิทธิการรักษาที่หน่วยบริการแห่งเดิมไปก่อนจนกว่าสิทธิแห่งใหม่จะใช้ได้
ขั้นตอนที่หก : แนะนำให้ตรวจสอบสิทธิตนเองอีกครั้งก่อนเข้ารับบริการที่หน่วยบริการ เพื่อตรวจว่าสิทธิที่บงทะเบียนเข้าในระบบแล้วหรือไม่!
ทั้งหมด คือ 6 ขั้นตอนง่ายๆ สำหรับผู้ที่ประสงค์จะลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) หากพบปัญหาและมีข้อสงสัย สามารถโทร สายด่วน สปสช. 1330 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
อ้างอิง:สปสช.