12 สิ่งที่ 'ผู้สูงอายุ' ต้องตรวจคัดกรอง

12 สิ่งที่ 'ผู้สูงอายุ' ต้องตรวจคัดกรอง

ไทยเผชิญกับสึนามิผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุไทยเพิ่มมากกว่าปีละ 1 ล้านคน จะเป็นสถานการณ์เช่นนี้ไปอีก 20 ปี ซึ่งระบบสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อมรองรับเช่นกัน สิ่งสำคัญต้องตรวจเจอโรคให้เร็วเพื่อเข้าสู่การรักษา แต่พบว่าผู้สูงอายุไม่ได้รับการตรวจสุขภาพคัดกรองกว่า 66 %

     Keypionts : 

  • ทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึง ประเทศไทยที่กำลังเผชิญสึนามิสูงวัย ปี 2566เป็นปีแรกที่จำนวนผู้สูงอายุไทยเพิ่มมากกว่าปีละ 1 ล้านคน จะเป็นสถานการณ์เช่นนี้ไปอีก 20 ปี 
  • จำเป็นที่ผู้สูงอายุควรต้องได้่รับการตรวจคัดกรองโรคหรือตรวจสุขภาพอย่างน้อยในเรื่องหลัก 12 สิ่ง แต่ในปี 2560 ผู้สูงอายุไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ กว่า 66 %
  •    แนวทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคหรือปัญหาสุขภาพในผู้สูงวัย มีอย่างน้อย 13 ข้อ ซึ่งจะช่วยให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

        เมื่อเร็วๆนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับ สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย และ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด จัดกิจกรรม “ศิริราชใส่ใจ...สูงวัย ดูแลตัวเอง
        ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ทุกภูมิภาคทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำคำแนะนำไกด์ไลน์สำหรับการดูแลตนเองเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (self-care interventions for health and well-being) พยายามผลักดันให้ทุกประเทศเห็นความสำคัญเตรียมพร้อม รวมถึงเตรียมทรัพยากรที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ สังคม ความเข้มแข็งของชุมชน ครอบครัวมีความรู้สึกร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ
       

        นอกจากดูแลผู้สูงอายุแล้วก็ต้องดูแลตัวเองด้วย จึงต้องเน้นทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษาเพื่อพร้อมเข้าสู่ผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อีกไม่นานจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดเร็วขึ้นด้วยเนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง ศิริราชให้ความสำคัญเรื่องการดูแลผู้สูงอายุซึ่งเริ่มมากว่า 25 ปีแล้ว ได้ทำงานอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จัดทำโครงการต่างๆ รองรับ และปลายปีนี้จะเปิดศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช จ.สมุทรสาคร จะเป็นศูนย์ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร และเป็นต้นแบบให้กระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) นำไปขยายผลในภูมิภาคต่างๆ

4 เรื่องน่าห่วงสังคมสูงวัย

         ด้าน ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่จำนวนผู้สูงอายุไทยเพิ่มมากกว่าปีละ 1 ล้านคน จะเป็นสถานการณ์เช่นนี้ไปอีก 20 ปี เรียกว่าเป็นสึนามิผู้สูงวัยที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ขณะนี้สถานการณ์ผู้สูงอายุที่น่าเป็นห่วงคือ 1.ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุต้องรู้จักการดูแลส่งเสริมตนเองให้แข็งแรง  อย่ามองว่าเป็นอะไรก็รักษาฟรี ทั้งนี้ไม่มีใครดูแลตนเองได้ดีกว่าเราดูแลตนเอง สำหรับโรคที่พบมากในผู้สูงอายุอันดับแรกคือโรคเกี่ยวกับกระดูกกล้ามเนื้อและข้อ รองลงมาคือโรคด้านอายุรกรรม เบาหวาน ความดัน ไขมัน หลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจ ภาวะขาดสารอาหาร และถัดมาเป็นโรคความเสื่อมของระบบสมอง เช่น สมองเสื่อม พาร์กินสัน โรคซึมเศร้า 

    
 

    2.ด้านสังคม เรื่องของเศรษฐานะ ส่วนใหญ่จะหวังพึ่งเบี้ยยังชีพ ไม่ค่อยให้ความสนใจการออมตั้งแต่ก่อนวัยสูงอายุ ต้องพยายามรณรงค์ให้วัยทำงานเก็บออม ไม่ใช่หวังแต่พึ่งการดูแลจากภาครัฐ จะเป็นภาระที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี จะทำเรื่องประกันการดูแลระยะยาว หรือ Long-Term Care Insurance คือการร่วมจ่าย แต่ประเทศไทยที่ผ่านมารัฐบาลไม่กล้าทำเรื่องนี้ หากภาครัฐแบกรับภาระทุกอย่างจะไปไม่รอด

        3.ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร ทั้งเรื่องของการคมนาคม รถสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ และ4.ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ต้องสนับสนุนให้มีคนกลุ่มนี้มากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเรายังทำน้อยมากเทียบกับคลื่นผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น 

12 สิ่งที่ \'ผู้สูงอายุ\' ต้องตรวจคัดกรอง
สูงวัยไม่ได้ตรวจสุขภาพกว่า66%
       ขณะที่ นพ.สมบูรณ์ อินทลาภาพร อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในหัวข้อ “สูงวัย ใส่ใจ คัดกรอง ป้องกันโรค”ว่า  การตรวจคัดกรองโรค เป็นกระบวนการเพื่อหาภาวะหรือปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นโรค โดยมีการใช้วิธีการตรวจ การทดสอบ หรือการสอบถามต่อผู้รับการตรวจ ทำได้ทั้งระดับประชากร ระดับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเสี่ยงสูงหรือระดับแต่ละบุคคคล ซึ่งผู้รับการตรวจจะไม่มีอาการหรืออาการแสดงของโรค มีเป้าหมายเพื่อการวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มแรก และเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วได้ผลดี 

      ในปี 2560 ผู้สูงอายุมีการตรวจสุขภาพที่ไม่ใช่เพราะการเจ็บป่วย  ได้รับจากรัฐ 32.46 % ภาคเอกชน 0.84 % ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ 66.44 %  และไม่ทราบ 0.26 %
10 อันดับโรคสาเหตุเสียชีวิต
          ทั้งนี้ โรคที่เป็นสาเหตุทำให้ประชากรผู้สูงอายุไทยเสียชีวิตในปี 2564 เรียง 10 อันดับ คือ มะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด โรคหลอดเลือดในสมอง ปอดบวม  โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง และโรคของตับ
       ส่วน 10 อันดับโรคของผู้สูงอายุที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะหรือปีแห่งสุขภาพดี ในเพศชาย ประกอบด้วย

1.โรคหลอดเลือดสมอง

2.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

3.โรคหัวใจขาดเลือด

4.โรคเบาหวาน

5.มะเร็งตับ

6.มะเร็งหลอดลมและปอด

7.สมองเสื่อม

8.ข้อเสื่อม

9.วัณโรค และ10.หูหนวก

ส่วนเพศหญิง ได้แก่ 1.โรคหลอดเลือดสมอง 2.เบาหวาน 3.สมองเสื่อม 4.หัวใจขาดเลือด 5.ข้อเสื่อม 6.ต้อกระจก 7.ไตอักเสบและไตพิการ 8.มะเร็งตับ 9.ปอดอุดดั้นเรื้อรัง และ10.หูหนวก
สิ่งที่สูงวัยต้องตรวจคัดกรอง
       สำหรับการตรวจคัดกรองโรคหรือตรวจสุขภาพประจำปีในผู้สูงอายุตามคำแนะนำมีส่วน หลักๆ คือ  โรคมะเร็ง การวัดขนาดของร่างกาย ภาวะโภชนาการ ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดง ภาวะโลหิตจาง การมองเห็นและการได้ยิน การตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปาก ภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า การทำงานของไต โรคกระดุกพรุน ความเสี่ยงภาวะหกล้ม ความสามารถในการทำกิจวัตประจำวัน

          ซึ่งสามารถคัดกรองสุขภาพตนเองได้บางอย่าง เช่น  วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก ตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ อาทิ หลงลืม เหนื่อยง่าย มีไข้หรือไอเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำได้ก้อน ท้องอืดบ่อย ท้องผูกสลับท้องเสีย หกล้มบ่อย ถ้าพบผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์  และอาจใช้เครื่องมือคัดกรองสุขภาพ เช่น แบบคัดกรองสุขภาพตนเอง หรือแอปพลิเคชันคัดกรองสุขภาพ

12 สิ่งที่ \'ผู้สูงอายุ\' ต้องตรวจคัดกรอง
      ยกตัวอย่าง การคัดกรองความเสี่ยงหกล้มเบื้องต้นด้วย 3 คำถามคัดกรอง ดังนี้ มีประวัติการหกล้มใน 1 ปีที่ผ่านมาหรือไม่  รู้สึกไม่มั่นคงเวลายืนหรือเดินหรือไม่ และกังวลเกี่ยวกับการหกล้มหรือไม่  ถ้าพบผิดปกติอย่างน้อย 1 ข้อ มีความเสี่ยงต่อภาวะหกล้มจะต้องมีการประเมินเพิ่มเติม

         และตรวจคัดกรองโดยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์สม่ำเสมอ อย่างเช่น  โรคมะเร็งปากมดลูก ตรวจแปปสเมียร์ทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปีหากผลตรวจก่อนนั้นปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง ในช่วง 10ปีให้หยุดตรวจหลังอายุ 65 ปี ถ้าไม่มีเพศสัมพัน์แล้ว  มะเร็งเต้านม ตรวจเต้านมทุก 1 ปี ทำแมมโมแกรมทุก1-2ปีจนถึงอายุ 70 ปี หลังจากนั้นตรวจต่อตามความเหมาะสม

       มะเร็งลำไส้ตรวจหาเลือดในอุจจาระทุกปี  คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงโดยตรวจน้ำตาลในเลือดทุกปี  ควรตรวจวัดความดันโลหิตมากกว่าปีละ 1 ครั้ง ไขมันในเลือดสูงทุก 5 ปี หลัง 75 ปีขึ้นไปไม่จำเป็นต้องตรวจ ในกรณีไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ตรวจการมองเห็นโดยแพทย์ อายุ 60-64 ปี ตรวจทุก 2-4 ปี  อายุ 65 ปีขึ้นไปตรวจทุก 1-2 ปี  แต่ถ้ามีปัญหาสุขภาพตาต้องไปตรวจก่อน และตรวจการได้ยิน เป็นต้น 
แนวทางส่งเสริมสุขภาพสูงวัย
         ท้ายที่สุด นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า  สรุป 5 แนวทางการคัดกรองป้องกันโรคในผู้สูงอายุ  1.หมั่นตรวจเช็กสุขภาพตนเองสม่ำเสมอ 2.ตรวจสุขภาพโดยแพทย์เป็นประจำทุกปี 3.ตรวจทางห้องปฏิบัติการสม่ำเสมอ 4.ตรวจคัดกรองโรคหรือความผิดปกติอื่น และ5.ถ้าคัดกรองพบความผิดปกติจะตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาโรค หรือติดตามความผิดปกติเป็นระยะ

        แนวทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคหรือปัญหาสุขภาพในผู้สูงวัย

1.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ

2.ทำกิจกรรมทางกาย

3.ดูแลด้านโภชนาการอย่างถูกต้องเหมาะสม

4.ใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม

5.นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

6.ฉีดวัคซีนส่งเสริมภูมิคุ้มกันโรค

7.หมั่นการศึกษาเรียนรู้ ทำกิจกรรมส่งเสริมการรู้คิด

8.ป้องกันโรคที่เสี่ยงต่อเสียชีวิตหรือโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

9.ดูแลสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ

10.ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ

11.ดูแลรักษาโรคประจำตัวให้ดี ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน 

12.หมั่นสังเกตอาการผิดปกติแล้วมาพบแพทย์

และ13.ดูแลเรื่องอารมณ์ จิตใจให้ดี