ยกระดับบริการ “ทันตกรรม”ทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึง

ยกระดับบริการ “ทันตกรรม”ทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึง

คนไทยรับบริการทันตกรรมไม่ถึง 10 % สธ.ยกระดับให้ประชาชนเข้าถึงได้ประมาณ 2 เท่า ภายใน 3-5 ปี เผยศูนย์ทันตกรรม รพ.หนองคาย ต้นแบบบริการไร้รอยต่อ พัฒนาศักยภาพ เพิ่มการเข้าถึง ลดระยะเวลารอคิว 

        นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ว่า จากการสำรวจของ สธ.ถึงความต้องการการให้บริการที่ สธ.มีต่อประชาชน มี 2-3 เรื่องที่ประชาชนสนใจมาก คือ 1.การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ 2.การยกระดับบริการทั้งหมด และ 3.การบริการทันตกรรม โดยพบว่า สธ.มีกิจกรรมการดูแลด้านทันตสาธารณสุข ทั้งส่งเสริมป้องกันรักษาโรคทางช่องปาก ประมาณ10 ล้านครั้งต่อปี ถือว่าค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ อย่างน้อยควรมีตรวจช่องปากปีละ 2 ครั้ง ขูดหินปูนปีละ 2 ครั้ง คนไทยมี 60 ล้านคนอย่างน้อยก็ต้องมี 120 ล้านครั้ง ยังไม่ถึง 10%
เพิ่มเข้าถึงบริการ 2 เท่า

      ส่วนภาพรวมในระบบมีทันตแพทย์เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่กี่พันคน ขณะนี้มีประมาณ 8 พันคน แต่ที่ขาดคือผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล และยูนิตทำฟัน ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากหลายอย่างที่ทับซ้อนกัน ทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านทันตกรรม การกำหนดจำนวนบุคลากร การกำหนดจุดวางและเชื่อมต่อบริการทันตกรรม จึงเป็นแนวคิดพัฒนาเป็น รพ.ทันตกรรม ให้ทันตแพทย์ดูแลประชาชนในงานที่ต้องการได้เอง เชื่อว่าจะสามารถยกระดับการให้บริการให้ประชาชนเข้าถึงได้ประมาณ 2 เท่า ภายใน 3-5 ปี     

ยกระดับบริการ “ทันตกรรม”ทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึง

        “หากทำแบบเดิม เพิ่มยูนิตทำฟัน เพิ่มทันตแพทย์ แต่โครงสร้างยังเหมือนเดิม ก็คงเพิ่มได้ปีละ 2 ล้านครั้ง แต่ถ้ามีระบบจัดการที่ก้าวกระโดด คงทำเหมือนเดิมไม่ได้ จึงต้องมี รพ.ทันตกรรม เพื่อให้ขีดความสามารถการให้บริการของทันตแพทย์และบุคลากรด้านทันตกรรม ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่" นพ.โอภาสกล่าว

พัฒนาสู่รพ.ทันตกรรม

       นพ.โอภาส  กล่าวด้วยว่า นโยบาย รพ.ทันตกรรม ที่บริหาารโดยกลุ่มทันตแพทย์และบุคลากรทันตกรรม ซึ่งขณะนี้มี 30 กว่า รพ.ที่กำลังพัฒนา แต่ต้องทำและพัฒนาทั้งเชิงจำนวนบุคลากร เชิงโครงสร้าง เชิงระบบ และเชิงการบริหารจัดการการเงิน ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ที่ช่วยดูแลค่าใช้จ่ายในระบบกองทุนประกันสุขภาพก็เห็นพ้องว่า การยกระดับบริการประชาชนให้เข้าถึง ก็ต้องมีการเติมเงินเข้ามาในระบบ สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าการจ่ายเงินจะจ่ายตามผลผลิตหรือจำนวนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการบริการประชาชนเพิ่มขึ้น

          สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้มีการยกระดับบริการประชาชน หรือ 30 บาทพลัส งานทันตกรรมก็เป็นอีกงานที่จะยกระดับการให้บริการประชาชน ถ้าสมมติสามารถตั้ง รพ.ทันตกรรม อย่างน้อยทุกจังหวัดได้ในปีหน้าก่อน ส่วนต่อไปงานขยายไปอย่างรวดเร็วกว้างขวางเกินกว่าหน่วยงาน รพ.จะรับได้ ก็จะพัฒนาขึ้นมาเป็นกรมทันตกรรมก็เป็นเรื่องอนาคต

      "การจะทำตั้ง รพ.ทันตกรรมในแต่ละแห่ง ต้องดูจากความพร้อมของบุคลากรที่จะทำเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจุดไหนความต้องการบริการมีเยอะ วางจุดไหนก็เกิดประโยชน์ อยากให้ รพ.มีความพร้อม เจ้าหน้าที่มีความตั้งใจที่จะทำ จะเป็นจุดสำเร็จที่ทำให้เกิดขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว

กรอบอัตรากำลังทันตแพทย์

     สำหรับกรอบอัตรากำลังทันตแพทย์  นพ.โอภาส กล่าว ภาพรวมมีสายงานบุคลรกรมาก เช่น ทันตกรรม มีทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ถ้าใช้กฎระเบียบแบบเดิมก็ไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการ สธ.จึงมองว่าควรยกระดับการบริหารจัดการ ทั้งเชิงกฎระเบียบ เชิงยุทธศาสตร์มาไว้ที่ สธ. ในรูปแบบคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น  เป็นแนวคิดนโยบายสอดคล้องกับภารกิจ เพราะถ้าบุคลากรไม่สามารถพัฒนาหรือมีนโยบายยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การบริการประชาชนที่สมบูรณ์แบบคงเป็นไปได้ยาก

       "การผลิตบุคลากรต้องมองกันใหม่ เช่น ของ สธ.มีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ก็มี ศ.นพ.วิชัย เทียนถาวร เป็นอธิการบดี  ก็ตอบรับเรื่องนี้ เพราะเวลาจะขอเพิ่มบุคลากรแต่ละด้านยากเหลือเกิน เพราะผู้ช่วยทันตแพทย์ถามว่าใครผลิตให้ มองไปมองมาก็มีแต้คนบอกดี แต่หาคนผลิตให้ค่อนข้างยาก ถ้าสธ.มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงก็จะสามารถผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการทั้งของเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นต้น" นพ.โอภาสกล่าว

ศูนย์ทันตกรรม รพ.หนองคาย

           รพ.หนองคายได้จัดตั้ง “ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลหนองคาย” ขึ้น โดยมีเป้าหมายจัดระบบบริการทันตกรรมปฐมภูมิแบบไร้รอยต่อ และให้บริการทันตกรรมเฉพาะทางเบ็ดเสร็จภายในจังหวัด เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพช่องปาก พร้อมกับพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านบริการทันตกรรมในอนุภาคลุ่มน้ำโขง

ยกระดับบริการ “ทันตกรรม”ทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึง

          กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย ทุกสภาวะการพึ่งพิง กลุ่มเป้าหมายรอง คือชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  ศูนย์ทันตกรรมหนองคายประกอบด้วย ห้องทันตกรรมที่มีการปรับปรุงระบบระบายอากาศ 12 ห้อง มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ ที่ช่วยวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและเครื่องมือเฉพาะทางต่างๆที่พร้อมใช้งาน ปัจจุบันมีทันตแพทย์ 11 คน ประกอบด้วยทันตแพทย์ทั่วไป 4 คน ทันตแพทย์เฉพาะทาง 7 คน ลาศึกษาต่อ 3 คน(ทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง, ทันตกรรมผู้สูงอายุ,ทันตกรรมจัดฟัน)
           เปิดให้บริการทันตกรรมทั่วไป ศัลยศาสตร์ช่องปาก รักษาคลองรากฟัน ปริทันตวิทยา ทันตกรรมประดิษฐ์ รากฟันเทียม ทันตกรรมสำหรับเด็กในรายที่ไม่ซับซ้อน ทันตกรรมจัดฟัน ทันตกรรมผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษที่ไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการสาธารณสุข ทันตาภิบาล 4 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้งหมด  คน  รับผิดชอบในงานส่งเสริมป้องกันในทุกกลุ่มวัยและงานเชิงรุกอื่นๆ เช่น คลินิกทันตกรรม ช่วยอดบุหรี่ เป็นต้น 
          มีการแบ่งโครงสร้างกลุ่มภารกิจทันตกรรมเป็น 3 กลุ่มงานดังนี้

1.กลุ่มงานบริการทันตกรรมปฐมภูมิและทุติยภูมิ 

2.กลุ่มงานบริการตติยภูมิและศูนย์ความเป็นเลิศ

3.กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพบริการและวิชาการทันตกรรม

          แผนพัฒนางานในปีงบประมาณ 2567 ดังนี้

1.เปิดให้บริการคลินิกนอกเวลาทันตกรรมเฉพาะทางเพิ่ม เพื่อเพิ่มรายได้เข้าสู่โรงพยาบาล

 2.พัฒนาระบบจองคิวทำฟันออนไลน์ เพื่อลดความแออัด

 3.ยกระดับศักยภาพงานทันตกรรมปฐมภูมิไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น
4.ลดระยะเวลารอคอยในการเข้าคิวรับบริการทันตกรรมเฉพาะทาง

ลดการรอคิวของผู้รับบริการ

        ทพญ.ชลลดา แดงสุวรรณ ทันตแพทยชำนาญการพิเศษ (เฉพาะทางทันตกรรมประดิษฐ์) รองหัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรมศูนย์ทันตกรรม รพ.หนองคาย กล่าวว่า รพ.หนองคาย ได้ใช้เงินบำรุงของ รพ. และเงินจากการบริจาคมาซื้ออุปกรณ์สำหรับงานทันตกรรมและปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นศูนย์ทันตกรรม รวม 12 เตียง ทั้งหมดเป็นห้องแยกความดันลบเหมือนในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่างๆ เมื่อจะใช้ห้องก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจหาเชื้อไวรัส ทำให้ประหยัดเวลาขึ้น ต่อไปหากเกิดโรคระบาดก็จะสามารถทำหัตถการที่ฟุ้งกระจายต่อได้ เช่น ขูดหินปูน อุด และถอนฟัน

ยกระดับบริการ “ทันตกรรม”ทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึง
        อย่างไรก็ตาม หลังการปรับปรุงเป็นศูนย์ทันตกรรมแล้วก็สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น จากเดิมเฉลี่ยวันละ 70 คน ตอนนี้รองรับได้ถึง 90 คนจนถึง 100 กว่าคนต่อวัน ซึ่งเป็นผู้ป่วยจากทุกสิทธิ ด้านอัตรากำลังศูนย์ทันตกรรม รพ.หนองคาย มีบุคลากร 33 คน แบ่งเป็น ทันตแพทย์ทั่วไป 4 คน ทันตแพทย์เฉพาะทาง 7 คน นักวิชาการสาธารณสุขและทันตาภิบาล 4 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ อีก 18 คน

       การยกระดับศูนย์ทันตกรรมเกิดขึ้นได้เพราะทาง รพ.หนองคาย มีความพร้อม เมื่อเปิดให้บริการก็ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ซึ่งปัญหาในการให้บริการขณะนี้คือคิวเฉพาะทางจะยาว เพราะทันตแพทย์เฉพาะทางยังมีจำนวนน้อย เช่น การครองรากฟัน ที่มีทันตแพทย์ 1 ท่าน ประกอบกับคนไข้มีความรู้ความเข้าใจในการเก็บฟันไว้มากขึ้น ไม่ตัดสินใจถอนแต่จะทำการครองรากฟันไว้ ทำให้มีคิวยาวขึ้น แต่ขณะนี้มีการคุยกันภายในระบบ รพ. เพื่อพัฒนาเขตสุขภาพที่ 8 ให้สามารถรองรับคิวผู้ป่วยครองรากฟัน โดยให้จองคิวจากส่วนกลาง รพ.ไหนคิวเร็วกว่าก็สามารถไป รพ.นั้นได้เลย   

       “ปัจจุบันงานทันตกรรมของ รพ.หนองคาย มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นมาก อย่างเช่นงานอุดฟัน หรือถอนฟัน เมื่อก่อนจะต้องนัดรอคิวเกือบเดือน แต่ตอนนี้เราสามารถรับวอล์กอินได้เลย นอกจากนั้น ผู้ป่วยยังสามารถจองคิวออนไลน์ได้ด้วย”ทพญ.ชลลดากล่าว