สธ. สั่งจังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม เตรียมรูปแบบบริการประชาชนให้เข้าถึงการรักษาได้
นพ.ณรงค์ รองปลัดสธ. ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วม กำชับจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ พร้อมเฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม ย้ำอำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงการดูแลรักษา เยียวยา ด้านส่วนกลางเตรียมพร้อมสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ลงพื้นที่
วันนี้ (4 ต.ค. 66) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์กรณี อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยทั้งบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง ภาคตะวันออกและภาคกลางบางจังหวัด โดยปัจจุบันยังมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ จาก 22 ลุ่มน้ำ จำนวน 4 จังหวัด คือ ตาก กาฬสินธุ์ ยโสธร และ อุบลราชธานี โดยมีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 15 แห่ง สามารถให้บริการได้ตามปกติ 14 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง ที่ รพ.สต.บ้านดอนยานาง จ.กาฬสินธุ์ ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้
1.จังหวัดที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่รับน้ำ ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อติดตามสถานการณ์ ประเมินผลกระทบ และรายงานสถานการณ์มายังส่วนกลาง
2.กรณีเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์รายงานเหตุการณ์สำคัญและฉุกเฉิน (Critical Information Requirements: DCIRs) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานมายังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน
3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ผลกระทบจาก “พายุใต้ฝุ่นโคอินุ” ระหว่างวันที่ 3-10 ตุลาคม 2566
4.มอบกรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังได้ย้ำให้หน่วยบริการในพื้นที่ปรับรูปแบบการให้บริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ อาทิ ระบบ Tele Medicine การจัดจุดบริการเป็นต้น รวมทั้งสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเส้นทางการเข้ารับบริการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน
นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานส่วนกลาง ได้เตรียมพร้อมสนับสนุนทรัพยากร เวชภัณฑ์ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบผ่านทางสำนักงานเขตสุขภาพ โดยสำรองยาชุดฯ และ ยาน้ำกัดเท้า ไว้ประมาณ 70,000 ชุด และองค์การเภสัชกรรมยังมีวัตถุดิบที่สามารถผลิตเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 100,000 ชุด
ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์ จากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ว่าทุกแห่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และยังคงให้ทุกหน่วยบริการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง