โรคจิตเวชในเด็ก 10 กลุ่ม โรคจิตเวชเด็ก ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
โรคจิตเวชในเด็ก 10 กลุ่ม โรคจิตเวชเด็ก ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม สัญญาณอาการที่ควรรีบพาพบจิตแพทย์ พร้อมช่องทางการเข้ารับคำปรึกษาแบบฟรี และเสียค่าใช้จ่าย ในภาครัฐและเอกชน
Keypoints:
- การเข้าพบจิตแพทย์เมื่อรู้สึกว่าตนเอง หรือคนใกล้ชิดมีปัญหาสุขภาพจิตหรือการเข้ารับการรักษา ควรเป็นสิ่งพื้นฐานธรรมดาเหมือนความเจ็บป่วยทางกายที่ต้องพบแพทย์ ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย และสังคมไม่ควรมีมุมมองในเชิงลบหรือตีตรา
- โรคจิตเวชที่พบบ่อย และ กลุ่มโรคจิตเวชเด็ก ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม รวมถึง อาการที่สังเกตได้ เป็นสัญญาณที่ควรพาเด็กและวัยรุ่นเข้าพบจิตแพทย์
- ช่องทางในการเข้ารับคำปรึกษาหรือรักษาปัญหาสุขภาพกับจิตแพทย์ มีทั้งระบบไม่เสียค่าใช้จ่าย และเสียค่าใช้จ่ายในภาครัฐและเอกชน
7 โรคจิตเวชที่พบบ่อย
โรคจิตเวช คือ กลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่าง ๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน หากพบความผิดปกติหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษาก่อนอาการรุนแรง ทั้งนี้ ข้อมูลจากรพ.เวชธานี ระบุถึง 7 โรคจิตเวชที่พบบ่อย ได้แก่
1. โรคซึมเศร้า (Depression)
อาการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าหรือเป็นภาระของผู้อื่น สมาธิแย่ลง หลงลืมง่าย เหม่อลอย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดหัว บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัวและไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หากมีอาการดังกล่าวมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการ
2.โรคแพนิก (Panic Disorder)
โรคแพนิค หรือ โรคตื่นตระหนก เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อสิ่งกระตุ้น จนเกิดอาการหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ จุกแน่น คล้ายจะเป็นลมหรือเหมือนกับจะถึงชีวิต แต่ละครั้งจะมีอาการประมาณ 10 – 20 นาที และหายเป็นปกติ แต่หากมีอาการแพนิกเกิดขึ้นแล้วมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการแพนิกเกิดขึ้นอีก คุมตัวเองไม่ได้ หมกมุ่น พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างชัดเจน ไม่กล้าไปไหนคนเดียว แนะนำควรรีบพบจิตแพทย์
3.โรคจิตเภท (Schizophrenia)
อาการผู้ป่วยโรคจิตเภท จะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน โดยจะแสดงออกด้วยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว หลงผิดหรือหวาดระแวง หากมีอาการนานเกิน 6 เดือนแล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้การรักษายากขึ้นและผลการรักษาไม่ดี เนื่องจากจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังยิ่งมารักษาช้าอาการจะยิ่งมากและรักษายากขึ้นเรื่อยๆ
4.โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder)
ซึ่งเป็นผลมาจากที่ผู้ป่วยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้เกิดความกลัวและกลัวว่าจะเกิดขึ้นซ้ำ จนมีอาการระแวง หวาดกลัว หรือตกใจง่าย ดังนั้นควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
5.โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างซึมเศร้าอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวังเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นแทบทุกวันและอารมณ์ดีเกินปกติหรือแมเนีย เช่น อารมณ์คึกคัก กระฉับกระเฉง อยากทำหลายอย่าง พลังงานเยอะ นอนน้อย ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เช่น อยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที หากมีคนขัดใจจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย เป็นต้น
6.โรคสมองเสื่อม (Dementia)
โรคสมองเสื่อม คือ ภาวะการทำงานของสมองแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยจะไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หลงลืมง่าย หรือเล่าเรื่องในอดีตได้แต่ไม่สามารถจำกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ พบมากในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
7.โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)
โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง คือ อาการหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรงหรือสถานการณ์บางอย่าง เช่น กลัวความสูง กลัวความมืด กลัวสัตว์บางชนิด กลัวเลือด ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะเป็นไปในทางหลีกเลี่ยง และหนีการพบเจอสิ่งนั้น ๆ อย่างทันทีทันใด ในรายที่รุนแรงอาจหวาดกลัวแม้เป็นเพียงการเอ่ยถึงหรือพบเจอสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน
10 กลุ่ม จิตเวชเด็ก
ความผิดปกติทางจิตเวชเด็ก แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มยังมีชนิด โรคจิตเวชในเด็ก ย่อยๆอีกหลายประการ ได้แก่
1.Mental Retardation หมายถึง การมีระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ต่ำกว่า 70 และทำให้ความสามารถในการดำรงชีวิตบกพร่องไป โดยเกิดขึ้นก่อนอายุ 18 ปี
2. ความผิดปกติของสมองในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ (Learning Disorders) เช่น เด็กมีปัญหาในการอ่านให้เข้าใจ ,เด็กมีปัญหาในเรื่องคณิตศาสตร์ ,เด็กมีปัญหาในการเขียนแสดงสื่อความหมาย
3. มีความผิดปกติของการประสานงานของกล้ามเนื้อ (Motor Skills Disorders)
4. มีความผิดปกติในด้านการสื่อสาร (Communication Disorders) ไม่ว่าภาษาพูด หรือภาษามือ (sign language) ซึ่งอาจเป็นเพราะความผิดปกติในด้านการแสดงออก การรับและตีความหมาย การออกเสียง ติดอ่าง เป็นต้น
5. ความผิดปกติในด้านพัฒนาการหลายด้าน (Pervasive Developmental Disorders) ได้แก่ การโต้ตอบเข้าใจภาษา การมีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดรอบข้าง และ การมีความคิดจินตนาการที่เหมาะตามวัย ซึ่งเด็กมักมาตรวจด้วยอาการไม่พูด ไม่ติดใคร
6. Attention-Deficit and Disruptive Behavior Disorders แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยๆคือ
- โรคซนสมาธิสั้น
- เด็กมีพฤติกรรมเกเรคล้ายอันธพาล
- เด็กมีอาการดื้อ ไม่เชื่อฟัง
7. ความผิดปกติในพฤติกรรมการกิน( Feeding and Eating Disorders of Infancy or Early Childhood) เช่น pica ( กินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารตามวัฒนธรรมนั้นๆ ), rumination disorder ( เคี้ยวกลืนแล้วขย้อนออก) หรือปัญหาในการป้อนอาหารจนเด็กไม่เติบโตตามเกณฑ์
8. Tic Disorders คือ อาการกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆอย่างไม่เป็นจังหวะ ( motor tics ) หรือการส่งเสียงหรือพูดคำต่างๆซ้ำๆ ( vocal tics )
9.Elimination Disorders คือความผิดปกติของการขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระ
10.อื่นๆ อาทิ ความกังวลต่อการต้องแยกจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ,เด็กไม่ยอมพูดกับคนนอกครอบครัว แม้แต่ที่โรงเรียน ,พฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็ก เช่น ดูดนิ้ว กัดเล็บ โขกศีรษะกับพื้น เป็นต้น
อาการที่ควรพาเด็กปรึกษาจิตแพทย์
หากเด็กและวัยรุ่นมีอาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณควรพบมาปรึกษาจิตแพทย์
ในเด็กเล็ก
- ผลการเรียนตกลงอย่างชัดเจนถึงพยายามอย่างมากแต่ผลสอบไม่ได้เท่าที่พยายาม
- ท่าทางวิตกกังวลอย่างมาก ซึ่งอาจแสดงออกโดยการไม่ยอมไปโรงเรียนบ่อยๆ หรือปฏิเสธไม่ยอมเข้าเรียน หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เด็กวัยเดียวกันมักทำ
- ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา มากกว่าการเล่นทั่วๆ ไป
- ฝันร้ายบ่อยๆ
- ดื้อ ไม่เชื่อฟัง หรือก้าวร้าว ต่อต้านผู้ใหญ่ เป็นประจำ และนานกว่า 6 เดือน
- มีร้องไห้ อาละวาดบ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้
ในเด็กโตและวัยรุ่น
- ผลการเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
- มีการใช้สารเสพติดหรือดื่มสุรา
- ไม่สามารถแก้ปัญหาและปฏิบัติงานประจำได้
- มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการนอน และ/หรือ การกินอย่างชัดเจน
- บ่นเรื่องอาการเจ็บป่วยทางกายมากมาย
- ก้าวร้าว หรือละเมิดกฎอย่างไม่ก้าวร้าว หรือละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ต่อต้านผู้ใหญ่ หนีโรงเรียน ทำลายข้าของสาธารณะ หรือลักขโมย
- กลัวความอ้วนอย่างมาก ทั้งที่รูปร่างหรือน้ำหนักจริงไม่เป็นเช่นนั้น
- มีอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งเห็นได้จาก มีอารมณ์ไม่แจ่มใสต่อเนื่อง มองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือคิดเรื่องตายบ่อยๆ
- อารมณ์โมโหรุนแรงอย่างควบคุมไม่ได้บ่อยๆ
ช่องทางในการเข้ารับบริการ
- คลินิกจิตเวช ในสถานพยาบาลของรัฐ และเอกชน
- รพ.เฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนเปิดให้บริการหลายแห่ง ส่วนที่สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่
- ภาคกลาง (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล)
1. สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา - กทม.
2. สถาบันราชานุกูล - กทม.
3. สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ - กทม.
4. สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ - กทม.
5. รพ.ศรีธัญญา - นนทบุรี
6. รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ - สมุทรปราการ
- ภาคเหนือ
1. รพ.สวนปรุง อ.เมือง จ. เชียงใหม่
2. สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
3. รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
2. รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
3. สถาบันพัฒนาการเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
4. รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ อ.เมือง จ.เลย
5. รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครพนม
6. รพ.พระศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก
1. รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
- ภาคใต้
1. รพ.สวนสราญรมย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
2. รพ.จิตเวชสงขลานครินทร์ อ.เมือง จ.สงขลา
อ้างอิง: กรมสุขภาพจิต ,คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ,รพ.เวชธานี