'ศิริราช'เปิดหอผู้ป่วยผู้หายป่วยระยะเฉียบพลัน

'ศิริราช'เปิดหอผู้ป่วยผู้หายป่วยระยะเฉียบพลัน

ศิริราชเปิดหอผู้ป่วยระยะเปลี่ยนผ่าน  เตรียมความพร้อมคนไข้ที่ไม่มีการรักษาโรคระยะเฉียบพลันและญาติก่อนกลับไปอยู่บ้าน เพื่อไม่ให้กลับมาป่วยซ้ำ -คนไข้ฟื้นตัวกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด

Keypoints:

  • การดูแลผู้ป่วยสูงวัยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional care) เป็นห่วงโซ่การบริการอย่างหนึ่งในวงการแพทย์ที่ขาดหายไป ยังเป็นเหมือนรูรั่วในการดูแลผู้ป่วย 
  • รพ.ศิริราชเปิดหอผู้ป่วยผู้ที่หายป่วย  โมเดลในการดูแลผู้ป่วยที่ ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จะต้องรับการรักษาในรพ.ระยะเฉียบพลันแล้ว  ทว่า ยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมคนไข้และญาติก่อนกลับไปอยู่บ้าน
  • ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ศูนย์กลางด้านวิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่เติมเต็มการดูแลผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย สู่ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน 

          ผศ. พญ. ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์. ความชำนาญพิเศษ. อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิทัศน์ของประชากรทั่วโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยมีการขยายตัวของจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในแต่ละปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) กล่าวคือมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเฉลี่ยเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) โดยจะมีผู้สูงวัยสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ

\'ศิริราช\'เปิดหอผู้ป่วยผู้หายป่วยระยะเฉียบพลัน

          คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาจึงศึกษาวิจัยและหาแนวทางวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผู้ป่วยสูงอายุอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี โดยการพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการดูแลรักษา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional care) หลังจากพ้นการรักษาในระยะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เริ่มมีอาการคงที่ให้มีความพร้อมเมื่อกลับสู่บ้านและสังคม เป็นเรื่องที่ศิริราชให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 ดูแลระยะเปลี่ยนผ่าน ห่วงโซ่ที่ยังขาด

       ผศ. พญ. ฐิติมา  กล่าวอีกว่า การดูแลผู้ป่วยสูงวัยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Care) หมายถึง Intermediate Care ซึ่งคนทั่วไปจะคุ้นชินกับภาพที่คนไข้ไม่สบายล้ว  นอนรพ.แล้วกลับบ้าน แต่สิ่งที่เป็นการดูแลระหว่างกลางตรงนี้ขาดหายไป  เพราะยังมีคนไข้ที่ไม่พร้อมกลับบ้าน แต่ไม่เหมาะที่จะอยู่รพ.แล้ว  อย่างเช่น ผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบหรือแตกเมื่อหมดข้อบ่งชี้ในการนอนรพ.ระยะเฉียบพลัน ทว่า ผู้ดูแลเมื่อกลับไปอยู่บ้านยังไม่มีความพร้อม ไม่รู้ว่าจะต้องดูแลอย่างไรต่อไป ส่วนคนไข้ก็ยังรู้สึกว่า เดิมสามารถทำอะไรด้วยตนเองได้ทุกอย่าง กลายเป็นตัวเองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย  ในเชิงจิตใจก็ไม่พร้อม

          การมี Intermediate Care จึงจะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ยังขาดหายในห่วงโซ่การดูแลได้ เพราะการดูแลผู้ป่วยสูงวัยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Care) คือการดูแลผู้ป่วยสูงวัยหลังจากพ้นการรักษาในระยะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เริ่มมีอาการคงที่ด้วยการดูแลและฟื้นฟูอย่างเป็นองค์รวมสำหรับแต่ละรายโดยเฉพาะ

     พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลต่อเนื่องอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วยและครอบครัวหรือผู้ดูแลเมื่อออกจากสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยซ้ำ ลดภาวะพึ่งพิง ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ถือว่าเป็นระยะที่เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ป่วยสูงวัยรวมถึงผู้ดูแลก่อนกลับสู่บ้านและสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช

      การดูแลผู้ป่วยสูงวัยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพผ่านบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านภายใต้ชื่อ Multidisciplinary team หรือทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อการวางแผนการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบแบบแผนที่ถูกต้อง ครอบคลุมการดูแลเป็นรายบุคคลที่มีภาวะอาการที่แตกต่างกัน

         ประกอบไปด้วย อายุรแพทย์ด้านผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักอรรถบำบัด นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น  ซึ่งนอกจากการดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาวะที่ดีแล้ว ทีมสหสาขาวิชาชีพยังมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วย ทั้งการให้องค์ความรู้ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ดูแลเกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติต่อผู้ป่วยสูงอายุได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพที่สุดเมื่อกลับสู่บ้านและสังคม

\'ศิริราช\'เปิดหอผู้ป่วยผู้หายป่วยระยะเฉียบพลัน

เป้าหมาย Intermediate Care

       ในต่างประเทศมีการเชื่อมการรักษาแต่ละขั้นอย่างราบรื่น โดยประเทศที่มีการอันดับการรักษาเป็นอันดับต้นๆ จะเน้นมากว่าไม่ใช่แค่เจ็บป่วยเฉียบพลันแล้วกลับบ้านเลย หรือเจ็บป่วยเฉียบพลันแล้วไปนอนศูนย์พักฟื้น แต่จะมีตรงกลางที่รพ.รัฐสามารถจัดระบบขึ้นมาได้ โดยอาจจะทำที่หอผู้ป่วยเดิมก็ได้  หรือจะแยกออกมาอีกจุดเป็นหอผู้ป่วย เพื่อมาให้บริการในส่วนนี้ 

     เป้าหมายหลักของการดูแล Intermediate Care คือ

1.เตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้กลับมาป่วยซ้ำ  หรือกลับมานอนรพ.โดยไม่จำเป็น ยกตัวอย่าง คนไข้รายหนึ่งติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเพราะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ดี  ต้องใส่สายสวนปัสสาวะกลับบ้านไป แต่ปรากฎว่า4-5วันกลับมารพ.ใหม่ด้วยโรคเดิม เป็นเพราะยังไม่ได้รับการเตรียมพร้อมในการกลับบ้าน เมื่อกลับบ้านคนไข้ชอบนอนบนฟูกเตี้ยๆที่ปูบนพื้น ทำให้สายปัสสาวะยกสูงกว่าตัวคนไข้ ปัสสาวะจึงไม่ออกและไหลย้อนกลับเข้าไปที่กระเพาะปัสสาวะ คนไข้จึงติดเชื้อซ้ำ

      “ถ้ามีจุดที่มาเติมเต็มรอยต่อที่หายไปตรงนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้คนไข้กลับมานอนรพ.ซ้ำ ด้วยปัญหาที่เส้นผมบังภูเขา หรือปัญหาเล็กๆน้อยๆที่คาดไม่ถึง ไม่น่าจะเกิดขึ้น ช่วยลดปัญหานี้ได้”ผศ.พญ.ฐิติมากล่าว 

2.ทำให้คนไข้ฟื้นตัวกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ในบริบทของคนไข้  อย่างผู้สูงอายุเมื่อป่วย จะมีภาวะเปราะบางที่ป่วยง่าย ต้องนอนรพ.และจะมีปัญหาตามมาจากการดูแลได้ไม่ครบถ้วน กลุ่มที่เปราะบางเมื่อป่วยแต่ละครั้งจะมีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองที่น้อยลง เช่น  เดิมยังเดินช้าๆได้ ไปรดน้ำต้นไม้ ให้อาหารแมว ทำกับข้าวง่ายๆได้ แต่เมื่อต้องเข้ารักษานอนรพ.ราว 14 วัน  ทำให้การช่วยเหลือตัวเองถดถอยไปเลยจนติดเตียงก็ได้

    แต่ถ้ามี Intermediate Care จะช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาในจุดที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามสภาพบริบทของคนไข้ 

หอผู้ป่วยผู้หายป่วยรพ.ศิริราช

        การดูแลผู้ป่วยสูงวัยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Care) ที่ศิริราชได้สร้างโมเดลของ Intermediate Care  เดิมมีดำเนินการเพียงแต่เจาะเพียงบางกลุ่มโรคและยังไม่ได้ทำเป็นแบบแผนทั่วไปให้เห็นในทุกโรคได้ ที่ผ่านมาอาจจะมีเพียงโรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แต่ไม่ได้หมายรวมถึงผู้สูงอายุทั้งหมด

       ซึ่งจริงๆแล้วผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลในระยะ Intermediate Care อย่างมาก คาดว่าผู้สูงอายุที่ป่วยเข้ารพ.ด้วยภาวะเฉียพลันแล้วจะต้องได้รับการดูแลระยะ Intermediate Care ราว 20 % เพราะความรู้ความเข้าใจในการดูแลคนไข้จะช่วยให้กลับมาแข็งแรงได้ ไม่ต้องกลับมานอนรพ.ซ้ำ

        ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2566 รพ.ศิริราช ได้มีการเปิดหอผู้ป่วยพิเศษเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะเปลี่ยนผ่านนี้ขึ้น ขณะนี้มี 10 เตียง  โดยพิจารณาคนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุและมีภาวะเปราะบาง จากการที่มีภาวะถดถอยของการใช้ชีวิต เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อต้องนอนรพ.และให้ออกซิเจนนาน ทำให้มีภาวะถดถอยไปมาก แต่ติดเชื้อหายแล้ว ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจแล้ว ไม่มีภาวะเฉียพลันที่จะเกิดอันตราย หรือ เส้นเลือกสมองตีบหรือแตก และผู้ป่วยทุกโรคที่มีภาวะการช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงหลังจากการป่วย

\'ศิริราช\'เปิดหอผู้ป่วยผู้หายป่วยระยะเฉียบพลัน

         เมื่อเข้ามาอยู่ที่หอผู้ป่วยนี้ ทุกคนจะต้องช่วยกัน  โดยมีญาติเป็นกำลังหลักในการดูแลและทำทุกอย่างเอง  พยาบาลไม่เช็ดตัว ไม่ป้อนยาให้คนไข้ เพราะเป้าหมายของที่นี่ต้องการโค้ชชิ่งผู้ดูแลให้สามารถดูแลคนไข้ให้เป็น หรือถ้าคนไข้ยังความจำดี ก็จะให้พึงดูยาของตัวเองและหยิบกินให้ถูกต้อง เพื่อที่เมื่อกลับบ้านจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

 นอกจากนี้ จะฝึกการใช้ชีวิตประจำวัน ฝึกเดิน ออกกำลังกาย กายภาพบำบัด ฝึกพูด กิจกรรมนันทนาการช่วยเรื่องจิตใจ เช่น ดนตรีบำบัด  นักจิตวิทยาคลินิกให้คำแนะนำกับคนไข้ที่เครียด  จะฟื้นฟูคนไข่ในทุกมิติ การดูแลจะเป็นแบบองค์รวม ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

         “บางคนอาจจะมองว่าหายป่วยไม่ต้องรักษาแล้วจะนอนรพ.ต่อทำไม  แต่การที่มีTransitional Care มีข้อมูลพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดการกลับมานอนรพ.ซ้ำ ลดอัตราการเสียชีวิต ลดภาวะพึ่งพิง”ผศ.พญ.ฐิติมากล่าว 

           ถ้ามองระยะยาวเมื่อคนไข้กลับบ้านแล้วช่วยเหลือตัวเองได้  ญาติก็ไม่ต้องลาออกจากงานมาเฝ้า คนไข้ไม่ต้องไปอยู่เนอร์สซิ่งโฮม สภาพจิตใจคนไข้ดีขึ้นเพราะได้กลับบ้าน มีความสุขที่กลับมาแข็งแรง จะสร้างเชิงคุณค่าได้มากขึ้นทั้งในแง่จิตใจและเศรษฐกิจ จึงอยากให้เป็นโมเดลที่ขยายไปในรพ.ทั่วประเทศ ปัจจุบันคนไข้สามารถรับบริการส่วนนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามสิทธิระบบประกันสุขภาพภาครัฐกรณีที่เป็นผู้ป่วยใน แต่ในอนาคตหวังว่าจะมีการปรับสิทธิประโยชน์ที่แยกเป็นบริการเรื่องของการดูแลระยะนี้โดยเฉพาะ

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช

        นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนพันธกิจหลักทั้งในด้านการบริการดูแลคนไข้ การศึกษาด้านการแพทย์ และการทำวิจัยนวัตกรรม โดยโครงการสร้าง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกลสำคัญที่เราได้วางเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่เติมเต็มการดูแลผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย สู่ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างระยะที่1 จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปลายปี 256

         “การที่ศูนย์นี้จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม ต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความสุขนี้ได้ด้วยการสมทบทุนบริจาคสร้าง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” เพื่อเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในการวางรากฐานระบบสาธารณสุข และเติมเต็มระบบการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตสู่เป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน” ผศ. พญ. ฐิติมา กล่าวสรุป

\'ศิริราช\'เปิดหอผู้ป่วยผู้หายป่วยระยะเฉียบพลัน

ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนสร้างศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ผ่านกองทุน“ศิริราชเพื่อผู้สูงวัย”  ดังนี้

1.  ศิริราชมูลนิธิ 3 สาขา ได้แก่

·       ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1  รพ.ศิริราช วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 07.30- 17.30 น. : วันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์  เวลา 08.30– 16.30 น. 

·       รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์  ชั้น 2 โซน B ทุกวัน เวลา 09.00 - 15.30 น. 

·       ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก  ชั้น G   (วันจันทร์ – เสาร์) เวลา 08.30- 16.30 น.  (ยกเว้นวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

2.  บริจาคผ่านธนาคารกรุงเทพ 901-7-06044-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ 016-4-57906-4 ธนาคารกสิกรไทย 063-3-16546-7   ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ (ศิริราชเพื่อผู้สูงวัย)

3. บริจาคผ่าน Application ธนาคารที่ท่านมีบัญชีเงินฝาก โดยสแกนผ่าน QR CODE

4. บริจาคผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS  DTAC และ True  โดยกด *984*100# โทรออก ร่วมบริจาคครั้งละ  100 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/SirirajAcg และเฟซบุ๊กแฟนเพจ งานองค์กรสัมพันธ์และกิจการพิเศษศิริราช โทร. 02-414-1555, 02-414-1888 (ในวันและเวลาราชการ)