ด่วน! เห็นชอบครอบครองยาบ้า ต่ำกว่า 5 เม็ด สันนิษฐานครอบครองเพื่อเสพ
มติร่วมทุกฝ่ายเห็นชอบกำหนดมียาบ้าต่ำกว่า 5 เม็ดสันนิษฐานครอบครองไว้เพื่อเสพ เข้ารับการบำบัดสมัครใจได้ เว้นสอบสวนพบมีพฤติกรรมค้าแม้มี 1 เม็ดก็มีความผิด
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมหารือร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพพ.ศ....ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย และศาลยุติธรรม เป็นต้น
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดปริมาณเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดว่าสันนิษฐานว่ามีไว้ใช้คอบครองเพื่อเสพ โดยจากนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ เสนอต่อนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงสาธารณสุข ตามที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯกำหนดให้รมว.สาธารณสุขลงนามในกฎกระทรวง
“ เบื้องต้นที่พิจารณาในวันนี้ ในส่วนของเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด หมายความว่า สันนิษฐานว่ามีไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อ แต่ถ้าสอสบสวนพบว่าไม่ใช่ครอบครองเพื่อเสพ แม้จะมีต่ำกว่า 5 เม็ดก็ผิดกฎหมาย"นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาครั้งนี้รับฟังและใช้เหตุผลทางวิชาการทางการแพทย์ มีทางตัวแทนของ สธ. ทั้งกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาให้ข้อมูลรายละเอียดองค์ประกอบของยา ผลกระทบจากขนาดของยา มาเป็นองค์ประกอบเบื้องต้น
และมีการรับฟังผลกระทบต่อมิติอื่นๆ เช่น ผู้บังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม มิติต่อสังคมที่เกิดจากปริมาณที่ต้องกำหนดจำนวนเม็ดเท่านั้นเท่านี้ จะเกิดผลกระทบต่อสังคม ชุมชน ระบบจัดการเรื่องกฎหมาย การบำบัด กระบวนการยุติธรรม และระบบราชทัณฑ์อย่างไร ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างครบถ้วนในการพิจารณา
เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงก่อความรุนแรง
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทธ์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุผลในทางการแพทย์มีข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมและข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า การใช้ตั้งแต่ปริมาณน้อยจนถึงเพิ่มมากขึ้น จะมีผลต่อสมองและระบบประสาทของผู้เสพแตกต่างกันไป โดยการในระดับที่มากกว่า 55 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดอาการทางจิต ชนิดหลงผิดแบบหวาดระแวง
การเสพจึงถึงจุดนี้จะเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการก่อความรุนแรง มีความเสี่ยงสูงต่อทำร้ายตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสังคม การอนุญาตให้ใช้ปริมาณที่สูงมากต่อครั้งต่อวัน เกินกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดฤทธิ์ต่อสมองในแบบที่หลงผิด และเพิ่มเสี่ยงทำให้สังคมไม่ปลอดภัย
มีต่ำกว่า 5 เม็ดไม่ใช่ไม่ผิด
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการเข้าใจว่าถ้ามีต่ำกว่า 5 เม็ดแล้วจะไม่มีความผิด พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันติวะชัย ผบ.ช.ปส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แม้จะเป็นการครอบครองเพื่อเสพ ก็มีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปี และ ไม่ได้หมายความคนที่ถือครองต่ำกว่า 5 เม็ดจะไม่มีความผิด หากในการสอบสวนพบว่ามีพฤติกรรมในการค้า แม้มีต่ำกว่า 5 เม็ด หรือมีเพียงเม็ดเดียวก็มีความผิด หากในการสอบสวนพบว่ามีพฤติกรรมในการค้า ซึ่งถ้าครอบครองที่ผิดกฎหมาย จำหน่าน ผลิต นำเข้า ส่งออก จะมีโทษตั้งแต่ 1ปี ถึง 10 ปี
หลักกฎหมายจะแบ่งความผิดเป็น 2 ประเภท คือ
1.ผิดเรื่องของเสพ จะเสพโดยตรงหรือครอบครองเพื่อเสพ
และ 2.ความผิดร้ายแรง ได้แก่ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง
เมื่อแยกคนตรงนี้ก็เป้นวิธีการในการปราบปรามผู้กระทำผิดให้รับโทษตรงตามข้อหาและความหนักเบา ซึ่งหากมีไม่เกิน 5 เม็ด จะสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ แต่ถ้าในการสืบสวนมีพฤติกรรมในการลักลอบจำหน่าย แม้จะครอบครอง 1 เม็ด ก็จะดำเนินคดีข้อหาจำหน่าย แต่มากกว่า 6 เม็ดขึ้นไปก็เป็นความผิดครอบครองยาเสพติดฐานหนึ่งแล้ว จะมีพฤติกรรมการค้าหรือไม่ ก็ต้องดูความจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดข้อหาไหน
“สมัยก่อนยังไม่มีการกำหนดตัวนี้ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดความยากลำบาก ในการดำเนินคดีกับผู้เสพผู้ใช้ต่างๆ เหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถที่จะเอากฎหมายข้อไหนมาบังคับคดีกับเขาได้ เมื่อครอบครองยาบ้าแม้กระทั่ง 50 เม็ด แต่บอกเอาไว้เสพนานๆ หลายๆ วัน ตำรวจทำอะไรไม่ได้ก็ต้องส่งไปบำบัดรักษา” พล.ต.ท.คีรีศักดิ์กล่าวว่า
รายงานข่าวระบุว่า ในการพิจารณากำหนดเรื่องการครอบครองสันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อเสพนั้น จะมีการพิจารณาในส่วนของยาเสพติดตัวอื่นๆต่อไปด้วย