วัคซีน'ปอดอักเสบในเด็ก' และอัปเดตกรณีเด็กจีนป่วยจำนวนมาก
อัปเดต ปอดอักเสบในเด็กที่จีน เชื้อเก่าที่ก่อให้เกิดในเด็กทั้งไวรัส-แบคทีเรีย บางตัวมีวัคซีนป้องกัน แต่บางตัวยังไม่มื พร้อมวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยต้องได้รับ
Key points:
- สร้างความหวาดหวั่นทั่วโลกเมื่อองค์การอนามัยโลก ขอให้จีนรายงานกรณีการป่วยปอดอักเสบในเด็กเป็นกลุ่มก้อน และมีจำนวนมากขึ้น และอัปเดตล่าสุดจากสธ.ไทย
- ปอดอักเสบในเด็ก ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อาจเกิดจากเชื้อตัวใหม่ได้ ขณะที่ปัจจุบันเชื้อที่ทำให้เด็กป่วยมีทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
- วัคซีนป้องกันโรค ที่จะช่วยป้องกันปอดอักเสบในเด็กด้วย บางตัวเด็กไทยได้รับฟรีเป็นวัคซีนพื้นฐาน แต่บางตัวยังเป็นทางเลือกที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินเอง
จากการระบาดของโรคปอดอักเสบในเด็กที่ประเทศจีน และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศจีน ออกแถลงการณ์เรียกร้องอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ให้รัฐบาลจีนมอบข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของโรคทางเดินหายใจ และคลัสเตอร์ของโรคปอดอักเสบในเด็ก
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันชัดเจนว่า โรคปอดอักเสบในเด็กที่ประเทศจีน เกิดจากเชื้อก่อโรคตัวเดิมที่ว่างเว้นการระบาดช่วง 3 ปีในช่วงของการเข้มงวดมาตรการโควิด-19
ในส่วนของไทย เพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อมาหารือ เพื่อเตรียมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคแล้ว
4มาตรการไทยพร้อมรับมือ
หากสถานการณ์มีความจำเป็น จะเพิ่มความเข้มข้นใน 4 มาตรการ คือ
1.มาตรการเฝ้าระวังโรค ให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว ติดตามสถานการณ์โรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด กรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรค
หากพบผู้ป่วยปอดอักเสบจำนวนมากผิดปกติ หรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นปอดอักเสบ หรือพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงเฉียบพลันหรือเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบสอบสวนและเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและควบคุมโรคต่อไป
2.มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ให้สื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน ทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ สำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
3.มาตรการด้านการรักษา ให้โรงพยาบาลเตรียมชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ยา เวชภัณฑ์และเตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินตามแผนการตอบโต้สถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เมืองท่องเที่ยว
4.กรณีพบการระบาดของโรคปอดอักเสบรุนแรงไม่ทราบสาเหตุเป็นวงกว้างในต่างประเทศ จะยกระดับการเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศที่สนามบินนานาชาติคัดกรองผู้มีอาการทางเดินหายใจและเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อก่อโรค รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ทันที
ไวรัส-แบคทีเรียเกิดปอดอักเสบในเด็ก
โรคปอดอักเสบในเด็ก หรือที่เรียกกันว่า โรคปอดบวม สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในปอด อาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา
เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อฮิบ หรือเชื้อไมโครพลาสมา เชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อ RSV ไข้หวัดใหญ่ ADENOVIRUS PARAINFLUENZA VIRUS เป็นต้น
เชื้อมักอยู่ในน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย และสามารถติดต่อได้หลายทาง ตั้งแต่การหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง บางส่วนอาจเกิดจากการสำลักอาหาร การแพร่กระจายตามกระแสเลือด หรือแพร่ผ่านจากมือคนซึ่งมีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ไปสู่อีกคน
โรคนี้พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะขาดอาหาร
ผู้ป่วยอาจจะมีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก ขณะหายใจมีชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม ในเด็กโตอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าออกลึก ๆ ร่วมด้วย และในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจส่งผลให้มีน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด มีฝีในปอดหรือมีภาวะหายใจล้มเหลวได้
ปอดอักเสบหลายครั้งใน 1 ปี
กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อซ้ำหลายครั้งใน 1 ปี หรือภายหลังได้รับการรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบหายใจเพื่อหาสาเหตุ โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการตรวจเพิ่มเติมโดยอาศัยภาพถ่ายรังสีขณะที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อในแต่ละครั้งที่ผ่านมา ว่าพบความผิดปกติที่ตำแหน่งเดียวกันตลอดหรือกระจายคนละตำแหน่งทั่วทั้งปอด
สาเหตุของการเกิดปอดอักเสบซ้ำในเด็กที่พบบ่อย เช่น
- การสำลักอาหาร
- การมีโครงสร้างผิดของหลอดลมหรือปอด
- การมีภาวะหลอดลมไวหรือมีอาการของโรคหืดร่วมด้วย
นอกจากนี้ การเกิดปอดอักเสบซ้ำในเด็กยังอาจเป็นผลมาจากโรคหัวใจ ภาวะที่ปอดพัฒนาไม่สมบูรณ์จากการคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และให้การรักษาป้องกันตามสาเหตุต่อไป
ผู้ปกครองสามารถมีส่วนช่วยในการป้องกันบุตรหลานจากโรคปอดอักเสบติดเชื้อได้ โดยการหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานโดยเฉพาะเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีคนแออัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป หมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อย ๆ เมื่อมีโอกาสสัมผัสเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย
วัคซีนป้องกันปอดอักเสบในเด็ก
สำหรับกรณีที่เกิดจากเชื้อไมโครพลาสมานั้นยังไม่มีวัคซีน แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อที่เป็นสาเหตุให้เกิดปอดอักเสบในเด็ก ได้แก่
1.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อายุที่ควรได้รับ เริ่มให้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดปีละครั้ง
2.วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต มีทั้ง PCV วัคซีน ,นิวโมคอคคัสวัคซีน,IPDวัคซีน อายุที่ควรได้รับ 2,4,6และ12-15 เดือน (วัคซีนเสริมที่ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง)
3.วัคซีนป้องกันโรคไอกรน อายุที่ควรได้รับ 2,4,6,18เดือน และ4-6 ปี 10-12 ปี จากนั้นให้ทุกๆ 10 ปี
4.วัคซีนฮิบ อายุที่ควรได้รับ 2,4,6,12-18 เดือน
5.วัคซีนหัด อายุที่ควรได้รับ 9-12 เดือน และ18เดือน
วัคซีนพื้นฐานที่เด็กต้องได้รับปี 66
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแผนงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือตารางการให้วัคซีนเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กฉีดวัคซีนพื้นฐานฟรี สำหรับปี 2566 ได้แก่
- วัคซีนวัณโรค หรือวัคซีนบีซีจี
- วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี
- วัคซีนโรคคอตีบ
- วัคซีนโรคไอกรน
- วัคซีนโรคบาดทะยัก
- วัคซีนโรคโปลิโอที่มีทั้งแบบชนิดรับประทานและชนิดฉีด
- วัคซีนโรคหัด
- วัคซีนโรคหัดเยอรมัน
- วัคซีนโรคคางทูม
- วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี
- วัคซีนโรคเอชพีวี
- วัคซีนโรคฮิบ
- วัคซีนโรต้า
อ้างอิง : กระทรวงสาธารณสุข ,คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ,รพ.ศิครินทร์