แก้หนี้คนสธ. ดอกเบี้ยบ้าน 2.6 % - สินเชื่อวงเงินสูงสุด 40 เท่า หนีหนี้นอกระบบ
สธ.ร่วมออมสินแก้หนี้บุคลากรสาธารณสุข ลดดอกเบี้ยบ้านเหลือ 2.6 % -สินเชื่อสวัสดิการวงเงินสูงสุด 40 เท่าของเงินเดือน ช่วยหลุดจากหนี้นอกระบบ เริ่ม 8 ธ.ค.นี้ พร้อมตั้ง"คลินิกสุขภาพการเงิน" เพิ่มวินัยทางการเงิน
Key points :
- กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับธนาคารออมสิน จัดแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน 2 โครงการ ลดดอกเบี้ยหนี้บ้าน เหลือ 2.6 % พร้อมจัดสินเชื่อวงเงินสูงสุด 40 เท่าของเงินเดือนแก้หนี้นอกระบบ
- สถานการณ์ทางการเงินบุคลากรสาธารณสุข รายจ่ายมากกว่ารายได้กว่า 34 % มีรายได้เพียงพอรายจ่าย แต่ไม่เหลือเก็บ 41 % เป็นหนี้ครัวเรือนราว 80 %
- เร่งเดินหน้านโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุข ต่อทั้งเรื่องการออกจากก.พ.เป็นกสธ. ค่าเสี่ยงภัย และค่าตอบแทนตามภาระงาน
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เป็นประธานมอบนโยบาย "แก้หนี้ เสริมกำลังใจ ให้คนสาธารณสุข" ในการประชุมชี้แจงแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศว่า ปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมดกว่า 5 แสนคน แม้ต่างสังกัด ต่างหน้าที่ แต่ก็ร่วมกันรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย ผ่านอุปสรรคและวิกฤตกันมาหลายครั้ง ดังนั้น การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ให้มีความมั่นคง มีสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ อย่างเหมาะสมทุกวิชาชีพ จึงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักและนโยบายที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ (Quick Win)
ลดดอกเบี้ยบ้าน-แก้หนี้นอกระบบ
จากการตั้งคณะทำงานเจรจาหาทางออกระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและธนาคารออมสิน ทำให้ได้ทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรสาธารณสุขครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างไม่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น เพื่อช่วยแบ่งเบาความทุกข์ในกลุ่มที่มีหนี้สิน ด้วยการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการสร้างวินัยทางการเงิน โดยจัดให้มี "คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน" และจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) 2 โครงการ เริ่มได้ 8 ธ.ค.2566
1. โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการใน 4 กลุ่ม คือ รีไฟแนนซ์ ซื้อบ้านหลังใหม่ ปลูกสร้าง และต่อเติมซ่อมแซม
จากข้อมูลพบว่าบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 15% เป็นหนี้บ้านประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 4.6% เฉลี่ย 9,583 บาทต่อเดือน ซึ่งดอกเบี้ยโครงการนี้อยู่ที่ 2.6% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคน 4,167 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3 พันล้านบาทต่อปี
2. โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ 4 รูปแบบ คือ
- สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น
- สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ,
- สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด
- และสินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ
จากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 40% เป็นหนี้เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 16% เฉลี่ย 2,666 บาทต่อเดือน ดอกเบี้ยโครงการอยู่ที่ 6.459% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคนได้ 1,584 บาทต่อเดือน
เซฟเงินได้ 5,700 บาทต่อเดือนต่อคน
และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3,042 ล้านบาทต่อปี โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะช่วยทำให้บุคลากรมีเงินเหลือเก็บ 5,751 บาทต่อเดือน และประหยัดค่าใช้จ่ายภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขได้กว่า 6,042 ล้านบาทต่อปี
ด้านพญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงของระบบสุขภาพ พร้อมไปกับการดูแลบุคลากรทุกคน ทุกระดับ และทราบถึงปัญหาภาระหนี้สินที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน จึงได้ตั้งคณะทำงานเจรจาหารือกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารออมสิน
ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา รวมกว่า 2 เดือน เพื่อให้ได้ข้อเสนอสวัสดิการทางการเงินที่ดีที่สุด ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย สร้างสภาพคล่องทางการเงิน เสริมกำลังใจ สร้างความมั่นคงให้ชาวกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนบุคลากรทุกคนที่ได้ทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยทั้งประเทศจนมีผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า การเสริมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ทั้งสวัสดิการ ความเป็นอยู่ และการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน จะช่วยให้บุคลากรมีความสบายใจ รู้สึกมั่นคงและมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้ปฏิบัติงานดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถขับเคลื่อนกระทรวงสาธารณสุขไปสู่เป้าหมาย องค์กรแห่งความสุข ได้อย่างแท้จริง
หนี้บุคลากรสาธารณสุข
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การเงินบุคลากรสาธารณสุข เรื่องหนี้สินจากการสำรวจเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มที่มีเงินออมสม่ำเสมอเพียง 1 ใน 4 มีแต่ไม่เหลือเก็บประมาณ 40 % ที่น่าห่วง คือ มีรายจ่ายมากกว่ารายรับถึง 34 %เป็นกลุ่มที่คงต้องดูและ ปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม บุลคากรสาธารณสุขเป็นกลุ่มที่มีหนี้สูญต่ำที่สุด
นอกจากนี้ มีหนี้สินครัวเรือนราว 80 % แยกเป็นหนี้สหกรณ์ 49.90 % หนี้บ้าน 29.90 % หนี้รถ 11.10 % หนี้การศึกษา 1.20 % และอื่นๆ 8.30 %
สำหรับแผนความมั่นคงทางการเงินในครั้งเป็นชุดแรก ยังมีการเตรียมอีกหลายชุด โดยรายละเอียด 2 โครงการนั้น ในส่วนของโครงการความมั่นด้านที่อยู่อาศัย สามารถเข้าร่วมได้ทั้งกรณีรีไฟแนนซ์ ไม่จำกัดวงเงินของเงินต้นที่เหลืออยู่ การซื้อบ้านหลังใหม่ การปลูกสร้าง และการต่อเติมซ่อมแซม กรณีเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารและหน่วยงานเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน ทางเลือกที่ 1ทำประกันชีวิต ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.6 % ทางเลือกที่ 2 ไม่ทำประกันชีวิต ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ย 2.95 %
ทางเลือกที่ 3 กรณีเงินเดือนไม่ผ่านบัญชีธนาคารและหน่วยงานเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน ทำประกันชีวิต เดือน 1-6 อัตราดอกเบี้ย 1.99 % เดือน 7-12 อัตราดอกเบี้ย 3.31 % และปีที่ 2-3 อยู่ที่ 4.075 %
วงเงินสูงสุด 40 เท่าของเงินเดือน
วุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลเรื่องแก้หนี้นอกระบบ ถ้าตอนนี้มีหนี้นอกระบบไม่ถึง 1 แสนบาท สามารถมาใช้สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ ความมั่นคงทางการเงิน สามารถกู้ได้ไม่เกิน 2 แสนบาท ดอกเบี้ย 0.70-0.75 %ต่อเดือน จะเป็นตัวที่ช่วยชั่วคราว เพราะตอนนี้หนี้นอกระบบดอกเบี้ยค่อนข้างสูงมาก
หากเป็นสินเชื่อเกี่ยวกับบ้าน ราคาประเมินก็จะให้สูงกว่าทั่วไป อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทั่วไป ประมาณ 1 % และจากข้อตกลงกับกระทรวงให้ช่วยหักเงินเดือนนำส่ง จะมีส่วนต่าง สินเชื่อทั่วไป 50 สตางค์ แต่ถ้ามีเงินเดือนผ่านธนาคารออมสินด้วยก็จะลดไปอีกประมาณ 1 บาท
รวมทั้ง สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ หากมีการเปิดบัญชีไว้ จะมีสินเชื่อที่เป็นเหมือนวงเงินหมุนเวียนเอาไว้ใช้เมื่อมีความจำเป็นให้ 15 เท่าของเงินเดือน ไม่เกิน 1ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทั่วไป ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ทบทวนทุกปี
และสินเชื่อสวัสดิการ อุปโภคบริโภค ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ถ้ามีความจำเป็นอเนกประสงค์ จะใช้ซื้อรถ หรืออื่นๆ วงเงินจะอยู่ที่ ไม่เกิน 40 เท่าของเงินเดือน ไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ถ้าใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะได้ 5 ล้านบาท ระยะผ่อน 15 ปี
เร่งเดินหน้าสวัสดิการอื่นๆ
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ทุกปัญหาอุปสรรค และมีความจริงใจที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาให้กับบุคลากร อย่างเรื่องเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ที่รองบประมาณเพิ่มเติมจาก ครม. ก็ได้ติดตามมาตลอด, เรื่องตำแหน่งงาน มีการช่วยเหลือบรรจุให้เสมอภาคทางสายอาชีพ ความก้าวหน้าทางสายงาน เช่น การกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการพิเศษ การบรรจุผู้ได้รับจ้างงานอื่นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับราชการ
รวมทั้ง การแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา แต่กำลังเร่งดำเนินการ เพื่อให้อนาคตมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการกรอบอัตรากำลัง การทำผลงานวิชาการ ส่วนเรื่องภาระงานล้น บุคลากรน้อย การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน จะช่วยลดภาระงานได้ส่วนหนึ่ง
“ตามนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเป็น 25,000 บาทนั้น จะดำเนินการปรับฐานเงินเดือนได้หากประเทศมี GDP อยู่ที่ 5 %” นพ.ชลน่านกล่าว