‘30 บาทอัปเกรด’ เพิ่มการบริการ-ความสะดวก อะไรบ้าง?
สปสช. เตรียมปฏิรูป 'บูรณาการข้อมูล-เพิ่มความสะดวก' รองรับ '30 บาทอัปเกรด'อำนวยความสะดวกให้ประชาชน-หน่วยบริการผ่านสายด่วน สปสช.1330 ยกระดับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เสริมเทคโนโลยีตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้นเมื่อมีความเสี่ยง
จากนโยบายยกระดับ "30 บาทรักษาทุกโรค" หรือ "30 บาทอัปเกรด" ของรัฐบาล เป็นนโยบายที่ต้องการปฏิรูประบบสุขภาพอีกครั้ง ซึ่งมีสาระสำคัญเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะการเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้ารับบริการ เนื่องจากยังพบปัญหาในการเข้ารับบริการของประชาชน แม้ว่าที่ผ่านมาจะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการให้บริการตามสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่าอย่างไรก็ดี ภายใต้ นโยบาย 30 บาทอัปเกรด สปสช. จะปฏิรูป 2 เรื่อง ได้แก่ บูรณาการข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปยังหน่วยบริการที่เคยลงทะเบียนไว้ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนให้ได้รับบริการตามที่ตกลงกันไว้ผ่านสายด่วน สปสช. 1330
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'หัวใจสลาย' อกหัก เสียใจ เศร้าใจ เครียดรุนแรง อันตรายถึงชีวิตได้
เพิ่มบริการ ความสะดวกสบาย 30บาทอัปเกรด
กรณีใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการที่ไหนก็ได้ อาจจะติดขัดหรือหน่วยบริการยังไม่สามารถให้บริการได้ ประชาชนสามารถติดต่อเข้ามาที่ สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่หาหน่วยบริการในบริเวณใกล้เคียง เช่นเดียวกับหน่วยบริการหากเกิดความไม่เข้าใจเรื่องการเบิกจ่ายก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกเรื่องการเพิ่มสถานพยาบาล แม้ที่ผ่านมาการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อลงไปสำรวจก็ยังพบปัญหาความแออัดในการเข้ารับบริการ ฉะนั้น สปสช. จึงพยายามอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น เช่น การดึงร้านยา คลินิกการพยาบาล เข้ามาอยู่ในระบบ ให้บริการกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถใช้บริการได้ที่ร้านยาและคลินิกการพยาบาลที่เข้ารวมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น
“ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการประสานไปยังคลินิกวิชาชีพให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้บริการประชาชนที่อาจจะสะดวกไปรับบริการนอกเวลาราชการเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นคลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาล รวมถึงคลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น เข้ามาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ” นพ.จเด็จ ระบุ
ดึงเทคโนโลยีสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP)
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในระยะต่อไป สปสช. จะเน้นการยกระดับเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ให้มากขึ้น เช่น ในนโยบายมะเร็งครบวงจร ก็จะเริ่มตั้งแต่การดูแลสร้างเสริมสุขภาพ รักษา ฟื้นฟู รวมไปถึงการดูแลระยะท้าย การตรวจสมรรถภาพปอดเมื่อถึงวัยที่มีความเสี่ยง หรือการได้รับวัคซีนตามช่วงวัย ซึ่งเมื่อได้รับการคัดกรองแล้วเกิดการเจ็บป่วยก็จะมีการนำเข้าสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ สปสช. ก็จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมสำหรับกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีความจำเป็นต้องได้รับการคัดกรองเบื้องต้น เช่น การตรวจมะเร็งปากมดลูก ที่ขณะนี้ประชาชนสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจได้เองโดยไม่ต้องเข้าไปรับบริการในสถานพยาบาล หรือการตรวจยีนผ่านเสมหะเพื่อคัดกรองความเสี่ยงวัณโรค นอกเหนือจากการเอกซเรย์ปอด เป้นต้น
“ทั้งหมดคือภาพรวมของนโยบาย 30 บาทอัปเกรดที่จะเกิดขึ้น ขอให้ติดตามและก็ให้กำลังใจกับทีมงานทุกคนในการร่วมกันยกระดับครั้งนี้ให้สำเร็จ” นพ.จเด็จ กล่าว