สปสช. ตั้งเป้า เพิ่ม 'ร้านยาดูแลสิทธิบัตรทอง' อีก 5,000 แห่งทั่วประเทศ
สปสช. ลงพื้นที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ชมการบริการร้านยาคุณภาพ ให้บริการสิทธิบัตรทองเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาไม่มีค่าใช้จ่าย เผยปีหน้าต้องการร้านยาเป็นหน่วยบริการ วางเป้า 5,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมวางระบบเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นใน 3 วัน
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (รองเลขาธิการ สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร้านยา ศิริลักษณ์เภสัช ต.โคกงาม อ.ด่านซ้าย จ.เลย เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการร้านยาที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิตามนโยบายเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ (Common Illnesses) และบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (P&P) เพื่อให้บริการกับประชาชนสิทธิ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) และสิทธิอื่นๆ
โดยมี ภญ.ศิริรักษ์ กันยะกาญจน์ เภสัชกรประจำ และเจ้าของร้านยาศิริรักษ์เภสัช กล่าวว่า ร้านยาศิริรักษ์เภสัช เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของ สปสช. ใกล้บ้านใกล้ใจ เพื่อให้บริการประชาชนโครงการเภสัชกรรมปฐมภูมิเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการรับยาที่ร้านยาได้ และบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (P&P) ให้กับประชาชนใน 2 อำเภอที่อยู่ข้างเคียง คือ อ.ด่านซ้าย และอ.ภูเรือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 40 % ไม่เคยเข้ารับบริการ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค
- ขยายหน่วยบริการเพิ่มใน 4 จังหวัดนำร่อง 'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่'
- ‘ขาเทียม’ฟรี ! ผู้พิการทุกคน-ทุกสิทธิรักษา-ทุกเชื้อชาติ
ทั้งนี้ ร้านยาศิริรักษ์เภสัช เข้าร่วมทั้ง 2 โครงการเมื่อกลางปี 2566 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่ที่มารับบริการที่ร้านยา และทำให้ร้านยาเป็นที่รู้จักของชุมชน โดยเฉลี่ยจะมีประชาชนสิทธัตรทอง 30 บาท มาขอรับบริการรับยาที่ร้านยา และรับคำปรึกษากับเภสัชกรประจำร้านยาประมาณ 15 คนต่อวัน
ซึ่งส่วนใหญ่จะมาหาด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นไข้ มีอาการไอ เป็นหวัด หรือเจ็บคอ อีกทั้ง บางส่วนยังมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ รวมถึงอาการทางผิวหนัง ผื่นคัน บาดแผล เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนทำไร่ และในผู้สูงอายุจะมีเรื่องอาการปวดท้องกระเพาะอาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาวะขัด เป็นต้น
โดยผู้ป่วยเมื่อรับยากลับไปแล้ว เภสัชกรจะติดตามอาการภายใน 3 วันผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ หรือติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ หากอาการไม่ดีขึ้นก็จะเขียนใบส่งตัวเพื่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน คือ โรงพยาบาลภูเรือ ซึ่งบริการทั้งหมดจะไม่มีค่าใช้จ่ายกับประชาชนสิทธิบัตรทอง
“ที่สำคัญโครงการนี้ยังทำให้เภสัชกรได้ใช้ความรู้ความสามารถในบทบาทของวิชาชีพเภสัชกรชุมชน ในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน อีกทั้ง คนไข้ที่มาหาก็ไว้วางใจ บอกเล่าอาการกับเภสัชกรอย่างละเอียดมากขึ้น เภสัชกร จึงได้ทำหน้าที่ค้นหาปัญหา และดูแลคนไข้ได้ตรงจุด รวมไปถึงวางแผนการรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้” ภญ.ศิริรักษ์ กล่าว
ภญ.ศิริรักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่การเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดยขณะนี้ สปสช. จะจ่ายค่าบริการให้กับร้านยาหลังจากส่งข้อมูลการให้บริการ และมีการตรวจสอบเสร็จสิ้นไม่เกิน 15 วัน ทำให้ร้านยาสามารถบริหารจัดการได้อย่างดี
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เชิญชวนร้านยาคุณภาพเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อดูแลประชาชนสิทธิบัตรทอง เป้าหมายเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยสามารถไปรับยาที่ร้านยาคุณภาพที่ใกล้บ้าน และได้รับคำแนะนำการดูแลสุขภาพจากเภสัชกรในชุมชน รวมไปถึงหากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ก็สามารถมาพบกับเภส้ชกรที่ร้านยาเพื่อสอบถามอาการเจ็บป่วย และจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ร้านยาศิริรักษ์เภสัช พบว่า ประชาชนพึงพอใจการรับบริการในโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการที่ร้านยาคุณภาพ เนื่องจากเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาลในอำเภอที่มีระยะทางไกลออกไป เพราะบางกลุ่มโรคที่เจ็บป่วยเล็กน้อย หากได้ยาบรรเทาก็หายได้ เช่น เกิดความเครียด ปวดหัว เมื่อได้กินยา และพักผ่อนตามคำแนะนำของเภสัชกร อาการก็จะดีขึ้น ดังนั้น การมีร้านยากระจายในทุกชุมชนจึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน
ปี 67 ตั้งเป้าเพิ่ม 5,000 แห่ง
ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า สปสช. เตรียมหารือกับสภาเภสัชกรรม เพื่อเชิญชวนร้านยาทั่วประเทศที่มีจำนวน 17,000 แห่ง มาเข้าร่วมให้บริการเพิ่มเติม โดยในปี 2567 ตั้งเป้าหมายให้มีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวน 5,000 แห่ง และให้มีร้านยาที่ร่วมบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการอย่างน้อยกระจายอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เนื่องจากบางจังหวัดมีหลายอำเภอ จึงอยากให้มีบริการร้านยาที่ทั่วถึงทุกพื้นที่ และในอนาคตก็ตั้งเป้าหมายให้ร้านยาทุกแห่งเข้ามาร่วมให้บริการ
“นอกจากนี้ สปสช. ยังพัฒนาการเบิกจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการ อย่างเช่น ร้านยาคุณภาพที่เข้าร่วมโครงการให้รวดเร็วขึ้น โดยหากมีการบันทึกข้อมูลการให้บริการกลับเข้ามาในระบบแล้ว จะมีการจ่ายเงินค่าบริการให้กับหน่วยบริการภายใน 3 วัน ซึ่งกระบวนการที่รวดเร็วขึ้นจะช่วยดึงดูดให้ร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้นในอนาคต” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ในส่วนความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ น.ส.ปานพัชร ทองนวล ประชาชนตำบลโคกงาม อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่มาใช้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ที่ร้านยาศิริรักษ์เภสัช กล่าวว่า โครงการนี้ดีอย่างมากเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ เพราะหากมีอาการเจ็บป่วยก็สามารถมาร้านยาและปรึกษากับเภสัชกรได้อย่างเต็มที่และรับยากลับบ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยที่ผ่านมาหากไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ก็ต้องจ่ายค่ายาเองประมาณ 100 บาท
เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ
ขณะที่ นายสิทธิชัย สมมุ่ง ชาวจ.นครศรีธรรมราช แต่ย้ายมาอาศัยและทำการเกษตรที่อ.ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งเข้ารับบริการเช่นกัน กล่าวว่า มีอาชีพกรีดยางทำสวน และมักจะเจ็บปวดกล้ามเนื้ออยู่บ่อยครั้ง ปกติเมื่อมีอาการมักจะไปร้านยาเพื่อซื้อยามากินเอง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เข้ารับบริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการที่ร้านยา ซึ่งก็ได้รับความสะดวกอย่างมาก มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และที่สำคํญไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลภูเรือ ที่อยู่ห่างจากบ้านพักกว่า 15 กิโลเมตร แต่มาร้านยาในชุมชนใกล้บ้านที่อยู่ไม่เกิน 2 กิโลเมตร ก็ทำให้สะดวกมากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอย่างมาก
สำหรับกลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ประกอบด้วย
1. ปวดหัว
2. เวียนหัว
3. ปวดข้อ
4. เจ็บกล้ามเนื้อ
5. ไข้
6. ไอ
7. เจ็บคอ
8. ปวดท้อง
9. ท้องผูก
10. ท้องเสีย
11. ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ
12. ตกขาวผิดปกติ
13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน
14. บาดแผล
15. ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา
16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู