สำเร็จตามเป้า!สธ.โชว์ 10 นโยบาย Quick Win 100 วัน

สำเร็จตามเป้า!สธ.โชว์ 10 นโยบาย Quick Win 100 วัน

'รมว.ชลน่าน' โชว์ 10 นโยบาย Quick Win 100 วัน สำเร็จตามเป้า ทั้งมะเร็งครบวงจร ฉีดวัคซีน HPV กว่า 1 ล้านโดส อบรมทีม Care D+ กว่า 1 หมื่นคน ตั้งรพ. 120 เตียง 2 แห่ง นำร่อง 4 จังหวัดบัตรปชช.รักษาทุกที่ สร้างเครือข่ายราชทัณฑ์ปันสุข มินิธัญญารักษ์ สถานชีวาภิบาล Blue Zone ครบตามเป้าหมาย

Keypoint:

  • 'ชลน่าน'โชว์ 10 นโยบาย Quick Win 100 วัน สำเร็จตามเป้าหมาย เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิต มิติสุขภาพของประชาชน
  • ครบตามเป้าหมาย ตั้งรพ. 120 เตียง 2 แห่ง 'ดอนเมือง-เมืองเชียงใหม่' นำร่อง 4 จังหวัดบัตร ปชช.รักษาทุกที่ สร้างเครือข่ายราชทัณฑ์ปันสุข มินิธัญญารักษ์ สถานชีวาภิบาล Blue Zone และ Sky Doctor 
  • สธ.มอบของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน การพาหมอไปหาประชาชน ฉีดวัคซีน HPV และเดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ พร้อมย้ำ3 D ‘Drink  Don't Drive’ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ

วันนี้ (27ธ.ค.2566)นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.)  แถลงผลสำเร็จ Quick Win 100 วัน ว่า ตามที่สธ.ได้ประกาศนโยบายด้านสาธารณสุขไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2566 เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิติสุขภาพของประชาชน ยกระดับ 30 บาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบบริการ และคุณภาพชีวิตของประชาชน มีทั้งหมด 13 ประเด็น  ซึ่งได้มีการกำหนดแผนปฎิบัติการเร่งรัดให้สำเร็จภายใน 100 วัน หรือ Quick Win จำนวน 10 ประเด็นนั้น

ขณะนี้ บุคลากรของสธ.ทุกภาคส่วน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ระดับบริหาร และระดับปฎิบัติ ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนงานที่ได้รับมอบหมายตามนโยบาย ได้ครบทั้ง 10 ประเด็น ดังนี้ 

1.มะเร็งครบวงจร เราตั้งเป้าหมาย ฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแก่ผู้หญิงไทย อายุตั้งแต่ 11-20 ปี หรือนักเรียนป.5 ขึ้นไป จนถึง อายุ 20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส หรือ 1 ล้านเข็ม โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.2566 ซึ่งภายใน 1 เดือนครบตามกำหนด และให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีน HPV ไปแล้ว 1,391,825 โดส หรือ 139.2%

 

อบรมทีม Care D+ ตั้งเครือข่ายราชทัณฑ์ปันสุข

2. การสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรผู้ปฎิบัติงานของสธ. โดยมีการอบรม พัฒนาศักยภาพของทีม Care D+ ทีมดีต่อใจในหน่วยบริการทุกระดับ ช่วยทำหน้าที่เสมือนเป็นญาติเฉพาะกิจ เชื่อมประสานใจระหว่างผู้ป่วย ญาติและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนในระบบบริการสาธารณสุข  ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่สนใจจำนวนมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 คน โดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมอบรม 16,500 คน  และมีผู้อบรมสำเร็จแล้ว 10,127 คน  อีกทั้งมีความก้าวหน้าในการบรรจุพยาบาลเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายที่ตั้ง 50% จาก 3,318 อัตรา ขณะนี้มีการบรรจุแล้ว 2,433 อัตรา คิดเป็น 73.3%

นอกจากนั้น มีการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการพิเศษ 10,120 ตำแหน่ง ดำเนินการแล้ว 9,489 ตำแหน่ง  คิดเป็น 93.73% และมีมติสำหรับแพทย์ที่ไปเรียนต่อเฉพาะทาง 13 สาขา ปกติ แพทย์ที่ลาศึกษาต่อ จะไม่มีการขึ้นเงินเดือน แต่ขณะนี้ มีการเห็นชอบ 13 สาขา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์ไปเรียนในสาขาเหล่านั้น ซึ่งทั้ง 13 สาขา  เป็นสาขาเมื่อเข้ารับการศึกษาและเป็นแพทย์ประจำบ้านแล้ว จะได้รับการขึ้นเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสวัสดิการอื่นๆ เหมือนทำงานปกติ 

3. โครงการพระราชดำริฯ โครงการเฉลิมพระเกียรติ และโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ จะคัดกรองมะเร็งในผู้ต้องขังทุกคน พร้อมทั้งมีการจัดตั้งเครือข่ายราชทัณฑ์ปันสุขครบทั้ง 12 เขตสุขภาพ พัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 11 แห่ง  รวม 32 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ ผ่านระดับเงิน และผลักดันสุขศาลาพระราชทานให้ผ่านการรับรองคุณภาพบริการทุกแห่ง และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ  

 

10นโยบายสำเร็จ ตามเป้าที่กำหนดไว้ 

4.โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาลและปริมณฑล จะจัดตั้งโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง 2 แห่ง ในเขตดอนเมือง  และจ.เชียงใหม่ เป็นการเพิ่มการเข้าถึงการบริการแก่พี่น้องประชาชน

5.สุขภาพจิต/ ยาเสพติด เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ได้มีจะตั้งศูนย์ธัญญารักษ์ทุกจังหวัด (มินิธัญญารักษ์) มีหอผู้ป่วยจิตเวช และยาเสพติด กลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ  ครบ 76 จังหวัด จำนวน 92 โรงพยาบาล มีเตียงรองรับ 1,458 เตียง

6.สถานชีวาภิบาล หรือสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียงมีการจัดตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง ตั้ง Hospital at Home หรือ Homeward จังหวัดละ 1 แห่ง ขณะนี้จัดตั้งได้ครบแล้ว รวม 137 แห่ง ใน 44 จังหวัด และมีคลินิกผู้สูงอายุครบทุกโรงพยาบาล รวมถึงมีแนวทางที่จะทำงานร่วมกับสำนักพระพุทธศาสนา จัดตั้งสถานชีวาภิบาลในวัด โดยตั้งเป้า 1 อำเภอ 1 วัด และมีการทำบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักพระพุทธศาสนา และวัด ในวันที่ 29 ก.พ.2567

7.บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ (One Card Anywhere)  เป็นการยกระดับ 30 บาท นำร่อง 4 เขตสุขภาพ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบนที่จ. แพร่ เขตสุขภาพที่ 4 ภาคกลาง ที่ จ.เพชรบุรี เขตสุขภาพที่ 9 ภาคอีสานตอนใต้ ที่ จ.ร้อยเอ็ด และเขตสุขภาพที่ 12 ภาคใต้ตอนล่าง ที่จ.นราธิวาส, โดยจะมีการเชื่อมข้อมูลครบ 100 % ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านยา และพร้อมเปิดบริการนำร่องในวันที่ 10 ม.ค.2567 นี้   นอกจากนั้น จะมีโรงพยาบาลอัจฉริยะ 200 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับเงิน 799 แห่ง จากโรงพยาบาล 901 แห่ง คิดเป็น 88.68 % และพัฒนา Virtual Hospital 1 แห่ง

8.ส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ได้มีการจัดทำร่าง และเสนอคณะรัฐมนตรี เข้าสู่วาระแห่งชาติเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วน มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรจังหวัดละ 1 แห่ง และคัดกรองโรคหายากในทารกแรกเกิด 24 กลุ่มโรค

9.เศรษฐกิจสุขภาพ จะพัฒนาชุมชนสุขภาพดี หรือ Blue Zone เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ขณะนี้ ได้ครบทั้ง 12 เขต รวม 20 แห่ง โดยมี 7 ตัวชี้วัดชัดเจนในการประกาศเป็นเมืองสุขภาพดี คือ  กินดี อยู่ดี อารมณ์ดีสติปัญญาดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี และระบบบริการสุขภาพที่ดี , ขึ้นทะเบียน Wellness Center 500 แห่ง, อนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ สร้างงานสร้างอาชีพ เช่น นวดไทย Caregiver Care Assistant

10.นักท่องเที่ยวปลอดภัย มี Safety Tourist เขตสุขภาพละ 1 แห่ง และมี Sky Doctor หรือระบบแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ ในเรื่องนี้ ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะนโยบายรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว เราจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วมีความปลอดภัย

น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองสธ.ได้มีการมอบของขวัญปีใหม่ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่ การพาหมอไปหาประชาชน จะมีการคัดกรองมะเร็ง ลดการเสียชีวิตตับและท่อน้ำดี , เต้านม, ปากมดลูก,ลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และช่องปาก  ,คัดกรองสายตาเด็ก, ผ่าต้อกระจกผู้สูงอายุ ,ขูดหินปูน, อุดฟัน ,ถอนฟัน, ผ่านิ้วล็อค ,ทำขาเทียม

นอกจากนั้น ยังมีการฉีดวัคซีน HPV ปกป้องหญิงไทยจากมะเร็งปากมดลูก เดินหน้าฉีดเพิ่มอีก 1.6 ล้านคน รวมถึงเดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ โดยวันจันทร์ที่ 8 ม.ค. 2567 จะเป็นวันเริ่มต้น หรือ Kick off พร้อมกัน ใช้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจุดเปิดนอกสถานที่และเปิดระบบออนไลน์ไปยังอีก 3 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรีและนราธิวาส  และในเดือนมี.ค.2567  เพิ่มจ.เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา

น.ส.ตรีชฎา  กล่าวต่อว่า สธ.ได้ประกาศนโยบาย  3 D ‘Drink  Don't Drive’ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อลดอุบัติเหตุ โดยระบุว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566  (29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566) ที่ผ่านมา สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุถึง 2,440 ครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ 2,437 ราย และ ผู้เสียชีวิต 317 ราย ที่น่าตกใจ คือ ในจำนวนคดีที่เกิดอุบัติเหตุมากกว่า ร้อยละ 96 หรือประมาณ 8,567 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา จนถึงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2566 ในช่วง 7 วันอันตราย (11-17 เมษายน 2566) ก็เช่นเดียวกัน มีคดีขับรถขณะเมาสุรามากถึง 8,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.69 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงและอันตรายมาก รวมถึงจะมีการแจกยาดม เบญจเชื่อมจิต ตามด่านพักรถ ประมาณ 3 แสนชิ้น และมีการแจกยาแก้ไอ  ยาหอม เพื่อลดอันตราย เป็นความห่วงใย และของขวัญปีใหม่จากสธ.