คิกออฟคัดกรองมะเร็งปากมดลูก “HPV DNA Test”ตรวจด้วยตนเอง
มะเร็งปากมดลูก 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย สธ.คิกออฟ “โครงการรณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย FINDING HPV STOP CERVICAL CANCER” ใช้นวัตกรรม HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ผู้หญิงตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเอง ตอบสนองนโยบาย “มะเร็งครบวงจร”
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย Kickoff โครงการ “รณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูก ในประเทศไทย FINDING HPVSTOPCERVICALCANCER เพื่อสร้างความตระหนักให้สตรีไทยเห็นถึงความสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการเปิดตัวแคมเปญตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 0นโยบายมะเร็งครบวงจร
สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดว่า สธ. มีนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” เป็น 1 ใน 13 ประเด็นมุ่งเน้น ขับเคลื่อน ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวี นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี
ตรวจคัดกรอง-ลดอัตราเกิดโรค
หญิงไทยอายุ 30 - 60 ปีบริบูรณ์ เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบแยก 14 สายพันธุ์ โดยติดต่อเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่หน่วยบริการทุกแห่ง
เป็นการส่งเสริมการตรวจคัดกรองที่ช่วยให้ตรวจเจอตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพิ่มโอกาส ในการรักษาหายขาดได้ เพื่อให้สตรีไทยมีสุขภาพดี ปลอดจากมะเร็งปากมดลูก เพิ่มความเข้มแข็งด้านการดูแลสุขภาพประชาชน และส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
“การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิผล ดำเนินการในหญิงกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุม มีความถี่ของการตรวจคัดกรองที่เหมาะสม และมีระบบส่งต่อผู้ที่มีผลการตรวจคัดกรองผิดปกติ ไปรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดอัตราการเกิดโรค และเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกได้”นายสันติกล่าว
10กว่าล้านคนไม่เคยตรวจ
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับต้นในสตรีไทย สาเหตุสําคัญของมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งจากข้อมูลภาพรวมของประเทศสตรีไทยที่จะต้องตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) จำนวน 15,677,638 คน โดยในปีพ.ศ. 2565 มีเป้าหมาย 3,135,528 คน แต่ได้รับการตรวจ คัดกรองเพียง 613,254 คน หรือคิดเป็น 19.6% เท่านั้น
“ยังมีสตรีไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ที่ไม่เคยไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจภายในและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย เพราะมีความเขินอาย การขาดความรู้ความเข้าใจ ความกลัว ไม่ต้องการตรวจภายใน”นพ.ยงยศกล่าว
ตรวจด้วยตนเองคัดกรองเชิงรุก
การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาอบรมให้ความรู้กับ อสม. ซึ่งการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบแยก 14 สายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
รวมถึง เป็นฐานข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของประเทศในการนำไปพัฒนาวัคซีน ให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ อีกทั้งในกรณีตรวจติดตามการติดเชื้อแบบแฝง (Persistent infection) ด้วยเป้าหมาย 1 ล้านคนทั่วประเทศในปี 2567
หญิงไทยเสียชีวิตปีละราว 9 ,000 ราย
ขณะที่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังพบอัตราอุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกที่ยังคงสูง ปีละประมาณ 9,000 รายและเสียชีวิตประมาณ 50% คิดเป็นประมาณ 12 รายต่อวัน ทั้งที่ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งหนึ่งในมะเร็งจำนวนน้อยชนิดที่สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ
ปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรอง ที่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีเหมือนแต่ก่อน ตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ได้เลย มีความแม่นยำสูง เป็นสิทธิประโยชน์ตรวจฟรี หากตรวจพบในระยะแรกเริ่มก่อนเป็นมะเร็ง สามารถรักษาให้หายได้ ความท้าท้ายการกำจัดมะเร็งปากมดลูก ต้องทำให้หญิงไทยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ตระหนัก เข้ามาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
การใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง (HPV Self-sampling) จะทำให้ผู้หญิงไทยเข้าถึงการตรวจได้มากยิ่งขึ้น และฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ให้แก่ประชากรในกลุ่มเด็กหญิง พบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ดี แต่พบว่ายังมีประชากรเด็กหญิงกว่า 1.2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
อย่ารอให้มีอาการแล้วตรวจ
รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า การตรวจ Full high-risk HPV genotyping ยังสามารถบอกถึงการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงตัวเดิมๆ ซึ่งพบว่า อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดรอยโรคขั้นสูง ที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงมากขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับการติดเชื้อแบบชั่วคราว
ทว่า ผู้หญิงไทยไม่ค่อยเข้ารับการตรวจคัดกรอง หลายคนรอจนมีอาการแล้วค่อยมาพบแพทย์ ตอนนั้นก็มักจะช้าเกินไป จึงอยากให้ผู้หญิงอย่าละเลยการเข้ารับการตรวจคัดกรอง ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้เป็นสิทธิประโยชน์ที่เข้าถึงง่าย สามารถตรวจได้ฟรี
ชัยนาทโมเดล
ภายในงานมีการอภิปราย Best Practices “ชัยนาทโมเดล” โดยนพ.พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หลังจากที่จ.ชัยนาทเปลี่ยนมาใช้วิธีการคัดกรองแบบ HPV DNA เป็นแนวทางเดียวของจังหวัดตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 มีผู้หญิงที่อายุ 30-60 ปีในพื้นที่จ.ชัยนาทที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวน 51,660 ราย สามารถคัดกรองได้ถึงจำนวน 21,431 รายในปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าดำเนินการให้ได้มากกว่า 90 %
“การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ถ้าเจอเร็วจะทำให้ไม่มีคนเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้ จ.ชัยนาทจากการคัดกรองแบบตรวจหา HPV DNA เก็บตัวอย่างด้วยตนเอง พบความผิดปกติที่ต้องส่งตรวจด้วยการส่องกล้องเท่ากับ 3.64 % ในจำนวนนี้ตรวจพบเท่ากับ 40.46 % ซึ่งเมื่อก่อนที่คัดกรองด้วยแปปสเมียร์ไม่ได้เจอจำนวนมากขนาดนี้”นพ.พัลลภกล่าว