'มะเร็งตับ' รู้ทัน รักษาได้ ความหวังระยะลุกลามเข้าถึงยา
คนไทยเสียชีวิตจาก 'มะเร็งตับ' เป็นอันดับ 4 ของโลก รัฐขับเคลื่อน 'มะเร็งครบวงจร' ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับระยะลุกลาม มีความก้าวหน้าในการรักษาด้วย ยา นวัตกรรมช่วยยืดอายุผู้ป่วย หวังนำเข้าสิทธิประโยชน์ของรัฐ
VOICE OF LIVER 2024 ฟังเสียงตับ รับมือมะเร็ง ครั้งที่ 3 จัดโดยมูลนิธิรักษ์ตับ ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า มะเร็งเป็นโรคท้าทายของระบบสาธารณสุข เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย ซึ่งข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ รายงานในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ ราว 1.4 แสนคนต่อปี เสียชีวิตประมาณ 84,000 คน
นโยบาย 30 บาทพลัส ของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้มะเร็งครบวงจรเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win โดยมีโครงการ Cancer warrior เป็นตัวคัดกรองตรวจเจอได้เร็ว เพื่อเข้าสู่การรักษาได้เร็ว ปัจจุบันมะเร็งตับมียาและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูงในการรักษาแบบครบวงจร ทั้งส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และประคับประคอง โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม สนับสนุนในการตรวจคัดกรองให้ได้อย่างทั่วถึง
มะเร็งตับพบมากในเอเชีย
พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งตับในประเทศไทยว่า พบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจำนวนมากในเอเชีย 73.3% จากข้อมูล GLOBOCAN. WHO: Liver 2020 โดยมะเร็งตับเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น หลังจากเป็นโรคตับอักเสบบีและซี หรือการติดจากการใช้เข็มร่วมกัน ซึ่งโรคตับอักเสบบีสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกถึง 90% ในจำนวนนี้มีโอกาส 2% ต่อปี ที่จะกลายเป็นโรคมะเร็งตับ ส่วนโรคตับอักเสบซีสามารถติดต่อทางเลือด มีโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งตับ 1-4% ต่อปี
ไทยเสียชีวิตมะเร็งตับอันดับ4โลก
นพ. จำรัส พงษ์พิศ อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.หนองคาย และตัวแทนมูลนิธิรักษ์ตับ กล่าวว่า ในประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับสูงถึง 26,704 รายต่อปี เป็นอันดับ 4 ของโลก มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เฉลี่ยทุกๆ 1 ชั่วโมง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ
มะเร็งเซลล์ตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดี และมีโอกาสหายต่ำ การพิจรณายารักษาโรคมะเร็งเซลล์ตับเป็นภาวะเร่งด่วนจึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันหารือ เพื่อสิทธิประโยชน์ของคนไทย
ยานวัตกรรมรักษามะเร็งเซลล์ตับระยะลุกลาม
พ.อ.ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.พระมงกุฎเกล้าและหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็ง รพ.พระมงกุฏเกล้า อธิบายถึงการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับว่า ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับระยะลุกลาม จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยา ได้แก่
1. ยามุ่งเป้า ทำหน้าที่ไปยับยั้งไม่ให้มีการแบ่งตัว มีอัตรารอดชีวิตราว 10-13 เดือน
2. ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด เป็นยาฉีด มีอัตรารอดชีวิตราว 19.2 เดือนในผู้ป่วยทั่วโลก และ 24 เดือนในผู้ป่วยในประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาดังกล่าว บรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งตับ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเนื้อตับ ได้แก่ ภาวะตับแข็งจากทุกสาเหตุ, การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและ ซี, การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, ไขมันเกาะตับ โรคอ้วน โรคเบาหวานสารพิษอพฟลาทอกซิน
อาการของมะเร็งเนื้อตับ ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการต่อมาปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ท้องบวมขึ้นหรือตัวตาเหลือง น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหารอ่อนเพลีย มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุและคลำพบก้อนที่บริเวณตับ
ในการป้องกัน ปัจจัยเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน การป้องกันการปนเปื้อนทางเลือดและสารคัดหลั่งและการให้ยาต้านไวรัส, กรณีไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ต้องป้องกันการปนเปื้อนทางเลือดและสารคัดหลั่ง การให้ยาต้านไวรัสจะทำให้หายขาด, กรณีตับอักเสบจากการดื่มสุรา ควรหยุดดื่มสุรา และปัจจัยเสี่ยงเรื่องสารพิษอะฟลาท้อกซิน ระวังอาหารที่ปนเปื้อน สารพิษชนิดนี้โดยเฉพาะในอาหารแห้ง
การคัดกรองมะเร็งเนื้อตับในระยะเริ่มต้น กรณีไวรัสตับอักเสบบี เพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปควรอัลตร้าซาวด์ทุก 1 ปี กรณีตับแข็งทุกสาเหตุ จะต้องตรวจดูสารบ่งชี้อัลฟ่าฟีโตโปรตีนทุกครึ่งปี
การรักษามะเร็งเนื้อตับ ระยะเริ่มต้น ที่มีก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็กเพียงก้อนเดียวไม่เกิน 2 เซนติเมตร และระยะแรก มีก้อนเนื้อมะเร็งเพียงก้อนเดียวหรือมีก้อนเนื้อไม่เกิน 3 ก้อนขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร จะผ่าตัดก้อนออกหรือปลูกตับหรือจี้ทำลายก้อนเนื้อ ระยะเวลารอดชีวิตมากกว่า 60 เดือน
ระยะกลาง ก้อนเนื้อมะเร็งหลายก้อนขนาดโตกว่ามะเร็งระยะเริ่มต้น จะรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ ผ่านหลอดเลือดแดง ระยะเวลารอดชีวิตมากกว่า 30 เดือน
ระยะลุกลาม ก้อนเนื้อมะเร็งโตมากหรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ หรือหลอดเลือดในท้อง หรือแพร่กระจายตามกระแสเลือดเข้าสู่ตับกลีบอื่นๆ รักษาด้วยยารักษามะเร็งตับ ระยะเวลารอดชีวิตมากกว่าหรือเท่ากับ 24 เดือน
และระยะสุดท้าย ก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามสู่อวัยวะอื่น จะรักษาตามอาการ ระยะเวลารอดชีวิต 3 เดือน
ยารักษามะเร็ง สิทธิขั้นพื้นฐานควรได้รับ
ด้านนพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ยารักษามะเร็ง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรจะได้รับ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของสปสช. ทำให้คนไทยทุกคนและทุกสิทธิได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
“การจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ ตัวยาใหม่ๆ เข้ามาทดแทนยาเดิม ภายใต้มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า หากมียาตัวใดที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงจากยาเดิม หรือลดลงจากยาเดิมได้ ยานั้นก็สามารถเข้ามาทดแทนได้เลย โดยไม่ต้องรอให้บรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน เพราะอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี” นพ. จักรกริช กล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคตับอักเสบและมะเร็งตับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย เสนอว่า แม้อยากรักษาทุกคน แต่ยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากพิจารณาเลือกคนที่เหมาะสมที่จะรับยารักษาในระยะลุกลามก่อน เช่น คนที่ได้ผลดี มีอายุที่ยืนยาวกว่า เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงการรักษาทั่วถึง คนได้ประโยชน์สูงสุด ภายใต้การหารือของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาข้อมูลการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดในประเทศไทยพบว่าข้อมูลด้านประสิทธิภาพของคนไทยไม่แตกต่างจากข้อมูลการศึกษาของทั่วโลก
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ สนับสนุนโดย โรซ ไทยแลนด์ หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการดูแลสุขภาพของไทยที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ยกระดับสิทธิประโยชน์ ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ
วีรยุทธ ยอดคำ ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับระยะลุกลาม เผยว่า เขาป่วยมาตั้งแต่ปี 2562 คุณหมอแนะนำให้รักษาด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสแล้วค่อยใช้ยาพุ่งเป้ารักษามะเร็งอีกที เพราะเป็นเคสระยะลุกลาม เนื่องจากเป็นไวรัสตับอักเสบซี รับประทานยาเม็ดได้ประมาณ 2-3 เดือน แล้วเกิดอาการข้างเคียงเยอะมาก มือเท้าแตก จับอะไรนิดหน่อยเป็นแผลแตกหมดเลย ใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบาก
จึงขอเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น และได้รับยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด พบว่าดีขึ้น ไม่มีผลข้างเคียง และน้ำหนักเพิ่มขึ้น จากตอนแรกที่คิดว่าตัวเองคงไม่รอด ปัจจุบันพบหมอทุกๆ 3 สัปดาห์ เพื่อมารับยา แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เพราะยาไม่ได้อยู่ในสิทธิ์รักษา 30 บาท
พงศ์สิน นวลละออ ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ เล่าว่า ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และเก๊า ก่อนจะเจอมะเร็งเซลล์ตับระยะท้ายและโรคไต ปัจจุบันเปลี่ยนไตและตับ มา 6 ปีแล้ว ในช่วงเริ่มต้นไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งเซลล์ตับ เพียงแต่อ่อนเพลียจึงไปพบแพทย์ และตรวจเจอไวรัสตับอักเสบซี รักษาจนค่าเป็น 0 จึงกลับไปใช้ขีวิตเหมือนเดิม จนมีอาการเจ็บชายโครงขวา ถ่ายเป็นขี้กระต่าย และมูก จึงไปพบแพทย์และตรวจเจอมะเร็งเซลล์ตับ ขนาด 7 เซนติเมตร รักษามาเรื่อย จนขนาดเพิ่มเป็น 21 เซนติเมตร
“ผมขอฝากให้รัฐพิจารณาช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยานวัตกรรมกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดได้ ละอยากให้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับโดยเฉพาะ” พงศ์สิน กล่าว