ผอ.รพ.หนองคาย เผยสาเหตุส่งตัว 'เด็ก 7 เดือน' สปป.ลาวผ่าตัดด่วน รพ.จุฬาฯ
ผอ.รพ.หนองคาย เผยสาเหตุส่งตัวเด็ก 7 เดือน สปป.ลาว ผ่าตัดหัวใจเร่งด่วน รพ.จุฬาฯ สำเร็จ แจงขึ้นเครื่องบินจะไม่ปลอดภัย
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 นพ.สมศักดิ์ ประฎิภาณวัตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย กล่าวภึงภารกิจส่งตัวผู้ป่วยอายุ 7 เดือน จาก จ.หนองคาย ไปรักษาตัวที่ รพ.จุฬาฯ กรุงเทพฯ ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างเอกอัครราชทูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬา คณะแพทย์จุฬาลงกรณ์ มูลนิธิเพื่อการสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว โรงหมอมะโหสถ นครหลวงเวียงจันทน์ ร่วมมือกัน โดยทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิดใน สปป.ลาว ให้ได้รับการผ่าตัด รักษาในประเทศไทย
ซึ่งเคสแรกทางโรงพยาบาลหนองคาย เป็นผู้นำส่งผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ย.66 ขณะนี้อาการปกติสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่ สปป.ลาว ได้แล้ว
โดยผู้ป่วยที่เดินทางในวันนี้ (23 ม.ค.67) เป็นเคสที่ 2 เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว หมอ รพ.จุฬาฯ ประเมินแล้วว่าปลอดภัย ก็จะมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลหนองคายต่อจนผู้ป่วยอาการปกติ ก็จะส่งตัวกลับ สปป.ลาว ซึ่งเด็กชายเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด มีภาวะเขียวแต่กำเนิด เมื่อร้องก็จะตัวเขียว มีความผิดปกติของเส้นเลือด มีภาวะเส้นเลือดผิดปกติ ถ้าร้องเมื่อไรก็จะเขียว ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะเข้ารับการรักษาเรื่องปอดบวม และไม่โตตามวัย อาจจะติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่จะเสียชีวิต จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตั้งแต่เด็ก
ซึ่งแนวทางการรักษาส่วนใหญ่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือด ขึ้นกับพยาธิสภาพหัวใจ ครอบครัวผู้ป่วยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนเคสที่ 3 เป็นหญิง อายุ 1 ปี เป็นลักษณะเหมือนกับเคสที่ 2 หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะประเมินผู้ป่วยอีกทีว่าจะผ่าตัดแบบใดเพื่อให้เด็กปลอดภัยที่สุดและจะได้นัดคิวส่งต่อไปรักษา
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลหนองคาย เป็นที่รับ-ส่งต่อ เนื่องจาก ที่โรงพยาบาลไม่มีหมอหัวใจเด็ก จึงได้ทำการคัดกรองร่วมกับทีมจุฬาฯ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ แล้วทำรายชื่อผู้ป่วยที่พิจารณาเข้ารับการรักษา เข้าคิวรอการผ่าตัด ประเมินว่าจะสามารถเดินทางด้วยรถยนต์เข้ารับการผ่าตัดได้เมื่อไร เพื่อให้การเดินทางปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด
"ตอนนี้มีรายชื่อทั้งหมด 37 ราย เข้าคิวไว้แล้ว 3 ราย เด็กกลุ่มนี้มีความเขียวพิการแต่กำเนิด การเดินทางที่ใช้เวลานานจะมีปัญหาอุปสรรค กลุ่มนี้อยากให้เดินทางไปถึงเร็วที่สุด ซึ่งไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ เพราะบางทีถ้าขึ้นเครื่องบินแล้วมีความกดอากาศ ถ้าเด็กร้องก็จะเขียวมาก หากเขียวบนเครื่องจะไม่ปลอดภัยกับเด็ก"
ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้เริ่มส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหนองคาย เดินทางด้วยรถของโรงพยาบาลจุฬาฯ ไปตามถนนมิตรภาพเข้ากรุงเทพ ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือเปิดเส้นทางให้ ต้องขอขอบคุณตำรวจทางหลวง ตำรวจจราจร การทางพิเศษ ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนที่เอื้ออำนวยให้รถรีเฟอร์เดินทางได้อย่างรวดเร็ว เด็กปลอดภัย ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาชีวิตเด็ก
คาดว่าเด็กที่ตรวจอาการแล้วทั้ง 37 ราย จะได้รับการเข้าคิวผ่าตัดแล้วเสร็จภายในปี 2567 เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วเด็กจะได้รับการติดตามอาการจากโรงหมอมะโหสถของลาว หากมีอาการผิดปกติก็จะมีการหารือกับโรงพยาบาลหนองคาย พิจารณาเป็นรายๆ ไป