เพชรบุรี 'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่' โมเดลขยับต่อไปสู่ประกันสังคม
7 ม.ค.2567 คิกออฟนโยบาย “30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” นำร่องใน 4 จังหวัด แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรีและนราธิวาส โดย“กรุงเทพธุรกิจ”มีโอกาสลงพื้นที่รพ.พระจอมเกล้า เพชรบุรี พบว่า ที่นี่มีการบริหารจัดการอย่างดี และพร้อมที่จะเป็นโมเดลสู่การขยายไปยังประกันสังคม
“อยู่อ.บ้านแหลม มีอาการบ้านหมุน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดหัวเล็กน้อย มาพบแพทย์ที่รพ.พระจอมเกล้า เพราะรับบริการที่นี่มาตลอดตั้งแต่คลอดลูกคนแรก เมื่อมีนโยบายนี้ช่วยให้สะดวกสบายขึ้น เวลาไปรพ.อื่นก็ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว” รุ่งอรุณ(สงวนนามสกุล) วัย 39 ปี ให้สัมภาษณ์ระหว่างมารับบริการที่รพ.พระจอมเกล้า
เป็นคำตอบที่สะท้อนได้ในหลายมิติ ทั้งความพึงพอใจอย่างมากของคนไข้ ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ประชาชนจะไหลเข้ามารับบริการในรพ.ใหญ่ มากกว่ารับบริการรพ.ใกล้บ้านมากขึ้น โดยเฉพาะอำเภอที่ห่างจากตัวจังหวัดไม่มาก อย่างกรณีอ.บ้านลาดห่างจากเพชรบุรี 8 กิโลเมตร หรืออ.บ้านแหลมห่าง 12 กิโลเมตร เป็นต้น
ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” ในสิทธิ 30บาทรักษาทุกโรค ต้องการสร้างความสะดวกให้กับคนไข้ รับบริการหน่วยที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว มิใช่แห่ไปรับบริการรพ.ใหญ่แม้จะไกล เพราะสามารถรักษาได้ทุกที่
ตัวเลขของรพ.พระจอมเกล้า ช่วงเวลา 3 วันตั้งแต่ 8-10 ม.ค.2567 จำนวนผู้ป่วยนอกอยู่ที่ราว 1,900-2,000 คน ที่เป็นผู้ป่วยข้ามเขตพื้นที่มีราว 5 % ถือว่าอยู่ในอัตราที่รับได้ ยังไม่มีนัยสำคัญของการแห่มารพ.ใหญ่ จะต้องติดตามต่อในระยะยาว รวมถึง การมารับบริการนั้นเป็นความเจ็บป่วยที่ต้องมารับรักษาในรพ.ใหญ่หรือไม่
พัฒนาระบบรองรับ
จ.เพชรบุรีมีประชากรรวม 432,883 คน หน่วยบริการสาธารณสุข 133 แห่ง แยกเป็น รพ.สังกัดสธ. 8 แห่ง รพ.กองทัพบก 1 แห่ง รพ.เอกชน 2 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 117 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 5 แห่ง รวมถึง มีผู้ประกอบการ 314 แห่ง เป็นคลินิก 204 แห่ง ร้านขายยา 103 แห่งและคลินิกแล็ป 7 แห่ง ก่อนการดำเนินตามนโยบาย จึงมีการเตรียมความพร้อมอย่างดี
นพ.อมรเทพ บุตรกตัญญู รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล หน่วยบริการสาธารณสุขมีการติดตั้งหมอพร้อม Station 100 % แล็ปติดตั้ง 85.7 % ร้านยา 38.83 % และคลินิก 13.24 % มีการปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ FireWall , Log และAntivirus 100 % รวมถึง รพ.สังกัดสธ.ผ่านการประเมินรพ.อัจฉริยะ 100 %
และการพัฒนาระบบยืนยันตัวตน มีการยืนยันตัวตนผู้รับบริการหรือ Health ID สะสมแล้ว 224,842 คน คิดเป็น 51.94 % ส่วนผู้ให้บริการ 4 วิชาชีพ หรือ Provider ID ยืนยันแล้ว 87.04 % เป็นทันตแพทย์ 97.78 % เภสัชกร 97.65 % เทคนิคการแพทย์ 93.62 % และแพทย์ 75.51 % ซึ่งผู้ที่ทำการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าดูข้อมูลคนไข้จากฐานข้อมูลได้
บริการไร้รอยต่อ คนไข้สะดวก
การให้บริการของรพ.กระจอมเกล้าภายใต้นโยบายบัตรประชาชนใบเดียว เป็นไปแบบไร้รอยต่อ นพ.จิรายุ เล็กพิทยา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.พระจอมเกล้า ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยสามารถจองคิวพบแพทย์ได้ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม เมื่อมารพ.คนไข้ยืนยันการรับบริการด้วยการยื่นบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่หรือเสียบบัตรที่ตู้คีย์ออส จากนั้นจะได้คิวไปรอพบแพทย์ โดยแพทย์จะดึงข้อมูลคนไข้แต่ละรายจากหมอพร้อม Station
หลังตรวจคนไข้แล้ว หากมีการสั่งยา ผู้ป่วยอาจรอรับยาที่รพ. หรือเลือกที่จะให้ Health Rider ไปส่งยาให้ที่บ้านได้ภายในระยะ 15 กิโลเมตรจากรพ. ผู้ป่วยไม่ต้องรอรับยาที่รพ. หากอยู่ไกลเกินกว่านี้ สามารถให้จัดส่งยาทางไปรษณีย์ได้ ทั้งหมดจะมีเภสัชกรโทรไปให้คำแนะนำในการใช้ยาทุกครั้ง หรือให้แพทย์สั่งยาผ่าน E-Prescriptionตรงไปที่ร้านยาใกล้บ้านแล้วคนไข้ไปรับยาได้
การตรวจแล็ป แพทย์สามารถสั่งผ่าน E-LABให้คนไข้ไปตรวจที่แล็ปใกล้บ้านได้ รวมถึง การออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลให้ในระบบหมอพร้อม และคนไข้สามารถเลือกรับบริการแบบเทเลเมดิซีนได้ด้วย ทั้งหมดนี้คนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
เตรียมแผนหากคนแห่มารพ.ใหญ่
แม้จะยังเห็นไม่ชัดเจนถึงตัวเลขของผู้ป่วยที่เดินทางข้ามเขตมารับบริการ มุ่งมารพ.ใหญ่ ทว่า จ.เพชรบุรีมีการเตรียมแผนรองรับในกรณีนี้ไว้ด้วย
นพ.อมรเทพ กล่าวว่า หากเกิดกรณีคนไข้มารับบริการรพ.จังหวัดมากขึ้นจำนวนมาก ก็จะบริหารกำลังคนภายในจังหวัด ด้วยการให้แพทย์รพ.อำเภอมาตรวจคนไข้ที่รพ.พระจอมเกล้า หรือคนไข้ที่ป่วยด้วยอาการไม่ซับซ้อน ก็จะได้ตรวจกับแพทย์ทั่วไปก่อน ไม่ได้พบแพทย์เฉพาะทาง และต้องรอคิวเพื่อให้แพทย์ดูแลคนไข้ที่อาการมากกว่าก่อน
“คนไข้ที่เจ็บป่วยด้วยอาการทั่วไปแล้วมารับบริการแบบข้ามเขตในรพ.ใหญ่ เมื่อมาแล้วต้องรอคิวตรวจนานเพราะแพทย์ต้องให้บริการคนไข้ที่มีอาการซับซ้อนก่อน หรือมาแล้วได้รับการตรวจจากแพทย์ทั่วไป ไม่ต่างจากรับบริการที่รพ.อำเภอ เชื่อว่าระยะยาวจะทำให้คนไข้เข้าใจและเลือกรับการรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน มากกว่าจะเลือกเดินทางไกลแล้วต้องมารอนานที่รพ.จังหวัด”นพ.อมรเทพกล่าว
บัตรประชาชนใบเดียวสู่ประกันสังคม
ไม่เพียงเท่านี้ การที่จ.เพชรบุรีมีเพียงรพ.พระจอมเกล้าแห่งเดียว ที่รับสิทธิผู้ป่วยประกันสังคม ทำให้บริหารจัดการภายในจังหวัดได้ ด้วยการให้ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมไปรับบริการหน่วยบริการใกล้บ้าน โดยเฉพาะรพ.อำเภอที่อยู่ใกล้ และรพ.พระจอมเกล้าทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮาส์ ตามไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับรพ.นั้นๆ
ด้วยความพร้อมของจ.เพชรบุรี “เครือข่ายระบบบริการสาธารณสุขเป็นหนึ่งเดียว” อนาคตสามารถที่จะขยายเป็นจ.นำร่องนโยบาย “ประกันสังคม บัตรประชาชนใบเดียว”ได้เช่นกัน
“จาก 30 บาทบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ในอนาคตสามารถขยายไปยังสิทธิอื่นๆ อย่างประกันสังคม กำลังพูดคุยกันอยู่ เพราะมุ่งหวังว่า ทุกสิทธิควรได้รับความสะดวกเหมือนกัน ขณะนี้กำลังหารือกันอยู่”นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุขกล่าว
การดำเนินงานคล้ายกับโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือUCEP ซึ่งสำนักงานประกันสังคม(สปส.) อาจต้องไปแก้กฎระเบียบให้สถานพยาบาลในเครือข่ายของประกันสังคมใช้ที่ไหนในเครือข่ายได้เช่นเดียวกัน เหมือนการใช้บัตรประชาชนใบเดียวของ 30 บาท
ส่วนการเบิกจ่ายเงิน ทำได้แค่ 2 ทาง คือ
1.เบิกตรงกับประกันสังคม
2.หากสปส.ไม่อยากตามจ่ายทุกสถานบริการ ก็มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ มีหน้าที่จ่ายแทนก่อนแล้วไปเบิกต่อจากสำนักงานประกันสังคม
ส่วน 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ผ่านมาไม่ถึง 1 สัปดาห์ นพ.ชลน่าน มีความพึงพอใจมากกว่า 80 % ยังอาจมีปัญหาเล็กน้อย เช่น ผู้มารับบริการยังไม่ได้แสดงตัวตน เป็นคอขวดทำให้ช้า 20% แต่ไม่ได้โทษผู้ให้บริการ โทษเชิงระบบต้องไปปรับแก้ไม่ให้เป็นคอขวด
ทั้งนี้ ระยะต้นมีการเตรียมงบประมาณราว 300 ล้านบาทบริหารจัดการใน 4 จังหวัดนำร่องและอีก 800 ล้านบาท สำหรับ 8 จังหวัดในระยะ 2 ราวเดือน มี.ค.2567 ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา