ส่องร่างปรับ 'กฎหมายน้ำเมา' พบยื่นให้ขายได้ 24 ชม.-โฆษณาเสรี
กาง 3 ร่างปรับปรุงกฎหมายน้ำเมา พบกลุ่มชงปลดล็อกให้ขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ยกเลิกวันพระห้ามขาย เปิดช่องโฆษณาได้ ขายผ่านเครื่องอัตโนมัติ
เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2567 ที่เดอะฮอลล์ บางกอก มีการเสวนา ครบรอบ 16 ปี พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ท่ามกลางกระแสเสรี โดยมีการเสวนาหัวข้อ “ฉากทัศน์สังคมไทยหากปล่อยสุราเสรี ลดทอนการควบคุม”
ธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ภปค.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 มีการเสนอกฎหมายปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3 ร่าง ได้แก่ ร่างประชาชนชาวสุรา ร่างพรรคก้าวไกล และร่างภปค. ซึ่งบทสรุปที่ประชุมมีมติอนุญาตให้ครม.รับ 3 ร่างไปพิจารณา เพื่อที่จะประกอบการพิจารณาเป็นฉบับร่างกฎหมายของรัฐบาล ส่วนร่างของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ยังไม่เข้ามา
ธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า 3 ร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามามีอย่างน้อย 3 ประเด็นที่จะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ประกอบด้วย 1.กลไกคณะกรรมการ ร่างประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอีก 1 หมื่นกว่ารายชื่อ ที่มักเรียกตัวเองว่าประชาชนชาวสุราที่เป็นกลุ่มสุราไทย กลุ่มสมาคมคราฟต์เบียร์และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ให้เพิ่มผู้แทนธุรกิจเป็นที่ปรึกษา ลดอำนาจ ตัดผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์
ร่างพรรคก้าวไกล ตัดคณะกรรมการทุกระดับทั้งที่กฎหมายอื่นที่พรรคเสนอ กลับให้มีคณะกรรมการถึงระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการนี้ให้ยกเลิกคณะกรรมการทั้งหมด ร่างภปค.ให้ปรับองค์ประกอบ เพิ่มอำนาจคณะกรรมการให้มีการจัดสมัชชาระดับพื้นที่
2.การควบคุมสถานที่ วันเวลา และรูปแบบการดื่ม การขาย ร่างประชาชนชาวสุรา ให้ขายในร้านค้า หรือสโมสรในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้ขายผ่านเครื่องอัตโนมัติได้ และส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถมได้ ณ จุดขาย ยกเลิกการกำหนดเวลาขยาย เท่ากับขายได้ 24 ชั่วโมง ยกเลิกการออกมาตรการใหม่เกี่ยวกับสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขาย และวิธีการ
ร่างพรรคก้าวไกล ยกเลิกมาตรา 28 เรื่องวัน เวลา ห้ามขาย แปลว่าให้ขายได้ 24 ชั่วโมง ยกเลิกกรณีห้ามขายวันพระ ให้ขายผ่านเครื่องขายอัตโนมัติที่ยืนยันตัวผู้ซื้อได้ ให้ลดราคาได้ เพิ่มให้ดื่มได้ในโรงแรม ที่อยู่ในสถานศึกษา และให้ดื่มในสวนสาธารณะได้
ร่างภปค.เพิ่มการตรวจอายุของผู้ซื้อ กำหนดหน้าที่ของผู้ขาย เพิกถอนใบอนุญาตขายสุรา ร้านค้าที่ทำผิดกฎหมาย เพิ่มสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งแกผู้เสียหายจากอุบัติเหตุ ให้ถือเป็นคดีผู้บริโภค และเปลี่ยนโทษทางอาญาเป็นโทษทางปกครอง
และ3.การโฆษณา ร่างประชาชนชาวสุรา ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ แปลว่าให้โฆษณาได้เสรีหรือไม่
ร่างพรรคก้าวไกล ห้ามมิให้ผู้ประกอบการผลิตหรือจำหน่ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
ร่างภปค. โฆษณาได้ภายใต้เงื่อนไขให้ระบบการขออนุญาตก่อนการโฆษณา ลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ควบคุมตราเสมือน ให้ทุนสนับสนุนได้บางกรณี แต่ห้ามโฆษณา และแยกโทษคนทั่วไป ผู้ผลิต สื่อ
“กฎหมายผ่านมาแล้ว 16 ปี มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป ไม่ปฏิเสธว่ากฎหมายต้องปรับปรุง แก้ไข แต่ว่าการแก้ไขกฎหมายใดๆโดยเฉพาะการควบคุมสินค้าที่มีผลกระทบต่อประชาชน จะต้องแก้ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น”ธีรภัทร์กล่าว
ด้านรศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า หลังมี พ.ร.บ.เมื่อปี 2551 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปริมาณการบริโภคของผู้ดื่มค่อนข้างคงที่ไปในทางลดลง จากปี 2550 ผู้ดื่ม 30% ในประชากร ปี 2564 อยู่ที่ 28% ลดมา 2% ในเพศชายลดจาก 52% เหลือประมาณ 46% ลดลง 5.9% ส่วนเพศหญิงไม่ค่อยเปลี่ยน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในบางปี สัดส่วนนักดื่มอายุ 15-19 ปี และ 60 ปีขึ้นไปลดลง ส่วนสัดส่วนนักดื่มอายุ 20-49 ปี ค่อนข้างคงที่
ส่วนข้อมูลอุบัติเหตุช่วงปีใหม่และสงกรานต์ 7 วันอันตราย จากการถามข้อมูลคนไข้ที่เข้ามาห้องฉุกเฉินว่า ได้ดื่มแอลกอฮอล์มาหรือไม่ใน 6 ชั่วโมง พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 ลดลงเรื่อยๆ จาก 40% เหลือ 26% โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง 12.2%
และช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง 9.5% แต่ที่ลดลงมากคือปี 2563 ช่วงโควิด สำหรับปริมาณการดื่มจากกรมสรรพสามิต ก่อนมี พ.ร.บ. การเพิ่มขึ้นของการดื่มต่อคนต่อปีอยู่ที่ 0.18 ลิตรต่อคนต่อปี ถ้าไม่มี พ.ร.บ. ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังมี พ.ร.บ. แนวโน้มจะดูเพิ่ม แต่การเพิ่มต่ำลงเยอะ เหลือ 0.02 ลิตรต่อคนต่อปี
สรุปหลังมี พ.ร.บ.สัดส่วนนักดื่มค่อนไปทางลดลง โดยเฉพาะเพศชายและสูงอายุลดลงเยอะ สัดส่วนช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ช่วง 7 วันอันตรายลดลงต่อเนื่องสิบกว่าปี ปริมาณการบริโภคและอัตราการเพิ่มการบริโภคลดลง ซึ่งข้อมูลมาจากคนละแหล่ง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อในสังคมว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ได้ผลอะไรเลย เป็นการพูดลอยๆ จากความเห็น อคติส่วนตัว โดยไม่ได้ดูข้อมูลอะไรเลย
ความคิดแบบเสรีนิยมกลายเป็นกระแสหลักของสังคม มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีประโยชน์ ก็ถูกเหมารวมว่ากลายเป็นมาตรการที่ใช้ในการควบคุมประชาชนเช่นกัน มีความพยายามแก้กฎหมายเพื่อหย่อนความเข้มข้นของกฎหมาย ที่ได้ยินคือ สุราก้าวหน้าปลดล็อกเรื่องการผลิต หากปลดล็อกจริงตามที่เสนอ จะทำให้มีการผลิตออกมาในตลาดมากขึ้น
รวมถึง มาตรา 32 ที่ควบคุมการโฆษณา อยากให้ปลดล็อกให้โฆษณาได้ ล่าสุด มีความพยายามแก้กฎหมาย นำเสนอในรัฐสภาวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา มีทั้งร่างที่อยากให้เสรีขึ้น บอกว่าจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเกินความจำเป็น เป็นอุปสรรคประกอบอาชีพ ไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และร่างที่อยากควบคุมที่ชัดเจนขึ้น
"ส่วนตัวเคยหารือกันในเครือข่าย มองว่ามาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลไปไม่ค่อยได้ ทั้งดิจิทัลวอลเล็ต หรือซอฟต์เพาเวอร์ ไปๆ มาๆ มาลงเรื่องแอลกอฮอล์ ที่ทำแล้วปลดล็อกเปิดสถานบริการถึงตี 4 ก่อนช่วงปีใหม่ และเปิดอยู่ใน 4-5 จังหวัด ที่พยายามเสนอปลดล็อกลดเวลา ซึ่งตอนนี้เราให้ขาย 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น. ตอนนี้พยายามปลดล็อกช่วงเวลาอื่นๆ ให้ขายได้มากขึ้น เพราะคิดว่าจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ" รศ.นพ.อุดมศักดิ์กล่าว