สธ.-ตร.-ป.ป.ส. ยกทีมเคลียร์ คนที่อ้างมี "ยาบ้า5เม็ด"ไม่ได้ช่วยให้พ้นผิด
กระทรวงสาธารณสุข ตร. ป.ป.ส.ยกทีมแถลง ย้ำชัดอ้างมียาบ้า 5 เม็ด ไม่ช่วยให้พ้นผิด เป็นแค่สันนิษฐานเบื้องต้น ต้องดูพฤติการณ์ประกอบ เชื่อจะทำให้อันตรายต่อสังคมลดลง ไม่กระทบการจับกุมคดียาเสพติด ปี 67 จับแล้วกว่า 35,000 คดี มากกว่าปี 66 ทั้งปี
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.ต.ท.ภานุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมแถลงข่าวมาตรการรองรับหลังการประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนผู้ใช้ไม่มีอาการ ราว 1 ล้านคน ผู้เสพ/ผู้ติด 5.3 แสนคนที่ต้องเข้าบำบัดทางการแพทย์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องยาเสพติดแยกเป็นผู้เสพ ผู้ติด ผุ้ครอบครอง ผู้ค้า โดยจะมีความผิดทั้งหมดตามกฎหมาย แต่ประกาศกฎกระทรวงที่ออกมานี้ เน้นการบำบัดรักษาสมัครใจ ถ้าไม่สมัครใจก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาความผิดตามฐานที่เกี่ยวข้อง
อ้างมี 5 เม็ดไม่ช่วยให้พ้นผิด
ผู้ที่สมัครใจเข้าบำบัดจะแยกเป็นผู้เสพ/ผู้ติดที่มีอาการจะเข้ารักษาบำบัดทางการแพทย์ ส่วนผู้ใช้ที่ไม่มีอาการเข้าบำบัดทางสังคม เมื่อบำบัดตามเกณฑ์จนครบแล้ว ผู้อำนวยการสถานบำบัดจะออกใบรับรอง จะเห็นได้ว่าต้องมีครบ 3 เรื่องทั้งพฤติการณ์เป็นผู้เสพ สมัครใจบำบัดและบำบัดจนครบเกณฑ์ ถึงจะพ้นความผิดไม่ต้องรับโทษ และการบำบัดก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษผู้ทำผิด ต้องใช้เวลา 3-4เดือน ไม่ใช่ 3 วัน จากนั้นก็ต้องเข้าสู่สังคมบำบัดในชุมชนล้อมรักษ์ ฟื้นฟูชีวิต อาชีพและความเป็นอยู่ ป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ
“ไม่ว่าจะครอบครองกี่เม็ด แม้ต่ำกว่า 5 เม็ด ก็ยังมีความผิดตามกฎหมาย เพียงแต่ถ้าสมัครใจเข้าบำบัด และพิสูจน์ได้ว่าไม่มีพฤติการณ์เป็นการค้า ก็จะมีการพักโทษไว้แล้วไปเข้าสู่การบำบัด ต่อเมื่อบำบัดสำเร็จก็จะยุติโทษ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็รับโทษตามข้อกฎหมาย แบบนี้ผู้ค้ารายย่อยจะถูกตัดตอน”นพ.ชลน่านกล่าว
3 เหตุผลที่ต้องกำหนด 5 เม็ด
ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมต้องกำหนดยาบ้าที่ 5 เม็ด นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อิงจาก 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.หลักฐานทางการแพทย์ คำนึงถึงฤทธิ์ยา ที่มีผลกระทบต่อผู้เสพเป็นหลัก ว่าเป็นอันตรายหรือมีอาการแล้ว ต้องบำบัดรักษา โดยยาบ้า 1 เม็ด มีสารตั้งต้นส่วนใหญ่ 10-20 มิลลิกรัม ซึ่งยาบ้า 5 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 500 มิลลิกรัม มีสารยาเสพคิด 375 มิลลิกรัม โดยจะมีผลออกฤทธิ์ต่องร่างกาย ถ้าใครเสพปริมาณนี้เริ่มมีอาการที่เป็นอันตราย
2.มิติทางสังคม จำนวน 5 เม็ด สามารถตรวจสอบได้สะดวกถึงพฤติการณ์การค้า เนื่องจากข้อมูลที่มีคือผู้ค้าจะทำเป็นแพ็คเกจ 10 เม็ดในการค้ารายย่อย
และ3.มิติเศรษฐกิจ เม็ดเงินในการรองรับการซื้อขายของรายย่อย หาก 5 เม็ดจะค้าขายลำบากพอสมควร
อันตรายต่อสังคมลด ยอดจับกุมเพิ่ม
พล.ต.ท.ภานุรัตน์ ย้ำว่า แม้ครอบครอง 1 เม็ดก็ยังผิดกฎหมาย ไม่สามารถนำมาอ้างว่ามียาบ้า5เม็ดแล้วจะพ้นผิด เพราะต้องมีการดูที่พฤติการณ์ และการสืบสวนด้วยว่ามีข้อมูลหลักฐานมายืนยันได้หรือไม่ว่ามีไว้เพื่อเสพ ไม่ได้มีไว้เพื่อค้า
ทั้งนี้ จากการดำเนินการ Quick win ลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาจิตเวชจากยาเสพติดหรือการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย 1 ธ.ค.2566-11 ก.พ.2567 พบว่า พื้นที่เป้าหมายกลุ่มเร่งด่วน 85 อำเภอ ใน 30 จังหวัด จำนวน 4,414 คน ดูแลกลุ่มจิตเวชรายใหม่ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2566 จำนวน 1,260 คน
และข่าวผลกระทบจากยาเสพติดทางสื่อมวลชน ปีงบประมาณ2566 จำนวน 129 ข่าว และ1 ธ.ค.2566- 11 ก.พ.2567 จำนวน 108 ข่าว และสถิติผลการจับกุมคดียาเสพติดข้อหาร้ายแรง เปรียบเทียบต.ค.2565-ก.พ.2566 และต.ค.2566-ก.พ.2567 โดยปี 2566 มีการจับกุม29,101 คดี และปี 2567 จับกุมแล้ว 35,183 คดี
จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยและการกำหนดปริมาณการครอบครองนั้น ตัวเลขความรุนแรงจากยาเสพติดตามสื่อมวลชนลดลง และการจับกุมเพิ่มขึ้น
“ เชื่อว่าการนำผู้เสพเข้าบำบัดและสร้างชุมชนเข้มแข็ง จะทำให้ความรุนแรงในสังคมจากยาเสพติดจะลดลง และไม่ได้มีนัยสำคัญในการที่จะทำให้การจับกุมลดลง ไม่ได้ไปขัดขวางกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ป.ป.ส.จะประเมินผล 3-4 เดือนอีกครั้ง”พล.ต.ท.ภานุรัตน์กล่าว
แค่สันนิษฐานเบื้องต้น ไม่ใช่สันนิษฐานเด็ดขาด
ด้านพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ประกาศกฎกระทรวงนี้เป็นการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าครอบครองเพื่อเสพ แต่ไม่ใช่บทสันนิษฐานเด็ดขาด ดังนั้น หากไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่เพียงพอ เชื่อได้ว่าการกระทำความผิดแตกต่างไปจากบทสันนิษฐาน ให้แจ้งข้อกล่าวหาเป็นไปตามปริมาณยาเสพติดที่ตรวจพบ แต่หากมีพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันเพียงพอ เช่น ทำการล่อซื้อจำนวนเล็กน้อยและผู้กระทำความผิดนำยาเสพติดติดตัวมาในปริมาณที่สอดคล้องกัน ให้พิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาไปตามพฤติการณ์
ทั้งนี้ ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดไม่เกินบทสันนิษฐาน และไม่มีพฤติการณ์อื่นที่เป็นความผิดร้ายแรง เช่น จำหน่าย ผลิต นำเข้า ส่งออก ให้ตั้งข้อหาครอบครองเพื่อเสพ โดยหากสมัครใจบำบัดให้ส่งตัวเข้าบำบัด แต่หากไม่สมัครใจบำบัด จะถูกดำเนินคดีในข้อหาครอบครองเพื่อเสพ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส. สตช. กล่าวว่า ตำรวจมีการจับกุมคดียาเสพติด 7,500 คดีต่อเดือน ฉะนั้นหลังมีการประกาศกฎกระทรวงนี้ จะมีการจับกุมเพิ่มอีกราว 15 % ดังนั้นปริมาณตัวยาที่กำหนด ไม่มีนัยยะต่อการจับกุมคดียาเสพติด แต่เป็นการแยกผู้เสพออกไปบำบัด