ตรวจพบ "เชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร" ตัวอย่างซากหมูตายนำมาผสมหมูบด
โรงงานหมูบด นำซากหมูตายไม่ทราบสาเหตุมาผสมบรรจุถุง ขาย ตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตัวอย่างเนื้อสัตว์
จากกรณีพบสถานประกอบการผลิตหมูบดเถื่อน จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งนำเนื้อสัตว์ ซากหมูและซากสัตว์ที่ตาย โดยไม่ทราบสาเหตุ นำมาบดผสม บรรจุถุง และขายเป็นหมูบดอนามัยให้กับประชาชน
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ตรวจค้นโรงงานผลิตหมูบดทั้ง 3 แห่งแล้ว พบว่า เป็นการกระทำความผิดทางกฎหมาย โดยการลักลอบรับซื้อเนื้อสัตว์ที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมาแปรรูป รับซื้อเนื้อสัตว์ที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมาแปรรูป
เมื่อส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ พบว่า มีเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในตัวอย่างเนื้อสัตว์จากสถานประกอบการดังกล่าว และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชนเป็นอย่างมาก
กรมอนามัย มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค การรับซื้อเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือรับซื้อซากสัตว์ที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุ กระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่มีมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้ผลิต และประชาชน เกิดภาวะเจ็บป่วย หรือบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้
กรมอนามัยจึงได้ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และ องค์การบริหารส่วนตำบลบางแขม จังหวัดนครปฐม พบว่า สถานประกอบการดังกล่าวไม่ได้รับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 จากหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น
และปัจจุบันไม่มีการผลิตเนื้อสัตว์จำหน่ายแล้ว เนื่องจากสถานประกอบการดังกล่าวพบการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงถูกอายัดผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักร และถูกดำเนินคดีโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี จึงได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยต้องแจ้งขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ. 2535 จากหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ก่อนมีการประกอบการ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขลักษณะ สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ในหลายพื้นที่อาจมีการลักลอบนำเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเนื้อสัตว์ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคติดต่อเข้ามาผลิตและขายในพื้นที่ในลักษณะเดียวกัน จึงขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เร่งหามาตรการในการควบคุม กำกับ ตรวจสอบสุขลักษณะของสถานประกอบการในพื้นที่ ดังนี้
1.ตรวจตรา เฝ้าระวัง และควบคุมการประกอบกิจการที่ให้มีการดำเนินการเป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด
2.ควบคุม กำกับให้ผู้ประกอบการทุกแห่ง มีการดูแลสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความสะอาด ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร มีการทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบให้สะอาด ปลอดภัย ลดเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค และป้องกันสัตว์และแมลงพาหะนำโรค
3.ควบคุมให้พนักงานของสถานประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด สวมใส่ชุดหรืออุปกรณ์ป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคลงในอาหาร และดูแลสุขอนามัยของตนเองให้แข็งแรง หากมีอาการป่วยให้หยุดทำงานจนกว่าจะหายเป็นปกติ
4.สำรวจ ตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ โดยต้องไม่นำเนื้อสัตว์ที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมาแปรรูปขายเนื่องจากอาจเป็นสัตว์ที่ตายจากโรคระบาดจนอาจทำให้เกิดโรคจากสัตว์สู่คนได้
ขอให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ เลือกซื้อจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ หรือมีการตรวจสอบฉลากก่อนนำมาบริโภค รวมทั้งปรุงประกอบอาหารให้สุกก่อน และ
กินอาหารปรุงสุกใหม่ ป้องกันลดเสี่ยงโรค” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว