สปสช. ปรับบริการวัคซีน คอตีบ–บาดทะยัก ‘หญิงตั้งครรภ์’
สปสช. ปรับคำแนะนำให้ วัคซีน 'หญิงตั้งครรภ์' ตามความเห็น 'คร.' พร้อมออกประกาศฯ รองรับการดำเนินการ หลังได้รับหนังสือจาก คร. ขอให้ปรับเปลี่ยนการฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์บางส่วนให้สอดคล้องกับ 'คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ'
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งหนังสือมาที่ สปสช. เพื่อให้ปรับประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขฯ ให้สอดคล้องกับคำแนะนำการให้วัคซีนของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2567 จึงรับทราบและให้มีการปรับประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “หญิงไทย" ตั้งครรภ์ทุกสิทธิ มีสิทธิ "ฝากครรภ์" คุณภาพ กับกองทุนบัตรทอง
- เรื่องผิว กับ 'คุณแม่มือใหม่' ตั้งครรภ์ต้องระวังอะไร ทำเลเซอร์ได้หรือไม่
- หญิงตั้งครรภ์ ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเด็กในครรภ์
ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักในหญิงตั้งครรภ์ สปสช. ได้กำหนดการรับบริการอยู่ที่ 1-3 ครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงหญิงตั้งครรภ์ที่เคยได้รับวัคซีนดังกล่าวครบ 3 เข็มไปแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดซ้ำ
กรมควบคุมโรค จึงเสนอให้มีปรับความถี่เป็น 0–3 ครั้ง แล้วแต่กรณีตามความจำเป็นของหญิงตั้งครรภ์แต่ละคน อีกทั้ง ตัววัคซีนก็ไม่ใช่แค่การป้องกันแค่โรคบาดทะยักอย่างเดียว แต่ยังป้องกันโรคคอตีบด้วย เลยขอให้เปลี่ยนชื่อเป็น วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ–บาดทะยัก (dT)
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ มีการปรับเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการตามอายุครรภ์ จึงได้มีการเพิ่มเติมหมายเหตุว่าการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ให้เป็นไปตาม “แนวทางการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในผู้ใหญ่” ของกรมควบคุมโรค
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า การดำเนินการของ สปสช. ในการดูแลประชาชนเพื่อเข้ารับบริการด้านสุขภาพนั้น ได้ยึดหลักการตามวิชาการและมติความเห็นของคณะกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น โดยกรณีข้อเสนอการปรับคำแนะนำการให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นของคณะอนุกรรมการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ สปสช. จึงได้ดำเนินการเพื่อให้การให้ประชาชนได้บริการที่สอดคล้องตามหลักวิชาการและแนวทางการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม