จัดระเบียบกัญชา เพิ่มมาตรการ-อุดช่องว่างกฎหมาย
การถอดกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดของประเทศไทย เมื่อปี 2564 ขาดการวิเคราะห์ถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ส่งผลให้มาตรการที่ออกมาเพื่อกำกับดูแล เป็นไปอย่างไร้ทิศทางและไม่รัดกุม
แม้ว่าปัจจุบันจะมีร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ถูกส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรถึง 2 ฉบับ แต่ทว่ายังไม่มีฉบับใดผ่านสภาฯ ยิ่งเป็นการยืดเวลาให้กัญชาตกอยู่ในสภาวะ “ไร้การควบคุม” อย่างเป็นรูปธรรมต่อออกไปอีก
แม้ภาครัฐจะกล่าวอ้างว่ามีกฎหมายในการกำกับดูแล แต่ทว่ากลับมีช่องว่างหลายด้านตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และที่สำคัญที่สุดคือ ช่องโหว่ของการบังคับใช้กฎหมาย จนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่าสามารถใช้กัญชาได้อย่างเสรี ซึ่งในความเป็นจริงกัญชาไม่ได้เสรีตามที่เข้าใจ
ในส่วนของกลุ่มต้นน้ำในอุตสาหกรรมกัญชา ซึ่งก็คือการเพาะปลูก ปัจจุบันแบ่งเป็นการปลูกเพื่อจำหน่ายและเพื่อใช้ในครัวเรือน ในส่วนการเพาะปลูกเพื่อจำหน่าย กฎหมายยังขาดความชัดเจนว่าสามารถปลูกได้โดยเสรีหรือต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ต้องมีการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ.2564
ในขณะที่การใช้ในครัวเรือนเอง มีเพียงข้อกำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ปลูกกัญชาจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” โดยไม่มีข้อกำหนดเพื่อรองรับผลกระทบอย่างเพียงพอ เช่น ข้อกำหนดจำนวนต้นที่สามารถปลูกได้ บริเวณที่อนุญาตให้ปลูกได้ในที่พักอาศัยโดยไม่กระทบสมาชิกในครอบครัว หรือสร้างรำคาญหรือส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน
ขณะที่กลางน้ำ อย่างการนำกัญชาผสมในอาหารปรุงสำเร็จ และใส่ในผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภค พบว่ายังขาดการตรวจสอบที่เข้มงวดเพียงพอ โดยเฉพาะสินค้าประเภท ขนม หรือเครื่องดื่มสำเร็จรูป แม้ว่าก่อนการผลิตต้องขออนุญาตโดยส่งตรวจตัวอย่างสินค้าต่อ อย. เพื่อตรวจสอบก่อนก็ตาม
แต่กฎหมายก็ยังมีความลักลั่นในการควบคุมระหว่างช่อดอกกัญชา และสารสกัดกัญชา
เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายจำกัดห้ามจำหน่ายเฉพาะในส่วนสารสกัดกัญชาที่มีค่าสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 เพราะถือเป็นเป็นยาเสพติดตามกฎหมาย แต่กลับอนุญาตให้จำหน่ายช่อดอกกัญชาในฐานะสมุนไพรควบคุมทั้งที่ในบางกรณีอาจมีค่า THC สูงกว่าร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
สุดท้ายการบังคับใช้กฎหมายควบคุมตรวจสอบการใช้กัญชา ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและขาดการบูรณาการทำงานร่วมกัน เช่น อย.มีหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบและสั่งระงับการจำหน่ายคุกกี้และบราวนี่ที่มีส่วนผสมของสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 แต่การกำกับดูแลสารสกัดกัญชาที่มีค่า THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ซึ่งถือเป็นยาเสพติดกลับเป็นหน้าที่ของ ปปส.ในการดำเนินการ
เช่นเดียวกับหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงเรือนปลูกกัญชา ที่เป็นของ สธ.จังหวัด แต่หากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกกัญชาในพื้นที่กลับเป็นหน้าที่ของ อปท. ในการเข้าไปดูแลและสั่งระงับเหตุรำคาญเหล่านั้น โดยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุญาตตั้งแต่ต้น
แต่มีผู้ผลิตบางรายลักลอบผสมกัญชาลงในผลิตภัณฑ์เกินกว่ามาตรฐานที่แจ้งไว้แต่แรก เนื่องจากมีช่องว่างจากการที่มีการตรวจสอบเพียงครั้งเดียวในขั้นตอนขออนุญาตครั้งแรกเท่านั้น จึงอาจทำให้สินค้าบางส่วนหลุดรอดออกไปส่วนปลายน้ำ เช่น การจำหน่ายช่อดอกและผลิตภัณฑ์จากกัญชานั้น
ในทางปฏิบัติยังมีความหละหลวม เพราะแม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนดให้ช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามจำหน่ายแก่เด็กและเยาวชน และห้ามสูบในร้านจำหน่ายหากไม่มีแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันประจำการอยู่ในสถานที่จำหน่ายก็ตาม
ดังนั้น เพื่อลดช่องว่างของกฎหมายและเพิ่มมาตรการการกำกับดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในด้านต่างๆ เช่น การปลูกต้องได้รับอนุญาตเพื่อการพาณิชย์และต้องใช้ในการแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคที่ได้รับการรับรอง โดยผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดเคร่งครัด เช่น มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี ไม่มีประวัติยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
มีแผนที่แสดงที่ตั้งและพิกัดของสถานที่ที่ขออนุญาตปลูกกัญชา สถานที่เพาะปลูกต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น รั้ว ป้ายเตือน ระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องมีการกำหนด (Zoning) ของพื้นที่การปลูกว่าต้องไม่อยู่ในแหล่งชุมชน หรือใกล้สถานศึกษา
ส่วนร้านค้าปลีก ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายเฉพาะเพื่อการแพทย์ ห้ามการนันทนาการ มีการจำกัดจำนวนร้านในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร หรือแหล่งท่องเที่ยว
นอกจากนี้ การควบคุมการจำหน่ายกัญชาควรต้องมีมาตรฐานในการกำกับดูแลไม่น้อยไปกว่ากฎหมายควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะการจัดพื้นที่ Zoning หรือระยะห่างจากสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนให้ชัดเจน
ส่วนการครอบครองกัญชาในที่สาธารณะ แม้ว่าจะเป็นการครอบครองเพื่อใช้ทางการแพทย์ก็ควรมีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการครอบครอง และควรมีเอกสารแสดงจากแพทย์ผู้รักษาว่าเป็นการครอบครองกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ด้วย
ขณะเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ควรยกเลิกการปลูกกัญชาในครัวเรือน และห้ามนำกัญชา หรือทุกส่วนของกัญชาไปผสมกับอาหารที่ปรุงสำเร็จ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่สามารถบริโภคได้ทันที
รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภค เช่น เครื่องสำอาง น้ำมันนวด ควรข้อกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องปิดมิดชิด มีข้อความเตือน และต้องระบุปริมาณส่วนผสมกัญชาอย่างชัดเจนเพื่อผู้บริโภคจะได้สามารถแยกแยะได้ถูกต้อง
สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลอาจต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน แต่ต้องกำหนดหน้าที่ตามกฎหมายให้ชัดเจนและเหมาะสม เช่น กำหนดให้ อปท. ซึ่งอยู่ใกล้ชิดพื้นที่และชุมชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาออกใบอนุญาตการปลูกและร้านจำหน่ายกัญชา รวมทั้งรับผิดชอบเหตุรำคาญจากการใช้กัญชา โดยอาจจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่
เพิ่มการตรวจสอบของ ป.ป.ส. ในสารสกัดจากกัญชาที่มีค่า THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 และเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินคดีหากพบว่ามีการกระทำความผิด การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายควบคุมกัญชาที่เหมาะสมและรอบด้าน จึงไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางที่เหมาะสม แต่ยังช่วยลดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อผู้บริโภค ชุมชน สังคม และประเทศโดยรวม
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัย เรื่อง “แผนงานวิจัยการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง”
สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ เรื่องกัญชา สกสว.และ วช.