“วัคซีนไข้เลือดออก” 2 ชนิด คนเคย-ไม่เคยป่วย ฉีดต่างกัน

“วัคซีนไข้เลือดออก” 2 ชนิด คนเคย-ไม่เคยป่วย ฉีดต่างกัน

15 มิถุนายน "วันไข้เลือดออกอาเซียน" ปี 67 ไทยป่วยไข้เลือดออกแล้วกว่า 30,000 ราย เสียชีวิต 36 ราย คาดเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ "วัคซีนไข้เลือดออก" ปัจจุบันมี 2 ชนิด คนเคย-ไม่เคยป่วยฉีดต่างกัน

KEY

POINTS

  • ไข้เลือดออกในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึง 5 มิ.ย.พบผู้ป่วยจำนวน 30,353 ราย ผู้เสียชีวิต 36 ราย และคาดการณ์ว่าอาจเสียชีวิตมากกว่า 200 รายในปีนี้ ซึ่งเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี
  • ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ที่น่ากังวล คือ มีคนติดเชื้อแต่อาจจะไม่แสดงอาการป่วย แล้วมียุงมากัด แต่ยุงจะรับเชื้อและสามารถไปแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้ 
  • วัคซีนไช้เลือดออก ตอนนี้มี 2 ชนิด เป็นแบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ก่อนฉีดต้องรู้ว่าตัวเองเคยหรือไม่เคยติดเชื้อหรือป่วยไข้เลือดออกมาก่อน 

15 มิถุนายนของทุกปี เป็น"วันไข้เลือดออกอาเซียน" ( ASEAN Dengue Day)  ภายใต้แนวคิด “Dengue Hero towards Zero Death”  ซึ่งนโยบายขององค์การอนามัยโลกที่อัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกจะต้องหมดไปภายในปี 2573

ไข้เลือดออก คาดเสียชีวิตสูงสุดในรอบ 5 ปี

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทย สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 5 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วยจำนวน 30,353 ราย ผู้เสียชีวิต 36 ราย และคาดการณ์ว่าอาจเสียชีวิตมากกว่า 200 รายในปีนี้ ซึ่งเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี

สำหรับแนวทางการป้องกัน กรมควบคุมโรคได้กำหนดมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน เพื่อป้องกันการระบาดของ"โรคไข้เลือดออกระหว่างเดือน มิ.ย.- ก.ย. 2567" ได้แก่

 1.ด้านการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ โดยการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายน้อยกว่า 5

 2.ด้านการตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกตามแนวทางมาตรฐาน

 3. ด้านการวินิจฉัยและรักษา ให้สถานบริการในพื้นที่ตรวจผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายด้วยชุดตรวจเร็วสำหรับไข้เลือดออก (NS1)

 และ4.ด้านการสื่อสารความเสี่ยง เน้นประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยา NSAID

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จึงขอเชิญชวนประชาชนให้มีสุขภาพดีไปด้วยกันด้วยการร่วมเป็นฮีโร่ในการป้องกันไข้เลือดออก ช่วยกันบอกต่อแนวทางการป้องกันไข้เลือดออกให้กับคนใกล้ตัว เพื่อเป็นการกระจายความรู้ออกไปเป็นวงกว้าง

“80% โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ไม่ได้มาโรงพยาบาลเพราะมีอาการไม่มาก แต่ป่วยเป็นไข้เลือดออก เรียกว่า DF หรือ Dengue fever คือ มีเชื้อไวรัสอยู่ แต่อาการไม่รุนแรง มีไข้ปกติ และไปซื้อยากินเอง  ซึ่งคนไข้ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกนี้ อยู่ที่บ้าน ไม่ได้ทายากันยุง เมื่อยุงมากัดก็นำเชื้อที่มีอยู่ไปแพร่เชื้อต่อคนอื่น เมื่อยุงมากัด”นพ.ธงชัยกล่าว  

อยากรณรงค์ว่า เมื่ออยู่บ้านควรทายากันยุง หรือโลชั่นกันยุง ป้องกันไว้ดีที่สุด เหมือนการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19 แต่ทากันยุงก็ป้องกันไข้เลือดออก ลดการแพร่เชื้อ ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยอาจพุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก อาการระยะไข้ลด อันตราย

ข้อมูลจาก รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ระบุว่า ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์  การติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วย80-90%จะไม่แสดงอาการ

ผู้มีอาการจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาจเป็นไข้เลือดออกซึ่งมีอาการสำคัญแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ

1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชัก เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน

2. ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง

3. ระยะพักฟื้น อาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

วิธีป้องกันไข้เลือดออก

วิธีเบื้องต้นที่จะป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะนำโรค

  • ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทาผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง ใช้มุ้งหรือมุ้งลวด
  •  จัดสภาพแวดล้อมไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น คว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง ปิดภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด หรือใช้ตาข่ายไนล่อนหรือผ้าขาวบางปิดปากโอ่งเพื่อป้องกันยุงลงไปวางไข่
  • หมั่นสำรวจลูกน้ำยุงในภาชนะกักเก็บน้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกัน ทุก ๆ 7 วัน เพื่อตัดวงจรชีวิตลูกน้ำที่กลายเป็นยุง
  • ใช้วิธีทางกายภาพ เช่น ใช้ไม้ตบยุงไฟฟ้า หลอดไฟดักยุง ขัดล้างไข่ยุงลายที่ติดอยู่กับภาชนะใส่น้ำเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย
  • ใช้วิธีทางชีวภาพ โดยการปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร อ่างบัว หรือภาชนะที่ปลูกพืชน้ำ

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุง ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนทั้งในรูปแบบทรายและเม็ด แต่ที่นิยมใช้กัน คือ ทรายกำจัดลูกน้ำยุงหรือทรายทีมีฟอส (Temephos) หากผู้บริโภคต้องการเลือกซื้อเลือกใช้ทรายกำจัดลูกน้ำยุง ให้เลือกที่มีการแสดงเลขทะเบียนวัตถุอันตรายทางสาธารณสุข (วอส.) ในกรอบเครื่องหมาย อย.บนฉลาก

“วัคซีนไข้เลือดออก” 2 ชนิด คนเคย-ไม่เคยป่วย ฉีดต่างกัน

ห้ามใช้กับน้ำที่นำมาดื่มกิน หากสัมผัสโดยตรงกับทรายกำจัดลูกน้ำยุง อาจเกิดการระคายเคืองผิวหนังได้ จึงควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังการใช้

หากพบอาการปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และสงสัยว่าได้รับสารพิษจากทรายกำจัดลูกน้ำยุง ให้รีบพบแพทย์ทันทีและให้นำฉลากไปด้วย ทั้งนี้ หลังจากใช้ทรายกำจัดลูกน้ำยุงไปแล้ว ควรสังเกตว่ายังมีลูกน้ำยุงหรือไม่

หากยังพบอยู่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงในแหล่งน้ำน้อยเกินไปทำให้ความเข้มข้นของสารทีมีฟอสไม่เพียงพอที่จะมีฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุง หรือทรายจำกัดลูกน้ำยุงอาจเสื่อมสภาพหรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงนานเกิน 3 เดือน เป็นต้น

วัคซีนไข้เลือดออก 2 ชนิด

ไข้เลือดออก  เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ เดงกี-1, เดงกี-2, เดงกี-3, เดงกี-4 ซึ่งติดต่อโดยยุงลาย ปัจจุบันวัคซีนไข้เลือดออกมี 2 ชนิด คือ 

1.CYD-TDV (Dengvaxia) ชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนแรง (Live-attenuated)

  • โครงสร้างของวัคซีน ไวรัสไข้เหลืองเป็นแกน ผสมกับไวรัสเดงกี 1-4
  • ประสิทธิภาพ ผลการศึกษาที่ 25 เดือนหลังฉีดวัคซีนป้องกันติดเชื้อแบบมีอาการ ร้อยละ 65ป้องกันการนอนโรงพยาบาล ร้อยละ 80ป้องกันติดเชื้อแบบรุนแรง ร้อยละ 93
  • อายุที่สามารถฉีดได้ 6-45 ปี
  • จำนวนเข็ม 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน
  • ผู้ที่สามารถฉีดวัคซีนได้ ฉีดได้เฉพาะผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออก ควรปรึกษาแพทย์และตรวจเลือดก่อนการฉีด

2. TDV (Qdenga) ชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนแรง (Live-attenuated)

  • โครงสร้างของวัคซีน  ไวรัสเดงกี 2 เป็นแกนผสมกับไวรัสเดงกี 1-4 
  • ประสิทธิภาพ ผลการศึกษาที่ 12 เดือนหลังฉีดป้องกันติดเชื้อแบบมีอาการ ร้อยละ 80ป้องกันการนอนโรงพยาบาล ร้อยละ 90ป้องกันติดเชื้อแบบรุนแรง ร้อยละ 86
  • อายุที่สามารถฉีดได้ 4-60 ปี
  • จำนวนเข็ม 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน
  • ผู้ที่สามารถฉีดวัคซีนได้ ฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน

อ้างอิง : กรมควบคุมโรค ,ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์,รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล