ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A โรคทางเดินหายใจ แต่"สมองอักเสบ"ได้

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A โรคทางเดินหายใจ แต่"สมองอักเสบ"ได้

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ปี  67 เสียชีวิตแล้ว 9 ราย ครึ่งปีไทยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมเกือบ 2 แสนราย  เป็นโรคทางเดินหายใจ แต่มาภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบเกิดขึ้นได้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้  7 กลุ่มฉีดฟรี

KEY

POINTS

  • กรมควบคุมเผยสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ปี  2567 ครึ่งปีป่วยสะสมเกือบ 2 แสนราย เสียชีวิต 10 ราย เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จำนวน 9 ราย
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A  สายพันธุ์ย่อยที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 เป็นโรคติดต่อทาง มีภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบได้ 
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันมีชนิด 4 สายพันธุ์ ป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ได้  รวมถึงป้องกันสายพันธุ์ B รัฐจัดให้ 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดฟรี  

สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 8 มิถุนายน 2567 มีรายงานผู้ป่วย 174,513 ราย

  •  มีรายงานผู้เสียชีวิต 10 ราย ในจังหวัดนครราชสีมา 5 ราย จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 ราย จังหวัดชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 1 ราย
  • โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จำนวน 9 ราย และชนิด B จำนวน 1 ราย

 จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2567 ได้รับแจ้งเหตุการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สะสม 17 เหตุการณ์ พบในเรือนจำมากที่สุด รองลงมา คือ โรงเรียน วัด ค่ายทหาร และโรงงานอุตสาหกรรม ตามลำดับ

สมองอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

ไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่มีเพียงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A 

ติดต่อจากการสัมผัสละอองฝอยจากการไอและการจามของผู้ป่วย เชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-4 วัน 

ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันตามอายุ โดยในกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นจะมีอาการของไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ และเบื่ออาหาร

 ส่วนในเด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบอื่น เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มียารักษา

ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนและให้นอนพักผ่อน

ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัส โอลเซลทามิเวียร์  ในการรักษา

ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรงอื่น อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยเป็นชนิด 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent Influenza Vaccine) ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมไวรัส 4 สายพันธุ์ ได้แก่

    1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A /H1N1       

    2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A  /H3N2   

    3. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria

    4. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata

นอกจากนี้ ในปัจจุบันมี Quadrivalent Influenza Vaccine ชนิด high dose ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป โดยวัคซีนนี้มีปริมาณแอนติเจนมากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั่วไปถึง 4 เท่า จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นจากขนาดปกติ 24.2% และลดการเข้าโรงพยาบาลจากปอดอักเสบได้เพิ่มขึ้น 27.3% จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปี 2567 ภาครัฐดำเนินการช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนสิงหาคม ซึ่งได้จัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ไว้กว่า 4.5 ล้านโดส ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดฟรี ได้แก่

1.หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

2.เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี

3.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป

4.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ ไต หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ระหว่างได้รับยาเคมีบำบัด และเบาหวาน

5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

7.โรคอ้วน

อ้างอิง : กรมควบคุมโรค ,สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ,คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล