สนอ. เตือน เด็ก-ผู้สูงอายุ ระวัง ‘โรคติดเชื้อไวรัส RSV’ ระบาดหนักในหน้าฝน
สำนักอนามัย (สนอ.) กรุงเทพมหานคร เตือน “เด็ก-ผู้สูงอายุ” เฝ้าระวัง ‘โรคติดเชื้อไวรัส RSV’ ซึ่งเป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่มักจะระบาดหนักในช่วงหน้าฝนนี้ พร้อมแนะวิธีป้องกัน และลักษณะอาการของโรคระบาด
สำนักอนามัย (สนอ.) กรุงเทพมหานคร เตือน “เด็ก-ผู้สูงอายุ” เฝ้าระวัง ‘โรคติดเชื้อไวรัส RSV’ ซึ่งเป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่มักจะระบาดหนักในช่วงหน้าฝน
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงกรณีแพทย์เตือนเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัส RSV ระบาดในช่วงฤดูฝนว่า RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดเกือบทุกปีในช่วงฤดูฝน
ลักษณะอาการ โรคติดเชื้อไวรัส RSV
ช่วงแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ผู้ใหญ่ หรือเด็กโตที่แข็งแรงดี อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 2 ปี) ที่ติดเชื้อครั้งแรกพบร้อยละ 20-30 ที่มีอาการโรคลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลม เนื้อปอด) ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยและปอดอักเสบตามมาได้
โดยมักแสดงอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงครืดคราดในลำคอ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ไซนัส หรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
การติดต่อผ่านการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ของเล่น เชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและสามารถอยู่ที่มือได้นานประมาณ 30 นาที
วิธีป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัส RSV
สนอ. ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนโดยเฉพาะในโรงเรียนสังกัด กทม. และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. รวมถึงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราผ่านสื่อต่าง ๆ โดยให้ทุกคนหมั่นล้างมือทั้งมือของตนเองและเด็ก ๆ ด้วยน้ำสบู่ และแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ เช็ดทำความสะอาดจุดที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งบ่อย ๆ
ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมาก ๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา สำหรับผู้ปกครองเมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ