“NAT2” ยีนที่มีในคนไทย 40 % ส่งผลต่อการย่อยสลายยา

“NAT2” ยีนที่มีในคนไทย 40 % ส่งผลต่อการย่อยสลายยา

ไทย 1 ใน 30 ประเทศวัณโรคสูง  คนไทยกว่า 40 %  มียีน NAT2  ย่อยสลายยาต้านวัณโรคช้า  เพิ่มโอกาสเกิดตับอักเสบสูงขึ้น 8.8 เท่า กรมวิทย์เปิดตรวจยีนฟรี 10,000 คน  ช่วยแพทย์ปรับยาเหมาะกับผู้ป่วย ลดอัตราเสียชีวิต  เตรียมดันเข้าสิทธิประโยชน์

การควบคุมวัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย โดยเป็น 1 ใน 2 โรค/ภัยสุขภาพ ที่ไทยยังไม่บรรลุ ตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เช่นเดียวกับอุบัติเหตุจากการจราจร  ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายจะขจัดวัณโรค  ภายในปี 2573  หากมีการดูแลจัดการอย่างเข้มข้น ลดจำนวนวัณโรคตามเป้าหมายได้
ทั้งนี้ ทีมวิจัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Diseases, Japan), มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) และศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ (CENMIG) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเก็บข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเป็นระยะเวลาตั้งแต่ ปี 2560-2563 ในจ.เชียงราย พบว่า มีเชื้อวัณโรคที่สามารถเพาะเชื้อขึ้น และสกัดสารพันธุกรรมมาตรวจหาสายพันธุ์ด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole genome sequencing) จำนวน 592 ตัวอย่าง สามารถระบุสายพันธุ์วัณโรคได้ 4 สายพันธุ์ คือ Lineage 1-4

  •  สายพันธุ์ Lineage 1 (สายพันธุ์อินเดีย) พบมากที่สุด คือ 45.8 %  
  • สายพันธุ์ Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) พบ 39.9 %

ถือเป็นลักษณะจำเพาะของประเทศไทยที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคในประเทศสูง เนื่องจากมีการเชื่อมโยงของผู้คน เชื้อวัณโรคมาจากทั้งสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคในแถบมหาสมุทรอินเดีย และจากสายพันธุ์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออก

 ไทย 1 ใน 30 ประเทศ วัณโรคสูง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2567 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการเปิดโครงการตรวจวิเคราะห์แนททู ไดโพลทัยป์ (NAT2) diplotype) ด้วยเทคนิคเรียลไทม์พีซีอาร์ (Real-time PCR) เพื่อใช้ประกอบการปรับระดับยาต้านวัณโรค Isoniazid (ไอโซไนอะซิด) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  กล่าวในการเป็นประธานเปิดว่า  ประเทศไทย เป็น 1 ใน 30 ประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำกว่า 80,000 คนต่อปี และเสียชีวิตประมาณ 7,800 รายต่อปี การรักษาวัณโรคจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยได้รับยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งผลข้างเคียงของยาต้านวัณโรคทำให้มีอาการตับอักเสบ ผู้ป่วยบางรายจึงต้องหยุดยา  การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นำเทคโนโลยีนวัตกรรมการตรวจ NAT2 diplotype (แนททู ไดโพลทัยป์) มาใช้ มีเป้าหมายเพื่อตรวจหายีนย่อยยาวัณโรคในผู้ป่วย ให้แพทย์ผู้รักษามีข้อมูลไว้ใช้ปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ลดการเกิดตับอักเสบจากยาต้านวัณโรคทำให้รับยาได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายในการยุติวัณโรค

NAT2 มีผลต่อการย่อยสลายยาวัณโรค

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า บางคน NAT2 ทำงานดี ยาที่ให้เข้าไปจะถูกย่อยสลายเร็ว ก็มีผลต่อการรักษา หรือบางคน NAT2ไม่ค่อยทำงาน ทำให้เกิดโรคซ้อนขึ้นมา เช่น ตับอักเสบ ดังนั้น การตรวจหา NAT2 ในผู้ป่วยวัณโรคจึงเป็นประโยชน์ต่อการรักษา จะทำให้แพทย์ทราบว่าต้องให้ยาอย่างไรจึงเกิดประสิทธิภาพ  จะช่วยลดอัตราการตายได้  

“ ปัจจุบันการตรวจนี้ยังไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ แต่ผมในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) จะผลักดันเรื่องนี้ให้เข้าสู่สิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยสิทธิ 30 บาทต่อไป เพราะดูแล้วค่าใช้จ่ายไม่สูง  หลักร้อยบาทต่อครั้ง แต่เป็นประโยชน์มาก” นายสมศักดิ์ กล่าว

ตรวจยีนNAT 2 ฟรี 10,000 คน

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดทำโครงการตรวจวิเคราะห์ NAT2 diplotype ด้วยเทคนิค Real-time PCR เพื่อใช้ประกอบการปรับระดับยาต้านวัณโรค Isoniazid   ในผู้ป่วยวัณโรค จำนวน 10,000 ราย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้การแพทย์จีโนมิกส์หรือการแพทย์แม่นยำเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคตามยุทธศาสตร์ที่ 2 ของแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ในการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาตามมาตรฐานสากล

40% คนไทยมียีน NAT2ย่อยสลายยาช้า

ขณะที่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 5-10 % มีภาวะตับอักเสบจากยาต้านวัณโรค  ทำให้การรักษาวัณโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก ยีน NAT2 มีหน้าที่ในการย่อยสลายยาต้านวัณโรค Isoniazid   ทำให้แต่ละบุคคลมีความสามารถในการย่อยสลายยาแตกต่างกัน
หากมียีน NAT2 เป็นแบบย่อยสลายยาช้า จะทำให้มีโอกาสเกิดตับอักเสบสูงกว่าแบบอื่นถึง 8.8 เท่า และประชากรไทย 40 % มีการย่อยสลายยาช้า ดังนั้นการตรวจยีน NAT2 จะช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถตัดสินใจในการปรับระดับยา Isoniazid ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยวัณโรค

“ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค ต้องกินยาอย่างน้อย 6 เดือน หรือหากมีปัญหาสุขภาพต้องกินนาน 8 เดือน และยา Isoniazid เป็นยาที่จำเป็นมากที่ต้องกินตลอดระยะเวลา6-8เดือน แต่คนไทยครึ่งหนึ่งมีปัญหาในการย่อยยารักษา และพบว่าสาเหตุการตายของผู้ป่วยวัณโรคไม่ใช่จากวัณโรค แต่เป็นตับอักเสบ และโรคร่วมต่างๆ ดังนั้นตับอักเสบจากการได้ยา Isoniazid ถือเป็นปัญหาสำคัญในการรักษาวัณโรคให้สำเร็จ”นพ.ยงยศกล่าว   

“NAT2” ยีนที่มีในคนไทย 40 % ส่งผลต่อการย่อยสลายยา

5 วันรู้ผลตรวจยีน NAT 2

นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า  การตรวจยีนNAT 2 จะเป็นการแก้ไขปัญหาการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่แรก โดยเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่ามีผู้ป่วยวัณโรคเกิดขึ้น ก็ให้เจาะเลือดส่งมาที่ศูนย์วิทยาการแพทย์ที่อยู่ในหรือใกล้จังหวัด ส่วนลางก็ส่งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใน 5 วันทำการก็จะทราบผลว่าผู้ป่วยมียีนNAT 2 เป็นอย่างไรย่อยยาเร็วหรือย่อยยาช้าหรือปกติ จะไปเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องของการให้ยาของผู้ป่วยทุกราย ซึ่งยีน NAT 2 นี้จำเพาะเฉพาะการย่อยยาวัณโรคที่เป็นยา Isoniazid เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมยาอื่นๆ

“การตรวจยีน NAT 2ในผู้ป่วยวัณโรคนี้เป็นวิธีใหม่ ที่นักวิทยาศาสตร์ ของกรมได้พัฒนาขึ้นเอง โดยเป็นการแยกยีนที่ย่อยยา Isoniazid มาประมาณปีเศษๆ ซึ่งได้มีการทดลองทำในหลายพื้นที่มาแล้ว พบว่าความสำเร็จในการรักษา 100 % ทั้งหมด เพราะคนไข้กินยาแล้ว ตับไม่อักเสบ ไม่คลื่นไส้อาเจียน ทนต่อยาได้ คุณภาพชีวิตต่างกันมากสำหรับคนที่ตรวจยีนนี้และไม่ได้ตรวจ”นพ.ยงยศกล่าว 

ไทยตกตัวชี้วัดวัณโรคทุกเรื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยตกตัวชี้วัดเกี่ยวกับวัณโรคทุกเรื่อง ทั้งการค้นหาผู้ป่วยก็ยังไม่ได้ตามเป้า ,การรักษาได้ 80,000 คน แต่องค์การอนามัยโลกบอกว่า ประเทศไทยน่าจะมีมากกว่า 1 แสนคน และคนที่เข้าสู่การรักษาแล้ว แต่กลับไม่สามารถกินยาจนครบ 6 เดือน หรือ 8 เดือนได้ เนื่องจากการแพ้ยา และการติดตามผู้ป่วยของไทยยังไม่ดี ผู้ป่วยหายไประหว่างการรักษา ที่สำคัญ การตายสูงกว่าทุกๆ ประเทศ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

“วัณโรคในไทยพบอัตราเสียชีวิตมากกว่าหลายประเทศ เพราะสายพันธุ์วัณโรคบ้านเราค่อนข้างรุนแรง  ไม่เหมือนสายพันธุ์ยุโรป ที่ไม่รุนแรงและรักษาง่าย ไม่ค่อยระบาด แต่สายพันธุ์ในไทยเชื่อว่ารักษายาก ที่สำคัญคนที่ป่วยจะเป็นแรงงานเดินทางระหว่างประเทศ การรักษาไม่ต่อเนื่อง ทำให้เสี่ยงเรื่องวัณโรคดื้อยา กลายเป็นปัญหาที่หนักขึ้น” นพ.ยงยศ กล่าว
 

สำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ  หน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถส่งตัวอย่างเลือดผู้ป่วยวัณโรค ตรวจ NAT2 diplotype โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.2567 - 27 ก.ค. 2568  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 029510000 ต่อ 98095 หรือ 98096