แฉเล่ห์ “บุหรี่ไฟฟ้า”ที่ต้องรู้ให้ทัน 1 ปีคนไทยเป็นเหยื่อเพิ่ม 10 เท่า

แฉเล่ห์ “บุหรี่ไฟฟ้า”ที่ต้องรู้ให้ทัน 1 ปีคนไทยเป็นเหยื่อเพิ่ม 10 เท่า

กระฉูด! 1 ปี คนไทยอัดสารพิษบุหรี่ไฟฟ้าเข้าปอดเพิ่ม 10 เท่า เฉพาะเด็กเยาวชนมากขึ้นกว่า 5 เท่า 30%เด็กในร.ร.สูบ ร้านขายรุกคืบรอบสถานศึกษา ปี67 สคบ.ยึดของกลางมูลค่ากว่า 80 ล้าน แฉเล่ห์ที่ทำให้เด็กเยาวชนตกเป็นเหยื่อ

KEY

POINTS

  • บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ห้ามนำเข้า และจำหน่าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับพบว่ามีการขายเกลื่อน แม้แต่ร้านใกล้สถานศึกษา
  • 1 ปีพบตัวเลขคนไทยอัดสารพิษบุหรี่ไฟฟ้าเข้าปอดเพิ่มขึ้น 10 เท่า  น่าห่วงหนักกลุ่มเด็กเยาวชนดูดมากขึ้นกว่า 5 เท่า 
  • แฉเล่ห์บุหรี่ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์การตลาด “แสร้งทำเป็นมิตร” ทำเด็กเยาวชนตกเป็นเหยื่อ เตือน “พก”เข้าข่ายครอบครองสินค้าลักลอบนำเข้า เสี่ยงมีประวัติคดีติดตัว  

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่อาคาร CP ALL Academy สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดแถลงข่าว "ปลอดภัยจากควันพิษ : ร่วมรณรงค์ ขจัดบุหรี่ไฟฟ้า สร้างสังคมสุขภาพ" เพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า

นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. กล่าวว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงเยาวชนได้ง่าย โดยพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน มีการออกแบบเป็นลักษณะรูปการ์ตูน มีขนาดเล็ก พกพาง่าย ล่อตาล่อใจ ซึ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และมีภาวะซึมเศร้า

โดยเฉพาะกลิ่นและรสชาติบุหรี่ไฟฟ้ามีของเหลวปรุงแต่งรสประมาณ 20,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีระเหยง่าย แต่อาจไม่ปลอดภัยเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นควันที่สูบหรือสูดเข้าไป ซึ่งขณะนี้มีการขายแบบไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย มีประชาชนรวมถึงผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนจำนวนมากร้องเรียนให้จัดการบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการลักลอบขายใกล้สถานศึกษา

เด็กเยาวชนพกบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงคดีติดตัว

การลักลอบผลิตเพื่อขาย ขาย บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการที่ 24/2567 เรื่อง ห้ามผลิตเพื่อขาย ห้ามขายหรือให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หากฝ่าฝืนเป็นความผิดตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตั้งแต่ก.พ.2567 สคบ.มีการดำเนินการยึดของกลางแล้วหลายแสนชิ้น มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท  และพบว่ามีการหลบเลี่ยงการยึดของกลาง โดยการเปิดหน้าร้านที่หนึ่งแล้วสต็อคของไว้อีกแห่ง ส่วนกรณีการนำเข้าซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

หากกรณีที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นการครอบครองสิ่งของลักลอบนำเข้า ตามกฎหมายศุลกากรมีโทษจำคุก 5 ปี  ดังนั้น หากเป็นเด็กและเยาวชนครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าแล้วไม่ได้มีการระงับในชั้นศุลากร ก็จะติดคดีและมีประวัติคดีเกิดขึ้น 

ทั้งนี้ พบเห็นการลักลอบผลิตเพื่อขาย ขาย บุหรี่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ หรือ www.ocpb.go.th หรือศูนย์ดำรงธรรม ในทุกจังหวัด

1ปีสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10 เท่า

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า "บุหรี่" เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพสูง เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคมะเร็งมากที่สุดถึง 26.1% เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า และมะเร็งปอด 25 เท่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบัน "บุหรี่ไฟฟ้า" กำลังเป็นกระแสนิยมในเด็ก เยาวชน และผู้หญิง โดยพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 78,742 คน ในปี 2564 เป็น 709,677 คน ในปี 2565

เนื่องจากธุรกิจยาสูบปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งเน้นเด็ก เยาวชนและผู้หญิงเพิ่มขึ้น และพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติและเรื่องธรรมดา ทำให้ผลสำรวจบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนไทย (GYTS) ปี 2565 พบเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า คือ จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565

ต่างประเทศฟ้องร้องบ.บุหรี่

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กรรมการวิชาการ ศจย. กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา ในอดีตมีคดีการฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ ที่มีการโกหกสาธารณะในหลายประเด็น ทั้งเรื่องอำนาจการเสพติด การควบคุมระดับสารของนิโคตินได้ ผลกระทบต่อสุขภาพ การทำการตลาดต่อเด็กและเยาวชน การกล่าวอ้างถึงความปลอดภัยของบุหรี่ เช่น คำว่า LIGHT หรือ MILD ทำให้บริษัทบุหรี่แพ้คดี และต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับปัจจุบันที่มีฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำการตลาดกับเด็กและเยาวชน นำไปสู่การจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาลเช่นกัน

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มได้รับการคุกคามจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะยังเป็นของต้องห้ามตามกฎหมาย แต่กลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่แตกต่างกับบริษัทบุหรี่เดิม ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมีมาไม่นาน เมื่อเทียบกับบุหรี่มวนที่กว่าจะรู้ว่าอันตรายก็ใช้เวลานานแล้วจะมั่นใจได้ว่าอย่างไรว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ดังนั้น อย่าไปยุ่งกับบุหรี่ไฟฟ้าดีที่สุด

แสร้งเป็นมิตร กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ไฟฟ้า

สมชาย โต๊ะอีสอ นักจิตวิทยาคลินิก สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า  บุหรี่ไฟฟ้าแม้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ตัวเลขการใช้ในผู้หญิง เด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งสิ่งที่บุหรี่ไฟฟ้าทำคือซ่อนพิษ โกหก หลอกลวง ในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปลักษณ์ส่วยงาม เลียนแบบตัวการ์ตูน คล้ายยูเอสบี พวงกุญแจ หากไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า

เป็นการตลาดที่เรียกว่า child friendly product เพื่อให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นมิตรกับเด็กเยาวชน  แต่ไม่บอกว่าในนั้นมีสารพิษ สารเคมีที่เป็นอันตราย  เพราะการเล่นกับอรมณ์ ความอยากรู้ อยากลองของเยาวชนเป็นเรื่องง่าย ถือเป็นจุดที่อันตรายมาก