"หลอดเลือดสมองแตก" ปี 67 คนไทยตายสูงถึง 20.77 % อายุน้อย วัยทำงานก็เกิด
ปี 2567 มีอัตราตายจากหลอดเลือดสมองแตกสูงถึง 20.77 % อายุน้อยวัยทำงานก็เกิดขึ้น เช็กสาเหตุ -การป้องกัน อาการส่งสัญญาณโรคหลอดเลือดสมอง ต้องรีบไปรพ. รักษาเร็ว ลดพิการ-เสียชีวิต
KEY
POINTS
- จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมองแตก 21.13 % และในปี 2567 เก็บข้อมูลยังไม่ครบทั้งปี ตัวเลขสูงถึง 20.77 %
- หลอดเลือดสมองแตกอายุน้อย วัยทำงานก็เกิดได้ ไม่เฉพาะแต่ในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่สาเหตุอาจจะแตกต่างกันไปตามช่วงวัย
- หลอดเลือดสมองแตกในคนอายุน้อย สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน และสัญญาณโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบนำส่งรพ. รักษาเร็ว ลดความพิการและการเสียชีวิตได้
หลอดเลือดสมองแตก หลายคนอาจเข้าใจว่าเกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาจจะมีสาเหตุแตกต่างกันไปตามช่วงวัย
โดยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรค(Stroke) แม้ส่วนใหญ่อาจจะเกิดในผู้สูงอายุ แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่า 50 ปี สามารถพบได้มากถึง 15% หากพบในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 40 ปี จะจัดเป็นโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย หรือ stroke in the young
สโตรค(Stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดสมอง ตีบ อุดตัน หรือ หลอดสมองเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมาก
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมองแตก 21.13 % และในปี 2567 ที่ยังเก็บข้อมูลไม่ครบทั้งปี ก็พบว่า ตัวเลขสูงถึง 20.77 %
สาเหตุเส้นเลือดสมองแตก อายุน้อย วัยทำงาน
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยอายุน้อย สาเหตุที่พบ มักเกิดจากสาเหตุของหลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดผิดปกติ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ จนเมื่ิอเกิดปัญหาหลอดเลือดแตก จึงมีอาการทางระบบประสาท
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้เป็นระยะเวลานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดเซาะ ฉีกขาด ทำให้หลอดเลือดสมองแตกในที่สุด ทำให้เกิดมีเลือดออกในสมอง เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
อาการเลือดออกในสมอง
อาการเลือดออกในสมอง ผศ.น.พ. ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใด แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ความรู้สึกตัวผิดปกติ พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง
อาการทางระบบประสาทขึ้นกับตำแหน่งที่เลือดออก และหากมีเลือดออกที่สมองน้อย ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเซ ทรงตัวลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งดูแล้วอาจจะคล้ายคนเมาได้ เนื่องจากสมองส่วนนี้ จะทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ราบรื่น
เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร่งด่วน
รักษาเลือดออกหลอดเลือดสมอง
พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า แนวทางการวินิจฉัยและรักษา แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งเอกซเรย์สมอง เพื่อยืนยันว่ามีเลือดออกในสมองและตำแหน่งของความผิดปกติ เพื่อวางแผนในการรักษา โดยที่อัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองค่อนข้างสูง
หากผู้ป่วยสามารถไปถึงโรงพยาบาลได้เร็ว ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว สามารถลดความพิการและการเสียชีวิตได้
การรักษาจะขึ้นกับตำแหน่งและปริมาณของเลือดที่ออก หากมีเลือดออกปริมาณเล็กน้อย อาจจะให้การรักษาแบบประคับประคองและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ แต่หากเลือดออกในปริมาณสูง อาจจะมีความจำเป็นต้องผ่าตัดระบายเลือดออก และลดความดันในกะโหลกศีรษะ
หากสาเหตุของเลือดออกเกิดจากหลอดเลือดผิดปกติ หรือหลอดเลือดโป่งพอง แพทย์ก็จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดเพื่อปิดทางเดินหลอดเลือดที่ผิดปกติ หรืออาจจะต้องรักษาด้วยหลากหลายวิธีร่วมกัน
“การป้องกันภาวะหลอดเลือดออกในสมอง สำคัญที่สุด ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ควรตรวจรักษาและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีตลอด เพื่อลดโอกาสของการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง และเมื่อมีอาการที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดลำบาก ปากตก แขนขาอ่อนแรง เดินเซที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ให้ไป ไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะรู้อาการ ไปโรงพยาบาลเร็ว โอกาสรอดและปลอดอัมพาตก็จะสูงขึ้น”พญ.ทัศนีย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม รพ.พระราม 9 ได้ระบุถึง ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย ด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดไขมันอุดตันและทำลายหลอดเลือด ซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ในทุกกลุ่มอายุ ในกลุ่มคนอายุน้อย ที่ควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะไขมันอุดตัน และเสี่ยงกับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
- โรคความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้ยาเสพติด เช่น ยาบ้า โคเคน เฮโรอีน เป็นต้น
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงในผู้หญิงอายุน้อย คือ - การมีไมเกรนชนิดมีอาการนำ (Migraine with aura)
- การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น 2.75 เท่า ในขณะที่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำกว่า และเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในปัจจุบันนั้น มีผลการศึกษาพบว่า เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น 1.9 เท่า
- การตั้งครรภ์ พบได้ประมาณ 30 ครั้งต่อการตั้งครรภ์ 100,000 ครั้ง สาเหตุที่ระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น เพราะการตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวง่ายขึ้น
อ้างอิง : กรมการแพทย์ , รพ.พระราม 9