เช็ก “วัคซีน” ที่ต้องฉีด ก่อนไป 42 ประเทศ ไม่เฉพาะ “วัคซีนฝีดาษลิง”

เช็ก “วัคซีน” ที่ต้องฉีด ก่อนไป 42 ประเทศ ไม่เฉพาะ “วัคซีนฝีดาษลิง”

กรมควบคุมโรค ประกาศ 42 เขตติดโรค ก่อนเดินทางไปต้องฉีด วัคซีนไข้เหลือง และมีวัคซีนอื่นๆที่ควรได้รับก่อนไปในประเทศต่างๆ

KEY

POINTS

  • วัคซีนฝีดาษลิง กลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 ได้รับการปลูกฝี โอกาสติดน้อยลง 5 เท่า
  • วัคซีนผู้ไปต่างประเทศ ไทยประกาศ 42 ประเทศเขตติดโรค ต้องได้รับวัคซีนไข้เหลือง และควรฉีดมีอีกหลายชนิด ก่อนเดินทางควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนที่เหมาะสมกับปลายทาง  
  • สถานที่รับวัคซีนผู้ไปต่างประเทศ อาทิ หน่วยงานคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รพ.เอกชน  

เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของ โรคเอ็มพอกซ์ หรือ ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง เคลด 1บี เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ  หลังมีการระบาดอย่างหนักในประเทศแถบแอฟริกา

ก่อนที่ต่อมาประเทศสวีเดนจะรายงาน พบผู้ป่วย ฝีดาษลิง เคลด 1บี รายแรกนอกพื้นที่ทวีปแอฟริกา ขณะที่ประเทศไทยก็รายงานเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2567 ตรวจเจอผู้ป่วยรายแรกเช่นกัน โดยเป็นชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางเข้าไทยมาจากประเทศแถบแอฟริกาที่มีการระบาดของโรค ได้ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ 

 

ไปพื้นที่ระบาดควรรับวัคซีนฝีดาษลิง

เกิดความหวั่นวิตกต่อสถานการณ์ จนมีการพูดถึงเรื่องของ “วัคซีนฝีดาษลิง” โดยในส่วนของประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาด ประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เตรียมที่ช่วยเหลือเรื่องของวัคซีนและองค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตวัคซีนเพิ่มการผลิตวัคซีน MPox เพื่อใช้ควบคุมการระบาด

ขณะที่ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (ECDC) ได้ปรับคำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ว่า ผู้ที่เคยได้รับ วัคซีนป้องกันมาก่อน อาจฉีดเพียงเข็มเดียวเท่านั้น แทนการฉีดวัคซีนสองเข็ม โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกๆ 2 - 10 ปี หากบุคคลนั้นยังมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้ออย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ยังแนะนำให้คน 2 กลุ่มที่ควรต้องรับวัคซีน ได้แก่

1.กลุ่ม Health Care Worker เช่น พยาบาลที่ต้องทำงานในพื้นที่ระบาด

2.กลุ่มที่มีการสัมผัสเชื้อแล้ว เช่นคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วพบว่ามีเม็ดขึ้น

ซึ่งยังสามารถรับวัคซีนได้ทันภายใน 4 วันภูมิคุ้มกันขึ้นจะป้องกันการติดเชื้อได้อาจจะไม่ถึง 100 % แต่ถ้ารับภายในวันที่5-14 จะป้องกันความรุนแรงได้ โดยจะต้องรับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน

ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตวัคซีนมาขึ้นทะเบียนนำเข้าในประเทศไทย มีเพียงการนำเข้ามาเพื่อศึกษาวิจัย ทว่า คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 ซึ่งเคยได้รับวัคซีนไข้ฝีดาษหรือการปลุกฝีแล้ว จะมีโอกาสติดเชื้อน้อยลง 5 เท่า และป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 

 

 5 กลุ่มวัคซีนผู้ไปต่างประเทศต้อง-ควรฉีด

ไม่เพียงแต่วัคซีนฝีดาษลิงเท่านั้น ในกรณีที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ก็ควรรับวัคซีนป้องกันโรคด้วย โดยหน่วยงานคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว กรมควบคุมโรค ระบุ

วัคซีนที่ให้บริการสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

1.วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง ประเทศที่ต้องฉีดไข้เหลืองตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ คือ ผู้ที่จะเดินทางไปใน 42 ประเทศ เป็นทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ 13 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 29 ประเทศ ต้องฉีดก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน และร่างกายจะมีภูมิต้านทานตลอดชีวิต เช็กรายชื่อประเทศ

2.วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น สำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาในประเทศซาอุดิอารเบีย และในแอฟริกา ตั้งแต่ประเทศแกมเบีย บูร์กินาฟาโซ เซเนกัล กีนี ไล่ไปทางตะวันออกจนถึงประเทศเอธิโอเปีย หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่ ต้องฉีดก่อนเดินทางอย่างน้อย 10 วัน และร่างกายจะมีภูมิต้านทาน 3 ปี

3.วัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรค สำหรับผู้ทำงานเดินเรือระหว่างประเทศ หรือไปในพื้นที่เสี่ยง หรือมีการระบาด เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 14-42 วัน

ต้องงดน้ำและอาหารก่อนมารับประทานวัคซีนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และงดน้ำและอาหารหลังรับประทานวัคซีนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จะมีภูมิต้านทาน 7 วันหลังจากที่รับประทานครั้งที่ 1 และภูมิต้านทานนาน 2 ปี

4.วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับเดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาในประเทศซาอุดิอารเบีย หรือประเทศที่มีการระบาด ต้องฉีดก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ร่างกายจะมีภูมิต้านทาน 1 ปี

5.วัคซีนอื่นๆ  ได้แก่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก, ไข้สุกใส, ตับอักเสบ เอ, ตับอักเสบ บี, ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น

 

วัคซีนผู้ไปต่างประเทศที่แนะนำ 

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนที่แนะนำเพิ่มเติม ได้แก่

- วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ ส่วนใหญ่จะพิจารณาให้ฉีดในนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดโรคไทฟอยด์

- วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในพื้นที่ห่างไกลอย่างประเทศอินเดีย ประเทศจีน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ เนื่องจากหากนักท่องเที่ยวถูกสัตว์กัดแล้ว การหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อาจทำได้ยากมาก จึงควรพิจารณาให้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสโรค

- วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอีกเสบเอ แนะนำให้วัคซีน ในประชากรกลุ่มเด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ที่อาจจะไม่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติมาก่อน  ที่จะเดินทางไปในประเทศกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ คือ ประเทศในทวีปแถบเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียใต้ และประเทศในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ ฉีด 2 เข็ม โดยมีระยะเวลาห่างกัน 6-12 เดือน

- วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ถ้าหากไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้มาก่อน และไม่เคยมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ (หรือไม่แน่ใจว่าเคยเป็นมาก่อนหรือไม่) ควรรับการฉีด MMR 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง โดยไม่จำเป็นต้องตรวจระดับภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน ซึ่งจะแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำในการรับวัคซีน และควรตรวจสุขภาพก่อนออกเดินทาง

 

สถานที่รับวัคซีนผู้ไปต่างประเทศ

หน่วยงานคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ และออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ (สมุดเล่มเหลือง) พร้อมทั้งให้คำแนะนำก่อน ระหว่าง และหลังการเดินทาง และประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง

เปิดให้บริการในเวลาราชการ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 น. – 15.00 น. (หยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) โดยให้บริการทั้งรายบุคคล และเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อด้วยตนเอง หรือทำนัดหมายออนไลน์ล่วงหน้า

รวมถึง ในรพ.เอกชนหลายแห่งก็มีบริการวัคซีนเช่นกัน 

 

 

อ้างอิง : กรมควบคุมโรค ,รพ.เปาโล