ไทยค่าใช้จ่ายโรคNCDsกว่า 130,000 ล้าน ดึงซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดลดเสี่ยงโรค

ไทยค่าใช้จ่ายโรคNCDsกว่า 130,000 ล้าน ดึงซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดลดเสี่ยงโรค

"สมศักดิ์"เผยไทยมีค่าใช้จ่ายโรคNCDs กว่า 130,000 ล้านบาท ขณะที่กิจกรรมทางกายคนไทย ปี 66 ลดเหลือ 68.1% สสส. จัดเทศกาล The ICONiC Run Fest Thailand Series Sukhothai 2024 ดึง Soft Power ขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค -เศรษฐกิจ

วันที่ 24 ส.ค. 2567 ที่วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (องค์การมหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าผู้จัดกีฬามวลชน สมาพันธ์เดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย และภาคีเครือข่าย จ.สุโขทัย จัดเทศกาลงานวิ่ง The ICONiC Run Fest Thailand Series Sukhothai 2024 กิจกรรม เดิน วิ่ง กิน เที่ยว เพื่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิด รวมพลังสร้างสุขภาพดี เศรษฐกิจดี สร้างเมืองสู่ความยั่งยืน ต้นแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับประเทศ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคNCDs เป็นโรคที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายถึง 130,000 ล้านบาท ถ้าไม่สามารถหยุดการเจ็บป่วยคนจากโรคนี้ได้ ก็จะยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายงบประมาณยิ่งมากขึ้น

ไทยค่าใช้จ่ายโรคNCDsกว่า 130,000 ล้าน ดึงซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดลดเสี่ยงโรค

หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคNCDs คือการที่สสส.และภาคีร่วมกันจัดงาน The ICONiC Run Fest Thailand Series Sukhothai 2024 เป็นการบูรณาการแนวคิดทั้งการเดิน-วิ่ง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงเศรษฐกิจ นอกจากช่วยสร้างกระแสส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มอัตราการมีกิจกรรมทางกาย ส่งต่อองค์ความรู้การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ ปลูกฝังค่านิยมลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคNCDs ยังทำให้เกิดประโยชน์กับ จ.สุโขทัย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ความสำเร็จการจัดงานครั้งนี้ มาจากการสานพลังความร่วมมือ ทั้งจากหน่วยงานระดับท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะคนในชุมชน ช่วยยกระดับ จ.สุโขทัย เป็นต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพจุดประกายให้เกิดการงานเทศกาลเดิน-วิ่ง กิน เที่ยว เพื่อสุขภาพในพื้นที่อื่นๆ และส่งต่อความสำคัญขยายผลไปในระดับประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์จังหวัดในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากการสร้างงานเทศกาลแบบยั่งยืน” ต่อไป

​นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเด็นสุขภาพให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีทุกมิติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเน้นสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน สานพลังภาคีเครือข่ายรณรงค์สร้างความตระหนักการบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ ควบคู่กับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

จากรายงานสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยปี 2566 โดยศูนย์พัฒนาความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย พบว่า โควิด-19 ทำให้อัตราการมีกิจกรรมทางกายลดลงจาก 74.6% ในปี 2562 เหลือ 54.3% ในปี 2563 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 62.0% ในปี 2565 และ 68.1% ในปี 2566 การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างแนวทางและโอกาสเพิ่มอัตราของกิจกรรมทางกายในรูปแบบเทศกาลสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ ลดความเสี่ยงเกิดโรค NCDs ในอนาคต

“The ICONiC Run Fest นำร่องต้นแบบการจัดงานใน 5 จังหวัด ที่ผ่านมา ประเดิมสนามแรกไปที่ จ.เชียงราย มีผู้เข้าร่วมเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 2,000 คน จ.สุโขทัย นี้ นักวิ่งก็ยังคงสมัครเข้าร่วมกว่า 2,000 คนเต็มอย่างรวดเร็ว สำหรับสนามที่ 3 จ.นครราชสีมา จะจัดขึ้นวันที่ 7-8 ก.ย. 2567 จ.มุกดาหาร วันที่ 5-6 ต.ค. และจ.นครศรีธรรมราช วันที่ 26-27 ต.ค. 2567 ระยะทาง 10 กม. และ 5 กม. โดยนักวิ่งจะได้รับเสื้อ BIB และเหรียญสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดเป็นของที่ระลึก สมัครร่วมกิจกรรมได้ที่ http://thai.fit หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ The Iconic Run Fest” กรรมการกองทุน สสส. กล่าว
ไทยค่าใช้จ่ายโรคNCDsกว่า 130,000 ล้าน ดึงซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดลดเสี่ยงโรค
น.ส.สรินรัตน์ เกิดสกุลรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายในมีเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป อุโบส และเจดีย์ราย ๒๐๐ องค์ การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมของ จ.สุโขทัย ผ่านเส้นทางวิ่ง สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่มีความเรียบง่าย งดงาม ช่วยสร้างโอกาสเสริมสร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในทุกด้านอย่างมหาศาล

นอกจากศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดกโลก ยังมีผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกเพื่อสุขภาพ เมนูอาหารเพื่อสุขภาพในท้องถิ่น ส้มตำไข่ขาวผักรวมน้ำสัปปะรด ที่มีผักและสมุนไพรไฟเบอร์สูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีปริมาณไขมันต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดเสี่ยงโรค NCDs ในระยะยาว เชื่อมั่นว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากการสร้างงานเทศกาลแบบยั่งยืน เพื่อให้จังหวัดสุโขทัยเป็นจังหวัดต้นแบบ จุดประกายให้เกิดเทศกาลเดิน วิ่ง กิน เที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป