รัฐบาลเดินหน้า 'กัญชากัญชง' เพื่อการแพทย์ - มูลค่าเศรษฐกิจ

รัฐบาลเดินหน้า 'กัญชากัญชง' เพื่อการแพทย์ - มูลค่าเศรษฐกิจ

ชัดเจนว่ารัฐบาล "แพทองธาร ชินวัตร" จะเดินหน้ากัญชากัญชงเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจและควบคุมผลกระทบทางสังคม โดยการตรากฎหมาย ตามที่มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ซึ่งมีการประเมินไว้ว่า เกิดมูลค่าตลาด 200,000 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันตามกฎหมายของประเทศไทย "กัญชากัญชง" ไม่ได้เป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นเพียงสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2 % ที่ถือว่าเป็นยาเสพติด ขณะที่ "ช่อดอกกัญชากัญชง" ถือเป็นสมุนไพรควบคุมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาต ฉะนั้นในส่วนอื่นของพืชกัญชากัญชง ทั้งกิ่ง ก้าน ใบ ลำต้น เมล็ด รวมถึง เส้นใยกัญชง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 

ยิ่งเมื่อรัฐบาลใหม่มีนโยบายให้ "ตรากฎหมาย" หรือ "พ.ร.บ.กัญชากัญชง" ออกมาควบคุมกำกับ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับสังคมถึงการควบคุมส่วนที่มีการทำผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น ขณะที่ผู้ประกอบการทางธุรกิจ "หากดำเนินอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้มาตรฐานตามที่กำหนด รัฐบาลไม่ได้มีการขัดขวางและพร้อมส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ยกร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงเพื่อเดินหน้า 

สำหรับ "พ.ร.บ.กัญชากัญชง" ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้มีการนำ(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... เปิดรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญคือ การกำหนดอนุญาตให้บริโภคได้ใน 3 วัตถุประสงค์ ดังนี้ 

  1. การบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้กับมนุษย์ เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายหรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์,ทันตแพทย์,แพทย์แผนไทย,แพทย์แผนไทยประยุกต์, แพทย์แผนจีนหรือหมอพื้นบ้าน
  2. การศึกษาวิเคราะห์หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ ศึกษาวิจัยหรือจัดการ เรียนการสอนสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ศึกษาวิจัย และจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ 
  3. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, ยา, อาหาร, เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้

รัฐบาลเดินหน้า \'กัญชากัญชง\' เพื่อการแพทย์ - มูลค่าเศรษฐกิจ

สธ. เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายรัฐบาลให้ออก พ.ร.บ.มาใช้ดำเนินการเกี่ยวกับกับกัญชากัญชง สธ.ก็ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลไปขัดไม่ได้ ต้องไม่กระทบต่อเด็กเป็นประเด็นสำคัญ ส่วนภาคธุรกิจหากต้องการให้เป็น พ.ร.บ.ก็ดำเนินการไป ให้ลงตัว  

ถามว่า กัญชา จะเป็นโมเดลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ก็ขับเคลื่อนอยู่แล้ว ไม่ได้ดูตัวเลขว่ามีประโยชน์เท่าไหร่ แต่ไม่ได้คิดจะไปต่อต้าน พยายามทำให้ดีที่สุดทั้งในมุมคุ้มครองประชาชนและส่งเสริมเศรษฐกิจ 

โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ผลการออกใบอนุญาตตามประกาศสมุนไพรควบคุม (ณ วันที่ 4 มี.ค. 2567) ภาพรวมประเทศ 14,518 ฉบับ เป็นใบอนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูป 13,970 ฉบับ ใบอนุญาตส่งออก 515 ฉบับ และใบอนุญาตศึกษาวิจัย 33 ฉบับ

พ.ร.บ.กัญชากัญชงช่วยสร้างความมั่นใจ 

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามนโยบายรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ให้มีการตรากฎหมายมาดำเนินการเกี่ยวกับกัญชากัญชง ซึ่งหากมี พ.ร.บ.กัญชากัญชง จะทำให้เกิดความมั่นใจให้กับชาวบ้าน บุคลากรทางการแพทย์ว่ารัฐมีมาตรการควบคุม ส่วนภาคธุรกิจที่มีการลงทุนไปแล้วมีความมั่นใจมากขึ้นและประเมินได้ว่าจะกำหนดทิศทางขับเคลื่อนธุรกิจไปทางไหนอย่างไรตามที่กฎหมายกำหนด 

"กัญชาตอนนี้อยู่บนดินอยู่แล้ว ก็ไม่อยากให้กลับไปอยู่ใต้ดิน หากมีการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและดำเนินการได้ตามมาตรฐาน ก็จะเกิดประโยชน์ใช้ทางการแพทย์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ระบุไว้" นพ.เทวัญ กล่าว 

รัฐบาลเดินหน้า \'กัญชากัญชง\' เพื่อการแพทย์ - มูลค่าเศรษฐกิจ

ปลูกกัญชากัญชงต้องมีความรู้ 

นพ.เทวัญ กล่าวด้วยว่า ในการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีการส่งเสริมในเรื่องของความรู้เป็นสำคัญ ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวให้เกิดประโยชน์ เพราะผู้ที่จะดำเนินธุรกิจในเรื่องนี้จะต้องทำด้วยความรู้ หากขาดความรู้ ไม่มีมาตรฐานการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวที่ดีจะไปไม่รอด สุดท้ายปลูกแล้วขายไม่ได้  เพราะไม่ได้มาตรฐานผลผลิตตามที่กำหนด  

"การส่งเสริมที่ดีที่สุดเกี่ยวกับพืชสมุนไพร จะต้องให้ความรู้ว่าปลูกอย่างไรจะได้เป็นยา และสามารถขายได้ หากปลูกไม่ดีก็ขายไม่ได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าดำเนินการถูกต้อง กรมฯ จะมีทีมไปประเมินรับรองเรื่องการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่ดี" นพ.เทวัญ กล่าว  

โรงงาน-ผลิตภัณฑ์ต้องได้มาตรฐาน 

ในส่วนของกลางน้ำ โรงงานสารสกัด ก่อนที่จะมีการสกัดเกี่ยวกับกัญชากัญชง จะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยหากสกัดแล้วได้สารสกัดที่มีค่าสาร THC ต่ำกว่า 0.2 % จึงจะไม่เป็นยาเสพติด ซึ่งการดำเนินจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่กำหนดด้วย ซึ่งหากมีการลักลอบสกัดโดยไม่ได้ขออนุญาต จะเท่ากับการผลิตยาเสพติดประเภท 5 

"ภาคธุรกิจหากเป็นโรงงานสารสกัดกัญชามีส่วนหนึ่งที่ได้รับอนุญาตแล้ว เพราะฉะนั้น หากการเพาะปลูกกัญชากัญชงผ่านการรับรองว่าปลูกอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ก็เข้าสู่โรงงานสารสกัดกลางน้ำที่ได้รับอนุญาตได้ ส่วนของเส้นใยกัญชงนั้น ทั้งโลกไม่ได้มีการควบคุม สามารถนำไปใช้เชิงอุตสาหกรรมได้อยู่แล้ว ใช้ทำเสื้อ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้เป็นเรื่องปกติ" นพ.เทวัญ กล่าว 

กัญชากัญชง สมุนไพรแชมเปี้ยน 

อนึ่ง กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้มีการกำหนดสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด โดย "กัญชง" เป็นของ จ.เชียงใหม่ ส่วน "กัญชา" เป็นของ จ.สกลนคร อีกทั้งประเทศไทยได้มีการกำหนดสมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ โดยกัญชาและกัญชงรวมอยู่ได้ ซึ่งแนวทางการพัฒนาต่อยอด Herbal Champions ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 ประกอบด้วย ต้นทาง ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบและแปรรูปสมุนไพรที่มีคุณภาพ กลางทาง พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการ และปลายทาง ส่งเสริมการตลาดและการบริโภคสมุนไพร 

เมื่อนโยบายรัฐดูมีแนวโน้มความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ภาคเอกชนของไทยจะขานรับนโยบายเหล่านี้ในรูปแบบใด เพื่อกระตุ้นให้ กัญชา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย และตลาดต่างประเทศได้อย่างแท้จริง