อย.เตรียมอนุญาต ‘น้ำบริโภค’-‘น้ำแร่ธรรมชาติ’ บรรจุขวดพลาสติไร้ฉลากได้
อย. เตรียมปรับปรุงกฎ อนุญาต “น้ำบริโภค” – “น้ำแร่ธรรมชาติ” สามารถบรรจุในขวดพลาสติกแบบไร้ฉลากได้ ลดปริมาณขยะพลาสติกชนิดพีวีซี ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี -สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน
ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกมารีไซเคิลเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลดปัญหาขยะพลาสติก
“ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดปัญหาขยะฉลาก โดยอนุญาตให้น้ำบริโภคและน้ำแร่ธรรมชาติสามารถบรรจุในขวดพลาสติกแบบไร้ฉลากได้ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกชนิดพีวีซี (PVC)”ภก.เลิศชายกล่าว
ภก.เลิศชาย ย้ำกว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอันดับหนึ่ง โดยก่อนหน้าได้กำหนดมาตรฐานกระบวนการตรวจสอบประสิทธิภาพอย่างเข้มงวด สำหรับกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้อย. อนุญาตการใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ที่ผลิตจากชิ้นส่วนหรือเศษพลาสติกภายในโรงงานผลิตภาชนะบรรจุนำกลับมาหลอมขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุ หรือที่รีไซเคิลโดยการนำพลาสติกใช้แล้วแปรรูปให้กลับไปอยู่ในรูปของวัสดุตั้งต้น โดยใช้กระบวนการทางเคมีแล้วนำเม็ดพลาสติกที่ได้มาผลิตเป็นภาชนะบรรจุใหม่นั้น ไม่จำเป็นต้องประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิล
แต่การรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วด้วยกระบวนการทางกล เช่น บด ล้าง หลอม อัดเป็นเม็ด พลาสติก เพื่อนำมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุใหม่นั้น ต้องมาจากกระบวนการรีไซเคิลที่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพว่าสามารถกำจัดสารปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ขอรับการอนุญาตต้องส่งมอบรายงานผลการประเมินความปลอดภัย ซึ่งเป็นรายงานผลประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิล จากหน่วยประเมินความปลอดภัยตามที่ อย. กำหนดไว้ เพื่อใช้สำหรับการพิจารณาอนุญาตความเหมาะสมในการใช้งาน
หน่วยประเมินความปลอดภัยภาชนะบรรจุอาหาร หรือภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก เพื่อรองรับการอนุญาตของ อย. ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร) และศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี