ปี 67 เข้ารับบำบัดยาเสพติดกว่า 2แสน 62% เป็นผู้ป่วยกลุ่มเมทแอมเฟตามีน
ปี 67 เข้ารับบำบัดยาเสพติดกว่า 2แสน 62% เป็นผู้ป่วยกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ได้แก่ ยาบ้า ยาไอซ์ กระท่อม และโคเคน สธ.เดินเครื่อง 4 มาตรการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการตรวจเยี่ยมสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชนนี (สบยช.) ว่ารัฐบาลมีนโยบายด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด 4 ประเด็น ได้แก่ 1. เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตยาเสพติด จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสพเกือบ 2 ล้านคน มีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 450,000 คน มีผู้ป่วยยาเสพติดสะสมในปี 2556-2567 ประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน แต่มีผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 40 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องช่วยกันเพิ่มการเข้าถึงบริการดังกล่าว
ส่วนผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดทั้งประเทศในปีงบประมาณ 2567 มี 213,024 คน จำนวนนี้อยู่ในการดูแลของ สบยช.และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ 6 แห่งในภูมิภาค 13,033 คน เป็นผู้ป่วยกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ได้แก่ ยาบ้า ยาไอซ์ กระท่อม และโคเคน ถึง 62% ตามด้วยกลุ่ม Opiates (เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น) 20.8% และกัญชา 9.7%
2. การคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม คือ การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชทางการแพทย์ และการฟื้นฟูทางสังคม ซึ่งหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีเตียงจิตเวชยาเสพติด ประมาณ 10,705 เตียง อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 8,065 เตียง มินิธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลชุมชน 2,640 เตียง ซึ่งเราต้องผลักดันให้มีเตียงจิตเวชยาเสพติดให้เพียงพอ เพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ
3. การป้องกันไม่ให้กลับสู่วงจรยาเสพติดอีก ผ่านแนวคิด “ชุมชนล้อมรักษ์” หรือการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อป้องกันการกลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก ซึ่งมีความคืบหน้าพอสมควร ปัจจุบันมี 2,349 ชุมชน โดยพบว่าผู้ป่วยยาเสพติดรักษาต่อเนื่อง 60 % และผู้ป่วยยาเสพติดหยุดเสพต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี 26.85%
4.การให้ความรู้และสร้างความตระหนัก เพื่อส่งเสริมป้องกันการเข้าสู่วงจรยาเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งโครงการ To BE Number One เป็นส่วนสำคัญมาก ทำให้ปัจจุบันความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต และยาเสพติดของคนไทย อยู่ในระดับดีถึงดีมาก 46.35 %
ทิศทางการบำบัดรักษายาเสพติด จะต้องมีเอกภาพ และมีคุณภาพตามแนวทางสากล ซึ่งเน้นมาตรการเพื่อหยุดเสพหรือลดการใช้ยา โดยการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ครอบคลุมทั้งทางกาย จิต และสังคม นโยบายรับยาจิตเวชใกล้บ้าน ใกล้ใจ สะดวกไม่ต้องรอนาน เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
เมื่อพิจารณาข้อมูลระหว่างประเทศพบว่า สมาชิกองค์การอนามัยโลกหลายประเทศ มีการบูรณาการงานด้านสุขภาพจิต และยาเสพติดเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดเอกภาพทั้งในเชิงนโยบาย และการดำเนินงาน ดังนั้น ผมจึงมีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการงานด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเข้าด้วยกัน เพื่อให้กรมสุขภาพจิต มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างครบวงจร