แจงเหตุผลที่ 'ประกันสังคม' ต้องปรับ ‘เพดานค่าจ้าง’
ปลัดแรงงานชี้ “ปรับเพดานค่าจ้าง” เงินสมทบประกันสังคม แบบขั้นบันได 3 ขั้น เหตุต้องให้สิทธิประโยชน์เพียงพอ-มั่นคงแก่ผู้ประกันตน-ไม่จำกัดสิทธิ ย้ำคนค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทจ่ายเท่าเดิม
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับ “การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง” โดยนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2534 เงินสมทบจัดเก็บเข้ากองทุนประกันสังคมได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้คำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งถือว่าจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในกรอบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากช่วงเวลานั้นค่าแรง ค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน และไม่เคยมีการปรับปรุงจนถึงปัจจุบัน
ปรับเพดานค่าจ้าง สร้างความมั่นคงสิทธิประโยชน์
สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงานตระหนักถึงความเพียงพอและความมั่นคงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน จึงจะมีการปรับปรุงเพดานค่าจ้าง เงินสมทบประกันสังคม เป็นแบบขั้นบันได 3 ขั้น เพื่อไม่ให้กระทบนายจ้างและผู้ประกันตน จากเดิม 15,000 บาทเป็น ในปี 2569-2571 สูงสุด 17,500 บาท ,ปี 2572-2574 สูงสุด 20,000 บาท และตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป สูงสุด 23,000 บาท
นายบุญสงค์ กล่าวด้วยว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา ผู้บริหารกระทรวงแรงงานและผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง -องค์การลูกจ้าง ผู้แทนจากพรรคการเมือง นายจ้างและลูกจ้างทั่วไป และผู้แทนสื่อมวลชน
ขณะนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นเข้ามาแล้วมากกว่า 250,000 ราย และก่อนหน้านี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศแล้ว ส่วนใหญ่มีความเห็นว่ากฎหมายใช้มานานกว่า 30 ปี ควรปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน หลังจากเสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็น จะมีการรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้มีเพิ่มขึ้นในอนาคต
ปรับเพดานค่าจ้าง ไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์
ขณะที่นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้อิงกับฐานเพดานค่าจ้างให้แก่ผู้ประกันตนตลอดมา เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น กรณีคลอดบุตรในปี 2538 ได้รับสิทธิประโยชน์ 4,000 บาทต่อครั้ง ปัจจุบัน 15,000 บาทต่อครั้ง
เงินสงเคราะห์บุตร ปี 2541 ได้รับ 150 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คนสูงสุด 2 คน ปัจจุบัน 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน สูงสุด 3 คน และกรณีเสียชีวิต เงินค่าทำศพ ในปี 2538 จ่ายเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ปัจจุบัน 50,000 บาท เป็นต้น
ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ทั้งเงินทดแทนการขาดรายได้ ,กรณีเจ็บป่วย , กรณีทุพพลภาพ, กรณีว่างงาน, เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร, เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จ บำนาญชราภาพนั้น เมื่อไม่มีการปรับฐานเพดานค่าจ้าง ทำให้ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ไว้ และไม่สอดคล้องกับค่าจ้างจริงในปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงฐานเพดานค่าจ้างให้เหมาะสม ให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
ปรับเพดานค่าจ้าง สิทธิประโยชน์เพียงพอ
ด้าน นายณภูมิ สุวรรณภูมิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ประกันสังคมมีแผนปรับเงินค่าจ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากที่มีการคิดฐานค่าจ้างในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 15,000 บาทตั้งแต่ปี 2534 โดยเมื่อมีการปรับเพดานค่าจ้างแล้ว สิทธิประโยชน์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
"การที่ต้องขยับปรับเพดานค่าจ้างสูงสุดที่ 23,000 บาท เนื่องจากเป็นไปตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่า เพดานค่าจ้างควรสูงกว่าค่าจ้างเฉลี่ยประมาณ 1.25 เท่า เพื่อให้ดูแลสิทธิประโยชน์ได้เพียงพอหรือพอใช้"นายณภูมิกล่าว
ส่วนคนที่เงินค่าจ้างไม่ถึง 15,000 บาทก็จะเก็บเงินสมทบประกันสังคม 5 % เท่าเดิม แต่คนที่เงินเดือนเกิน 17,500 บาทจากเดิมที่กำหนดจ่าย 5 %ของฐานเพดาน 15,000 บาทเช่นกันและสิทธิประโยชน์ต่างๆก็เหมือนกัน แต่ในปี 2569 นั้น สิทธิประโยชน์ก็จะขึ้นไปคำนวณที่เงินเดือนสูงสุด 17,500 บาท และปรับเพิ่มในปี 2570 และ 2573 ตามเพดานค่าจ้างที่กำหนดไว้
ปรับเพดานค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพิ่ม
ในปี 2567 เพดานค่าจ้าง สูงสุด 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบประกันสังคมสูงสุด 750 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ 6 กรณี คือ
1.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 7,500 บาทต่อเดือน (250 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 45,000 บาท)
2.เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 22,500 บาทต่อครั้ง
3.เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 7,500 บาทต่อเดือน
4.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 90,000 บาท
5.เงินทดแทนกรณีว่างงาน 7,500 บาทต่อเดือน
6.เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 5,250 บาทต่อเดือน
แต่เมื่อมีการปรับเพดานค่าจ้างเพิ่มขึ้น สิทธิประโยชน์ 6 กรณีจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยปี 2569-2571 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบประกันสังคมสูงสุด 875 บาทต่อเดือน
1. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 8,750 บาทต่อเดือน (291 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 52,500 บาท)
2. เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 26,250 บาทต่อครั้ง
3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 8,750 บาทต่อเดือน
4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 105,000 บาท
5. เงินทดแทนกรณีว่างงาน 8,750 บาทต่อเดือน
6. เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,500 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 6,125 บาทต่อเดือน
ปี 2572-2574 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน
1. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 10,000 บาทต่อเดือน (333 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 60,000 บาท)
2. เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 30,000 บาทต่อครั้ง
3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 10,000 บาทต่อเดือน
4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 120,000 บาท
5. เงินทดแทนกรณีว่างงาน 10,000 บาทต่อเดือน
6. เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 7,000 บาทต่อเดือน
ปี 2575 เป็นต้นไป ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน
1. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 11,500 บาทต่อเดือน (383 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 69,000 บาท)
2. เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 34,500 บาทต่อครั้ง
3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 11,500 บาทต่อเดือน
4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 138,000 บาท
5. เงินทดแทนกรณีว่างงาน 11,500 บาทต่อเดือน
6. เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,600 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 8,050 บาทต่อเดือน
ปรับเพดาค่าจ้าง ช่องทางแสดงความคิดเห็น
อนึ่ง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดให้ผู้ประกันตนร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับ(ร่าง)กฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงเพดานค่าจ้างและเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน