2 สิ่งเปลี่ยนกระทบคุม 'ผลิตภัณฑ์สุขภาพ' อย.สกัดผิดกม.เข้าอีมาร์เก็ตเพลส
แนวโน้มมูลค่าผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ลด อย.เผยพฤติกรรมการซื้อ-รูปแบบการโฆษณาเปลี่ยน ใช้อินฟลูเอนเซอร์แอบแฝงการขายสินค้า รุกใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ยื่นขออนุญาต -แชร์ข้อมูลให้อีคอมเมิร์ซ สกัดหลุดเข้าอีมาร์เก็ตเพลส พร้อมเปิดช่อง Fast Track ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค 2567 ที่สำนักงานคณะอาหารและยา(อย.) ภายในงาน 5 ทศวรรษ อย. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์สุขภาพต่อจีดีพี(GDP)ของประเทศไทย • ปี 2561 มูลค่า 1,296,671 ล้านบาท
• ปี 2562 มูลค่า 1,308,082 ล้านบาท
• ปี 2563 มูลค่า 1,337,140 ล้านบาท
• ปี 2564 มูลค่า 1,362,142 ล้านบาท
• ปี 2565 มูลค่า 1,472,321 ล้านบาท
• และปี 2566 มูลค่า 1,374,890 ล้านบาท
แม้แต่ละปีอาจจะดูยังห่างจากจีดีพีประเทศ แต่ทุกผลิตภัณฑ์ที่อย.ดูแลมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ลดลง
ขณะที่จำนวนรายการที่ขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพก็ไม่ลดลง โดยปริมาณการพิจารณาของอย.ในปี 2565 อยู่ที่ 311,295 คำขอ และปี 2566 อยู่ที่ 302,967 คำขอ ส่วนผลการพิจารณาอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปี 2565 อยู่ที่ 9,832 รายการ และปี 2566 อยู่ที่ 8,595 รายการ
พฤติกรรมการซื้อ-รูปแบบโฆษณาเปลี่ยน
เทคโนโลยีในการสื่อสารก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีปัญหาสุขภาพจะสอบถามจากแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ แต่ปัจจุบันมีการสอบถามจากGoogle หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆที่ส่งต่อๆกัน มีทั้งจริงและไม่จริง แต่ส่วนใหญ่ 95 % เป็นข้อมูลที่ไม่จริง สะท้อนว่า การสื่อสารเปลี่ยนไปไม่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญเหมือนสมัยก่อน โดยเทรนด์โฆษณามาแรงของปี 2567 คือ รูปแบบการโฆษณาอาศัยอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อการโปรโมทหรือรีวิวสินค้าของแบรนด์ และเพิ่มช่อมทางการรับรู้ทางอ้อม ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่แอบแฝงการขายสินค้า ,นำผลิตภัณฑ์ของสปอนเซอร์มารีวิว และรูปแบบการขายสินค้าที่ต้องปิดการขายให้ได้ไวที่สุด
เช่นเดียวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้า ที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ แม้อย.มีกฎหมายที่กำหนดไม่ให้มีการซื้อขายออนไลน์ แต่ไม่เป็นไปตามที่อยากให้เป็น โดยในปี 2567 พบว่า 44.6 % ซื้อสินค้า/บริการบนช่องทางออนไลน์ ความถี่ในการซื้ออย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ 40.37 % ,5-7 วันต่อสัปดาห์ 28.91 % และอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน 30.72 % เพราะฉะนั้น อย.จะต้องปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เท่าทันกับเรื่องเหล่านี้
ขออนุญาตโฆษณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
อย.ได้มีการปรับเพื่อรองรับกับปัญหาต่างๆ ซึ่งหลายปัญหาเกิดขึ้นใหม่ อย่างเช่น ปัจจุบันอย.มีระบบ e-submission ให้ยื่นขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ประกอบการสะดวกและสามารถติดตามสถานะการยื่นได้ ขณะเดียวกันอย.สามาถตรวจจับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยได้รวดเร็วด้วย
นอกจากนี้ กำลังจะดำเนินการให้ยื่นขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกให้ผู้ที่ทำถูกต้องจะได้รับการอนุญาตรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญ ข้อมูลโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าสู่ระบบนั้น อย.จะสามารถตรวจจับและวิเคราะห์ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว
“ที่สำคัญ มีการนำข้อมูลการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพและการอนุญาตโฆษณา เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อีมาร์เก็ตเพลส เพื่อให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ขึ้นทะเบียนอย. และโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุญาตจากอย.แล้ว ช่วยในการดักจับผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้รับอนุญาตได้รวดเร็ว ก่อนนำเข้าสู่ตลาดอีมาร์เก็ต เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน”นพ.สุรโชคกล่าว
Fast Track ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ
นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า การตอบสนองต่อนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในเรื่องการป้องกันและลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคNCDs อย่างเรื่องยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคNCDsต่างๆพิจารณาขึ้นทะเบียนโดยให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ก็ดำเนินการขั้นตอนต่างๆให้เร็วขึ้น
ส่วนอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดหรือลดโรคNCDs โดยจะเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ อย.มีการเชื่อมโยงกับสถาบันโภชนาการและสถาบันอาหารต่างๆในการที่จะแนะนำประชาชนอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลโภชนาการ และมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพที่ลดปริมาณหวาน มัน เค็ม
“แนวโน้มการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น และอย.มีช่องทางพิเศษอำนวยความสะดวก(Fast Track)ในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ให้สามารถทำได้เร็วขึ้น เพื่อให้ของดีเข้าสู่ตลาดได้เร็ว”นพ.สุรโชคกล่าว